เปิดที่มา ประเพณีวันไหลสงกรานต์ มีความสำคัญอย่างไร จัดที่ไหนบ้าง

งานสงกรานต์จัดยาว วันไหล
ภาพจากมติชนสุดสัปดาห์

ที่มา “วันไหล” หรือ “ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล” วันทำบุญขึ้นปีใหม่ไทยหลังสงกรานต์ ของภาคตะวันออกและบางจังหวัดในภาคกลาง

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ที่ตามประเพณีมีทั้งหมด 3 วัน เรามักได้ยินการพูดถึง “วันไหล” ในช่วงนี้เช่นกัน โดยประเพณีดังกล่าว เดิมมีชื่อเรียกว่า ประเพณีก่อพระทรายน้ำไหล วันทำบุญขึ้นปีใหม่ที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาในภาคตะวันออก และเขตภาคกลางบางจังหวัด ซึ่งมีกำหนดหลังวันสงกรานต์ประมาณ 5-6 วัน

ประเพณีดังกล่าวชาวบ้านจะนิยมก่อพระเจดีย์ทรายถวายเป็นพุทธบูชา วิธีการคือขนทรายมากองสูงแล้วรดน้ำนำไม้ปั้นกลึงเป็นรูปทรงเจดีย์ ปักธงทิวต่าง ๆ พร้อมตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง องค์ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แล้วแต่กำลัง บ้างก็ทำเป็นกรวยเล็ก ๆ เพื่อก่อให้ครบ 84,000 กอง เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์

เมื่อก่อเสร็จพระเจดีย์ทรายแต่ละกองก็จะมีธงทิว พร้อมด้วยผ้าป่า ตลอดจนสมณบริขารถวายพระ พระสงฆ์ก็จะพิจารณาบังสุกุล ทำบุญเลี้ยงพระ ตามด้วยเลี้ยงคนที่ไปร่วมงานเป็นการสนุกสนานในเทศกาลตรุษ

หลังเสร็จพิธีทางวัดก็ได้ทรายไว้สำหรับสร้างเสนาสนะ ปูชนียสถานในวัด หรือถมบริเวณวัดต่อไป ส่วนพระสงฆ์ก็ได้เครื่องปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ

ช่วงปลายฤดูร้อนจะย่างเข้าฤดูฝน วัดใดที่ใกล้แหล่งน้ำ ทั้งห้วย หนอง คลอง บึง จะมีการจัดประเพณีก่อพระทรายน้ำไหลขึ้น โดยการขุดลอกทรายที่ฝนซัดไหลมาลงรวมขังอยู่ตามแหล่งน้ำ เป็นการขนทรายเข้าวัด และถือเป็นการพัฒนาท้องถิ่นด้วยในคราวเดียวกัน

การรวมแรงคนในพื้นที่เพื่อขุดลอกแหล่งน้ำให้สะอาด เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำฝนจะได้ไหลสะดวก คู คลอง หนอง บึง ไม่ตื้นเขิน หมู่บ้านสะอาด น้ำก็ไหลได้ตามปกติ นี่คือประโยชน์ที่ได้จากการก่อพระทรายน้ำไหลในเทศกาล

ต่อมาเมื่อสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ความเจริญทางวิทยาการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น การขนทราย โกยทราย หาบทราย เข้าวัดคนละหาบสองหาบก็เปลี่ยนมาเป็นซื้อทรายเป็นคันรถขนเข้าวัดแทน และหลายวัดก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทราย

หลายวัดไม่มีเจดีย์เป็นพุทธบูชา การก่อพระทรายเอาบุญก็เปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลา ก่อพระทรายน้ำไหล จึงเรียกสั้นลงเหลือแค่ “วันไหล” หรือ “ประเพณีวันไหล” อย่างที่ได้ยินในปัจจุบัน

การจัดงานวันไหลปี 2566

1.วันไหลชลบุรี

ที่จังหวัดชลบุรีจัดงานวันไหลตั้งแต่วันที่ 9-23 เม.ย. 2566 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • วันที่ 9 เม.ย. วันไหลบ่อวิน (สะพานสี่)
  • วันที่ 13 เม.ย. ประเพณีสงกรานต์เมืองชลบุรี
  • วันที่ 14 เม.ย. วันไหลพนัสนิคม
  • วันที่ 15 เม.ย. วันไหลเกาะโพธิ์
  • วันที่ 16-17 เม.ย. วันไหลบางแสน
  • วันที่ 18 เม.ย. วันไหลนาเกลือ/วันไหลบางพระ/วันไหลเกาะสีชัง
  • วันที่ 19 เม.ย. วันไหลพัทยา
  • วันที่ 20 เม.ย. วันไหลบางเสร่
  • วันที่ 23 เม.ย. วันไหลบ้านบึง

สำหรับวันไหลบางแสน จะมีการปิดทองสรงน้ำพระพุทธรูป ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์จำนวน 37 รูป ในวันที่ 17 เม.ย. เวลา 07.00 น. แล้วรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ เวลา 08.30 น.

มีการประกวดก่อพระทรายวันไหลบางแสน แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน สะบ้า ช่วงรํา วิ่งเปี้ยว ชักเย่อ มวยทะเล วิ่งผลัดข้าวหลาม การแข่งขันแกะหอยนางรม วิ่งสามขา การจําหน่ายอาหาร และสินค้าพื้นเมือง การแสดงวัฒนธรรมบนเวที และชมนิทรรศการทางวัฒนธรรม และการแสดงดนตรีของเหล่าศิลปินชื่อดังมากมาย

2.วันไหลระยอง

หลังจากหมดสงกรานต์แล้ว ในวันที่ 16 เม.ย. จะมีจัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านเพ วันที่ 17 เม.ย. งานประกอบพิธีทางศาสนาที่บ้านฉาง วันที่ 18 เม.ย. จัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่นิคมพัฒนา วันที่ 19 เม.ย. จัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ห้วยโป่ง วันที่ 21 เม.ย. จัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่มาบตาพุด และบ้านค่าย (วัดไผ่ล้อม) และวันที่ 29 เม.ย. จัดงานประกอบพิธีทางศาสนาที่ปากน้ำระยอง (วัดปากน้ำ)

3.วันไหลพระประแดง

วันไหลพระประแดงจัดระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลา 20.00-24.00 น. ภายในงานมีการละเล่นสะบ้ารามัญ การแสดงทะแยมอญ การจัดขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนแห่รถบุปผาชาติ การประกวดนางสงกรานต์และหนุ่มลอยชาย การแสดงแสงสี ณ อุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแผลงไฟฟ้า การแสดงดนตรีไทย จากศูนย์เยาวชนเทศบาลเมืองพระประแดง และชมการกวนกาละแมของดีเมืองพระประแดง