วาดดาว-ชุมาพร กับภารกิจดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

คุยกับ วาดดาว-ชุมาพร ประธานและผู้ก่อตั้ง “นฤมิตไพรด์” ถึงภารกิจผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQ+ จากทั่วโลก หวังกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ

จากที่บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด แถลงข่าวจัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023” (Bangkok Pride 2023) ในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย และพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQ+ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศเป้าหมายในการเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride 2028

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์เอ็กซ์คลูซีฟ วาดดาว-ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ถึงภารกิจผลักดันไทยเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

การขับเคลื่อนความเท่าเทียม

สำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยบทสนทนาถึงจุดเริ่มต้นการทำงานด้านความหลากหลาย โดยวาดดาว เผยว่า เราเป็นคนที่มีวิถีทางเพศเป็นหญิงรักหญิง แล้วชีวิตที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่การเปิดตัวในสังคมค่อนข้างที่จะถูกปิดกั้น ประกอบกับมีโอกาสทำงานในประเด็นสิทธิมนุษยชน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องกลไกขององค์การสหประชาชาติหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือกฎบัตรที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ประเด็น LGBTQ+ ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก เราจึงนำการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนมาผนวกกับประเด็น LGBTQ+ เพื่อให้สังคมเห็นว่าพื้นที่ของความหลากหลายทางเพศควรได้รับการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น

โดยกิจกรรมแรกที่เราทำคือเชิญชวนคู่รักเพศเดียวกันไปยื่นจดทะเบียนที่เขตบางรักเมื่อปี 2556 จากนั้นในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันยุติการต่อต้านความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราก็ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการรณรงค์สาธารณะ จัดเวิร์กช็อป สัมมนา เพื่อสะท้อนให้สังคมเห็นว่า รัฐธรรมนูญต้องคุ้มครองเรา และพื้นที่สาธารณะต้องเปิดกว้างและเป็นมิตรกับ LGBTQ+

รวมถึงด้านกฎหมายนำเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านรัฐสภา และองค์การสหประชาชาติ นำเสนอรายงานเรื่อง LGBTQ+ ซึ่งเป็นกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review : UPR) ฉบับเเรกที่เป็นเนื้อหา LGBTQ+ ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สังคมไทยกับการเปิดรับ LGBTQ+

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ เราไปด้วยความหวาดกลัว กลัวว่าคนจะไม่ต้อนรับ กลัวตำรวจจะมาไล่ แตกต่างกับปัจจุบันที่พอเราไปที่ไหนก็มีแต่ความภาคภูมิใจ รู้สึกขอบคุณสังคมที่ต้อนรับความหลากหลายทางเพศ

เนื่องจากทุกคนรู้ว่าความหลากหลายทางเพศคือเรื่องในครอบครัวและในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยเปิดรับความหลากหลายทางเพศมาก เราแทบที่จะไม่เห็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศเดินในที่สาธารณะแล้วถูกเหยียดหยาม รังเกียจ ในมุมศาสนาก็ไม่ได้ต่อต้านจนเราไม่มีที่ยืนในสังคม

ไม่เพียงแค่ภาพรวมของสังคม พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็มีการตื่นตัวต่อกฎหมายสมรสเท่าเทียม แม้ว่ากฎหมายจะยังไม่ผ่าน แต่เราก็ได้เห็นสัญญาณที่ดี ภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็มีการรับคนที่เป็น LGBTQ+ เข้าทำงานในองค์กร และได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานชาย-หญิง รวมถึงสื่อมวลชนก็พร้อมปรับตัว พยายามใช้คำพูดที่ไม่ bullying ไม่ตีตรา

กม.สมรสเท่าเทียมปัจจัยดันเศรษฐกิจ

หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม คู่รัก LGBTQ+  ก็จะได้รับสิทธิต่าง ๆ ของคู่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำธุรกรรมกับธนาคารร่วมกันเพื่อทำธุรกิจได้ ขณะเดียวกัน ชาว LGBTQ+ เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพ และมี creativity สูงมาก หากเขาสามารถกู้เงินมาลงทุนทำธุรกิจร่วมกันได้ จะยิ่งเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น

