Hawker Center คืออะไร แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยในเมืองได้อย่างไร

Hawker center สิงคโปร์ สตรีทฟู้ด หาบเร่แผงลอย
(Photo by Roslan RAHMAN / AFP)

Hawker Center คืออะไร แก้ปัญหาหาบเร่แผงลอยในเมืองได้อย่างไร ย้อนดูสิงคโปร์ผู้เป็นต้นแบบและกรุงเทพมหานครที่พยายามเดินตาม

สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานครได้เดินหน้าจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าตลอดจนหาบเร่แผงลอย ยุบรวมจุดและย้ายผู้ค้าเข้าตลาดเอกชนควบคู่กับ Hawker Center

หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า Hawker Centers คืออะไร ทำไม กทม.ต้องสร้าง Hawker Center ตลอดจนสิ่งนี้สามารถแก้ปัญหาและจัดระเบียบร้านค้ารวมถึงหาบเร่แผงลอยได้จริงหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนย้อนอดีตของประเทศสิงคโปร์กลับไปในยุค 50-60’s เจ้าของโมเดล Hawker Center ต้นแบบการนำร้านแผงลอยเข้าสู่อาคารที่มีการจัดการด้านสุขอนามัยอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นศูนย์อาหารของชุมชน จนได้รับรางวัลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากยูเนสโก

Hawker Center แก้ปัญหาเมือง คำนึงปัญหาคน

Hawker Center เป็นศูนย์อาหารในประเทศสิงคโปร์ ที่คนในท้องถิ่นเรียกกันว่า “ศูนย์หาบเร่” ซึ่งเป็นที่นิยมของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว เนื่องจากความอร่อยและราคาอาหารที่เข้าถึงได้

สิงคโปร์เป็นเมืองที่สร้างขึ้นจากคลื่นอพยพของชาวอินเดีย จีน อินโดนีเซีย รวมทั้งชาติอื่น ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามายังเมืองที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของภูมิภาคนี้ โดยช่วงทศวรรษที่ 1950 มีพ่อค้าแม่ค้าตามท้องถนนหรือหาบเร่แผงลอยมากถึง 22,000 ราย

รัฐบาลเริ่มกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขอนามัยที่อาจเกิดขึ้นตามมา ท่อระบายน้ำล้วนเป็นมลพิษ ร้านหาบเร่ใช้กะละมังล้างถ้วยชามที่สกปรก จนสามารถเห็นหนู แมลงสาบ และสัตว์อื่น ๆ วิ่งไปมาเป็นปกติ

Hawker Center ในสิงคโปร์จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยเหตุผลด้านสุขอนามัยและการควบคุมมลพิษทางน้ำเป็นสำคัญ เนื่องจากร้านหาบเร่นั้นสร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำค่อนข้างมาก ดังนั้น รัฐจึงตัดสินใจย้ายแผงขายอาหารข้างถนนมาไว้ในศูนย์ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ โดยจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานมารองรับ เช่น น้ำ ไฟฟ้า ตู้เย็น ไฟส่องสว่าง ตลอดจนปล่องควัน และท่อระบายน้ำ

ขั้นตอนแรก รัฐบาลต้องเริ่มลงทะเบียนหาบเร่ข้างถนนทั้งหมด และหาสถานที่ใกล้เคียง เพื่อย้ายร้านเหล่านั้นเข้าไป นอกจากนี้ ผู้ช่วยและผู้สัมผัสอาหารทุกคนจะต้องผ่านหลักสูตรสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน และเมื่อจบหลักสูตรจะต้องผ่านการทดสอบ เพื่อเป็นผู้ดูแลอาหารที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

การทดสอบจะครอบคลุมไปถึงเรื่องสามัญสำนึก เช่น การล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร และจะมีการให้คะแนนความสะอาดของร้านค้า หากได้คะแนนไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดมีสิทธิ์ถูกระงับใบอนุญาต

ในที่สุด Hawker Center ก็กลายเป็นศูนย์หาบเร่ หรือศูนย์อาหารของชุมชน เป็นที่พบปะสังสรรค์ของครอบครัวและเพื่อนฝูง นับเป็นอีกความสำเร็จในการจัดการเมืองโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตของผู้คน ที่น่าภาคภูมิใจของชาวสิงค์โปร์

Hawker center
ภาพจาก unesco

จากปัญหาสู่มรดกทางวัฒนธรรม

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้มอบรางวัล มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage of Humanity) ให้กับวัฒนธรรมหาบเร่ การรับประทานอาหารของชุมชน และแนวทางปฏิบัติด้านอาหารในบริบทเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั่วสิงคโปร์

ยูเนสโกอธิบายว่า นอกจาก Hawker Center จะเป็นห้องรับประทานอาหารของชุมชนแล้ว ยังเป็นที่แบ่งปันประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น การเล่นหมากรุก การตีกลอง และศิลปะ โดยปรับเปลี่ยนอาหารให้เข้ากับรสนิยมและบริบทของท้องถิ่น

ปัจจุบันศูนย์หาบเร่ทั่วสิงคโปร์ยังคงตอบสนองความต้องการของชุมชนที่หลากหลาย ผู้ประกอบการบางรายเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ในทศวรรษที่ 1960 จนเชี่ยวชาญในอาหารนั้น ๆ และถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น โดยมีองค์กรทางชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษาเป็นบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมการหาบเร่ผ่านการฝึกอบรม กิจกรรม และโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านการจัดการ

ในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางสังคมที่รวบรวมผู้คนจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย ศูนย์หาบเร่จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ของชุมชนและเสริมสร้างโครงสร้างทางสังคมของสิงคโปร์

สตรีตฟู้ด
ภาพจาก pixabay

กรุงเทพฯ ที่พยายามเดินตาม

หากพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับสิงค์โปรในอดีตดูคล้ายกับปัญหาหาบเร่แผงลอยของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน และ กทม.ก็กำลังพยายามเดินตามรอยเท้าของสิงคโปร์ ด้วยการจัดระเบียบร้านค้าตลอดจนหาบเร่แผงลอยให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคืนพื้นที่ว่างให้ทางเท้า ความสะอาด และแก้ไขปัญหาการจราจร

อย่างไรก็ตาม สิงค์โปรและกรุงเทพฯ ไม่ได้เหมือนกัน ทั้งเรื่องพื้นที่ ลักษณะชุมชนที่อยู่อาศัย ประชากร ไปจนถึงความกังวลว่าการทำศูนย์หาบเร่โดยมีโมเดลต้นแบบเป็น Hawker Center อาจลดทอนจุดเด่นอันน่าดึงดูดที่สุดอย่างหนึ่งของเมืองหลวงไทย หากย้ายหาบเร่ซึ่งรวมถึงสตรีตฟู้ดเข้ามาอยู่ในอาคาร

ปัจจุบัน กทม.ได้จัดทำ Hawker Centers ทั้งหมด 26 เขต จำนวน 35 จุด ซึ่งรองรับผู้ค้าได้ 2,559 ราย ซึ่งยังดูห่างไกลกับโมเดลต้นแบบมากนัก และแน่นอนเรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา สิงคโปร์ก็ไม่ได้ทำสำเร็จในช่วงเวลาอันสั้น ดังนั้น อนาคตของการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป