เบื้องหลังความสำเร็จ StarvingTime ตัวตึงเพจรีวิวอาหาร

เกษมศักดิ์ ศิริรักษ์
เกษมศักดิ์ ศิริรักษ์
ผู้เขียน : ปนัดดา ฤทธิมัต

นับถอยหลังอีเวนต์ที่จะพาทุกคนไปฝึกทักษะอาชีพอาหารที่ดีที่สุดในไทยกับ “Upskill Thailand 2023” โดย “เส้นทางเศรษฐี” ผู้นำสื่อที่สนับสนุนการสร้างอาชีพเอสเอ็มอี, “ศิลปวัฒนธรรม” ผู้นำสื่อด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม และ “มติชนอคาเดมี” ผู้นำด้านการฝึกอบรมสร้างอาชีพ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พฤษภาคม 2566 ที่มติชนอคาเดมี

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ คุณไมเคิล เกษมศักดิ์ ศิริรักษ์ ผู้ก่อตั้งเพจ “StarvingTime เรื่องกินเรื่องใหญ่” หนึ่งในแขกรับเชิญที่จะมาร่วมถ่ายทอดเทคนิคความสำเร็จในงานนี้

จากไดอารี่สู่เพจรีวิว

คุณไมเคิลเผยว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบกินอาหารอยู่แล้ว จึงถ่ายรูปบันทึกเรื่องราวและจัดเก็บไว้เสมือนไดอารี่ในอินสตาแกรมตั้งแต่ปี 2556 เมื่อผ่านไป 1 ปี มีผู้ติดตามราว 2-3 แสนคน ซึ่งถือว่าเยอะมากในขณะนั้น ต่อมาคุณไมเคิลได้มีโอกาสพบกับ คุณปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้แนะนำให้ทำคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก คุณไมเคิลจึงได้ลองทำตามคำแนะนำของคุณปานบัว โดย 3 เดือนแรก มีผู้ติดตามในเฟซบุ๊กมากถึง 1 ล้านคน

สำหรับทิศทางของเพจในตอนแรก คุณไมเคิลไม่ได้คิดไปถึงขั้นการทำธุรกิจ เพียงต้องการใช้โซเชียลมีเดียเป็นไดอารี่บันทึกร้านอร่อยตามที่ตัวเองชื่นชอบเท่านั้น และใครมาจ้างเราก็ไปรีวิว แต่หลังจากที่รับเงินจากร้านอาหารได้ประมาณ 6 เดือน-1 ปี ก็เริ่มรู้ว่าการรับเงินจากร้านอาหารไม่เหมาะกับการทำเป็นธุรกิจ

อีกทั้งรายได้ที่ได้ไม่ตอบโจทย์กับสิ่งที่เรากำลังจะไปต่อ กล่าวคือ ถ้าเรารับรายได้จากร้านอาหาร เวลาไปรีวิวเล่าคอนเทนต์ต่าง ๆ ก็จะต้องเป็นเชิงบวก บางครั้งไม่สามารถพูดความจริงได้ จากนั้นคุณไมเคิลจึงมาคิดบิสซิเนสโมเดล และได้พบว่าจริง ๆ แล้วเราสามารถหาเงินจากรายใหญ่มาช่วยรายเล็กจากการทำคอนเทนต์ได้

“เราอยากจะเล่าคอนเทนต์ของรายเล็กคือร้านอาหารในแบบของเรา ใครดีเราก็บอกดี ใครไม่ดีเราไม่ได้บอกว่าไม่ดี แต่เราแค่ไม่ทำคอนเทนต์ร้านเขา ส่วนรายใหญ่ก็คือสปอนเซอร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม บัตรเครดิต รวมถึงวัตถุดิบเครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร ทั้งนี้ สปอนเซอร์ไม่ได้กำหนดร้านอาหาร เขาให้อิสระเราเลือกร้านในการทำคอนเทนต์”

บทเรียนนำไปสู่จุดเปลี่ยน

บทเรียนหนึ่งอย่างที่เราได้คือ ก่อนที่จะทำธุรกิจเราเป็นคนค่อนข้างสุดโต่ง คือถ้าเราชอบอะไรเราจะพิมพ์อวยสุด ๆ เลย ในขณะเดียวกันถ้าเราไม่ชอบอะไรเราก็จะคอมเมนต์ตรง ๆ ซึ่งคนก็จะติดตามเยอะมาก แต่ทำไปประมาณ 1 ปี เราเจอปัญหา