“เราคิดว่าหากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน เศรษฐกิจก็จะโตขึ้น มิติการยอมรับของสังคมนี้ก็จะโตขึ้นตามไปด้วย” วาดดาว กล่าว

ที่มาของการจัดแมสอีเวนต์

วาดดาวเผยว่า เหตุผลที่จัดงานแมสอีเวนต์อย่างบางกอกไพรด์ เนื่องจากการจัดงานในพื้นที่สาธารณะจะเป็นการส่งเสียงไปถึงคนในสังคม รวมถึงคนที่ยังไม่เข้าใจที่อย่างน้อยเขาก็ไม่กล้าแสดงออกหรือต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ ด้วยความรุนแรง เพราะหากทำเช่นนั้นอาจถูกสังคมประณามได้

นอกจากนี้ ทำให้คนรู้ว่า Core Value ของสังคมคืออะไร ถ้าเราไม่จัดงานบางกอกไพรด์ 2022 ก็ยังคงคิดว่าสังคมไทยปิดกั้น LGBTQ+ แต่พอทำแมสอีเวนต์อย่างบางกอกไพรด์ ทำให้เห็นว่าปีนี้พาร์ตเนอร์ที่ทำงานกับเรามีหน่วยงานรัฐเยอะมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเราในการเดินไพรด์พาเหรด กรุงเทพมหานครเป็นพันธมิตรอย่างเข้มแข็ง อีกทั้งเรายังเห็นภาคธุรกิจลุกขึ้นมาสนับสนุนอย่างเป็นทางการ

“เราเซอร์ไพรส์มากปีที่แล้วมีคนมาร่วมงานมากกว่า 20,000 คน และหลังจากเราจัดงานก็มีอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศจัดงานไพรด์พาเหรดถึง 20 ครั้ง และที่สำคัญหลายคนต่างรอคอยที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานบางกอกไพรด์ในปีนี้” วาดดาว กล่าว

4 Beyond Gender

สำหรับงานบางกอกไพรด์ 2023 จัดภายใต้ธีม Beyond Gender โดยมีข้อเสนอหลักทั้งหมด 4 ข้อเสนอ ได้แก่ 1. การคุ้มครองครอบครัวผ่านสมรสเท่าเทียม 2. การคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศผ่านกฎหมายรับรองเพศสภาพ และกฎหมายการเปลี่ยนคำนำหน้านาม 3. การทำให้ Sex Work สามารถใช้สิทธิแรงงานได้ หรือสามารถเป็นพลเมืองได้โดยไม่ถูกกีดกัน และ 4. การประกันสุขภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น HIV หรือประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ LGBTQ+

ทั้ง 4 ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่เราแค่เสนอให้สังคมเห็นว่าสเตตเมนต์ใหญ่ของคนที่ทำงานเคลื่อนไหวคืออะไร แต่เรารู้ว่ามีประเด็นอีกมากที่คนอยากให้บียอนด์

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ปีต่อปีที่จัดงาน เราทำงานกับภาคีระหว่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเวิลด์ไพรด์ อิลก้าเวิลด์ หรือ อิลก้าเอเชีย ซึ่งเขาอยากให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำธงว่า เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBTQ+ โดยเราทำงานกับกทม. เพื่อให้กทม. rectify เรื่อง Rainbow City Network ซึ่งเป็นการทำงานระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดกับหัวหน้าเมืองต่าง ๆ ที่จะทำให้เมืองเมืองนี้ปลอดภัยกับ LGBTQ+

Pride Month

LGBTQ+ กับการขับเคลื่อนจีดีพี

กลุ่ม LGBTQ+ อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เชื่อว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนจีดีพีของประเทศได้ ซึ่งจากที่มีการพูดคุยกับคนที่อยู่ในคอมมิวนิตี้ที่ทำธุรกิจพบว่ามี 4 อุตสากรรมที่เราต้องการให้รัฐบาลผลักดัน ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แน่นอนว่าประเทศไทยหลังโควิดเศรษฐกิจซบเซาลงมาก เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่เปิด ขณะเดียวกันในสังคมที่เต็มไปด้วยพหุวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือความหลากหลายทางเพศ ทำอย่างไรให้ขยายการท่องเที่ยวของคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้น แน่นอนว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมต้องผ่าน

2.ธุรกิจบันเทิง ได้แก่ คลับ คาบาเร่ และแดร็กโชว์ รวมถึงการประกวดนางงาม การจัดปาร์ตี้ และคอนเสิร์ต ที่ให้ความบันเทิงอย่างมากแก่นักท่องเที่ยว เราคิดว่ารัฐบาลสามารถ provide และพัฒนาได้ 3.ฟิล์มกับซีรีส์ จะเห็นว่าซีรีส์วายของไทยได้รับความนิยมโด่งดังไปถึงต่างประเทศ และจะยิ่งไปไกลมากขึ้นจนสามารถขับเคลื่อนจีดีพีประเทศไทย หากภาครัฐสนับสนุนอย่างเต็มที่และจริงจัง

และ 4.Medical Hub การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อยืนยันตัวตน การใช้ฮอร์โมนก็ดี หรือการผ่าตัดแปลงเพศก็ดี เราคิดว่าประเทศไทยเทคโนโลยีทางการแพทย์ก้าวหน้ามาก แล้วคนที่จะผ่าตัดแปลงเพศเขาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-30 วัน หรือบางคนใช้เวลาถึง 3 เดือน ในการผ่าตัด ฟื้นฟู และติดตามอาการ แน่นอนว่าเม็ดเงินที่จะเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยมีจำนวนมาก ทั้งยังกระจายไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และอีกมากมาย

หนทางสู่เจ้าภาพ World Pride 2028

อันดับแรกกรุงเทพฯ ต้องเปิดให้พร้อมก่อน อย่างเช่น ถ้ามีคนหลักหมื่นซึ่งเป็น LGBTQ+ โรงแรมไหนบ้างที่รองรับพวกเราโดยที่ไม่กีดกันทางเพศ มีห้องน้ำที่ไม่ได้เป็น binary restroom นี่เป็นสิ่งที่เมืองจะต้องเริ่มพัฒนาให้เห็นว่าคุณเข้าใจความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง เราต้องสามารถจัดฟอรัมในเรื่องของ Human Right ได้อย่างเป็นทางการ สามารถจัดมหกรรมความบันเทิง ศิลปวัฒนธรรมได้ในสวนสาธารณะ

ทั้งนี้ กรุงเทพฯ ก็จะต้องยืนยันว่าพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพร่วมด้วย เพราะกลุ่มเล็ก ๆ ไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าภาพงานขนาดใหญ่ระดับโอลิมปิกได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานอย่างหนักกับกทม. รัฐบาล และองคาพยพธุรกิจที่คิดว่าพร้อมออกมาสนับสนุนเรา จากนั้นจึงจะไปนำเสนอว่าเราพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028

“จริง ๆ เรายังไม่ได้เห็นตัวเลขรายได้จากการจัด Sydney World Pride เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนกว่าครึ่งแสนจากทั่วโลกเดินทางไปที่ออสเตรเลียเพื่อร่วมงานนี้ แต่เราเชื่อว่าการที่หลายประเทศทั่วโลกหรือต้องการเป็นเจ้าภาพงานนี้มาก เพราะหัวใจสำคัญคือต้องการเม็ดเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ

หากรัฐบาล หรือภาคธุรกิจ หอการค้าต่าง ๆ มองเห็นความสำคัญว่าเม็ดเงินก้อนนี้ที่จะกลายเป็นธุรกิจใหม่กระตุ้นเศรษฐกิจ เราคิดว่าก็อย่าช้า เพราะเราเชื่อว่าหลายประเทศอยากได้เม็ดเงินก้อนนี้ ไม่อย่างนั้นเขาไม่รีบแก้กฎหมายจำนวนมาก แล้วศักยภาพธุรกิจของเขาก็สูงกว่าประเทศไทย

เราก็หวังว่า 5-6 ปีข้างหน้า ถ้าวันหนึ่งเห็นว่า  World Pride กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ก็คิดว่าวันนั้นอาจจะเปิด paradigm ใหม่ในความคิดของผู้คน ที่เปิดพื้นที่ให้กับพหุวัฒนธรรมจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ หรือความหลากหลายทางเพศ” วาดดาว กล่าว

บางกอกไพรด์ 2023

Pride Month Pride Month

Pride Month