คือการที่เราโพสต์อะไรบางอย่างลงในโซเชียลมีเดียแล้วพูดความรู้สึกจริง ๆ ของเรา แต่เป็นเชิงลบกับทางร้าน ส่งผลกระทบถึงขั้นที่ทำให้ไม่มีคนไปกินอาหารที่ร้านนั้นเลย หลังจากนั้นเราก็เลยเลือกที่จะไม่ลงคอนเทนต์ร้านที่ไม่ถูกปาก หรือยังไม่ดีสำหรับเรา

“เราอยากจะเป็นตัวกลางในการแชร์ประสบการณ์ให้กับคนอื่น ๆ แต่หลังจากนั้นเราก็ได้เรียนรู้ว่าเราอาจจะไม่ต้องแคร์สิ่งที่รู้สึกว่าไม่ดีก็ได้ เราให้ผู้ติดตามตามเราเฉพาะร้านที่ดี หลายคนอาจจะคิดว่าเขาก็จะได้รู้ จะได้เป็นอุทาหรณ์ให้กับเขา เราก็ต้องบอกว่าเราต้องทำคอนเทนต์ในรูปแบบที่ดีให้คนรู้สึกว่าทุกวันต้องใช้ StarvingTime ในการไปหาอะไรกิน

ถ้าเราบอกเล่าประสบการณ์ในด้านลบแม้จะเป็นเรื่องจริงที่เจอมาก็ตาม แต่การที่เรามีคนติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะกระทบกับร้านอาหารนั้น ๆ ได้ ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ดีจริง ๆ เราก็อาจจะบอกกับทางร้านโดยตรงแทนที่จะทำคอนเทนต์ลงในโซเชียลมีเดีย”

การเลือกร้านอาหาร

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เราเพิ่งทำเพจในช่วงแรก ต้องบอกว่ายากมาก เพราะการใช้อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นวิธีหลักของเราคือการลงพื้นที่ไปถามคนแถวนั้นว่า ปกติเขากินอะไรกัน ร้านไหนอร่อย ซึ่งในช่วงแรกเราใช้การลงพื้นที่ 60% และหาร้านอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ 40%

ขณะที่ปัจจุบันใช้ออนไลน์ 80% ลงพื้นที่ 20% โดยสาเหตุที่ยังใช้การลงพื้นที่สำรวจอยู่เนื่องจากมีบางร้านที่ยังเข้าไม่ถึงออนไลน์ หรือเราดูในออนไลน์แล้วไม่ได้รู้สึกว่าน่าอร่อย แต่คนในพื้นที่เขากินจริง ๆ

รีวิวไม่ตรงปก

บ่อยครั้งที่เราตามไปกินอาหารร้านดังที่โลกโซเชียลแชร์รีวิวอย่างถล่มทลาย แต่สุดท้ายเมื่อไปจริง ๆ กลับไม่ตรงปก ซึ่งคุณไมเคิลเองก็เป็นผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับหลาย ๆ คน

“ทุกวันนี้เจอประมาณ 20-25% สิ่งที่เราทำมี 2 เรื่อง คือ 1.เราไม่ลงคอนเทนต์ของเขาเลย เพราะยังไงเราก็เป็นคนจ่ายเงินเองอยู่แล้ว และเขาก็ไม่รู้ว่าเราจะไปถ่ายอะไร เวลาเรากินก็จะเหมือนคนทั่วไป และ 2.เราต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราพลาดตรงไหนหรือเปล่า”

StarvingTime ไม่เคยเชื่อว่าแค่หยิบจากกระทะแล้วจะอร่อยทุกเมนู ดังนั้นอาจจะเป็นความผิดพลาดของเมนูที่เราสั่งหรือเปล่า สิ่งที่เราชอบกินอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เขาทำอร่อยก็ได้

ในการไปรีวิวร้านอาหารของ StarvingTime เราจะสั่งอาหาร 5-6 เมนู/ร้าน ซึ่งก็มีโอกาสที่ 5-6 เมนูที่เรากินไปแล้วไม่ถูกปากเลย ทุกครั้งที่เราไปรีวิวแล้วไม่เจอเมนูที่อร่อย ลำดับแรกคือเราจะไม่ลงคอนเทนต์ ลำดับถัดมาเราจะกลับมาทำการบ้านก่อนว่าเราควรจะกลับไปซ้ำร้านนั้นไหม ถ้าเราควรกลับไปซ้ำเราก็จะทำการบ้านให้หนักขึ้นในเมนูอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 5-6 เมนูที่เราสั่งในครั้งแรก

เทรนด์เพจรีวิวอาหาร

คิดว่าคนทำสมัยใหม่ง่ายขึ้นเยอะ ยอดไลก์กับยอดผู้ติดตามไม่ได้สำคัญ แต่สิ่งสำคัญในอนาคตสำหรับคนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาในวงการนี้คือ ความแตกต่างหรือจุดยืนที่ชัดเจน เรายังคิดเลยว่าถ้าเรามีทีมงานมากขึ้นแบบอันลิมิต อาจจะเปิดเพจอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 50-100 เพจ เพราะในตลาดยังมีช่องทางให้เราทำได้อีกมาก

ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่าเราเป็นเพจรีวิวอาหาร fine dining ก็สามารถทำ fine dining ทั้งเพจได้เลย หรือเราบอกว่าจะทำเพจกินเที่ยวสำหรับรถ EV อย่างเดียว ร้านไหนมีที่ชาร์จ EV บ้าง หรือรีวิวเฉพาะร้านสตรีตฟู้ดที่ทำเหมือน fine dining จ่ายหลักร้อยได้เมนูหลักล้าน

เรามองว่าในอนาคตจะมีเพจที่เฉพาะเจาะจงอีกเยอะที่น่าทำ ก็เป็นโอกาสของคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าอยากจะทำแค่รีวิวอาหาร คิดว่ายังยากในตอนนี้ แต่ถ้ามีกิมมิกหรือมีรูปแบบในการนำเสนอที่ชัดเจน คิดว่ามีช่องทางและโอกาสอีกมหาศาล

คำแนะนำจากเพจดัง

ในฐานะเพจรีวิวอาหารที่มีอายุกว่า 10 ปี และประสบความสำเร็จอย่างมาก มีผู้ติดตามมากถึง 6 ล้านคน ในปัจจุบัน ทั้งทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ TikTok คุณไมเคิลจึงฝากคำแนะนำถึงคนที่ทำเพจหรือคอนเทนต์รีวิวอาหาร โดยสิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือภาพจำเราจะทำคอนเทนต์ประเภทไหน หรือเราจะสร้างภาพจำให้กับคนอื่นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยมาดูเรื่องโปรดักชั่นและการเขียน

“จริง ๆ แค่ภาพนิ่งก็เพียงพอแล้ว อย่าง TikTok แค่เราลงภาพนิ่งเฉย ๆ แล้วใส่เพลงประกอบพร้อมกับเขียนแคปชั่นบนรูป ก็สามารถมียอดรับชมถึง 1 ล้านวิวได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะแนะนำก็คือให้หาภาพจำที่คิดว่าแตกต่าง และตัวเองมีแพสชั่นที่สามารถทำได้ทุกวัน อย่าทำภาพจำที่ยากจนเกินไป เพราะกว่าจะได้ทำคอนเทนต์ก็ไม่ได้เริ่มสักที”

นอกจากนี้ คุณไมเคิลยังฝากข้อควรระวังอีก 2 ข้อ คือ 1.คนจะมองเราเป็นคนทำคอนเทนต์ ไม่ได้มองว่าเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ถ้าจะทำเพจจริงจัง จึงอยากให้ศึกษาข้อมูล ประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมการกินให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะแม้ว่าเราจะรู้สึกและเจอประสบการณ์แบบนั้นมาจริง ๆ แต่ถ้าหากว่าเราไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้น อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบกับเพจได้


และ 2.แนะนำให้ทำเฉพาะ positive ร้านอาหารจะได้รู้สึกว่าถ้าเขาทำอาหารที่ดี blogger หรือ influencer ก็อยากจะเข้าไปช่วยสนับสนุน จนนำไปสู่การแข่งขันทำอาหารที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภคในอนาคต