ไข่ผำ-จิ้งหรีด ซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ เทรนด์อาหารแห่งอนาคต 

ไข่ผำ จิ้งหรีด

“เทคโนโลยีชาวบ้าน” จัดสัมมนา เทรนด์อาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ ตัวแทนพืชและแมลง โปรตีนแห่งอนาคต แหล่งอาหารชั้นดี สร้างอาชีพและทำรายได้ให้กับเกษตรกรเกินคาด

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 “เทคโนโลยีชาวบ้าน” จัดสัมมนา เทรนด์อาหารแห่งอนาคต “ไข่ผำ-จิ้งหรีด” ซูเปอร์ฟู้ดจากธรรมชาติ ณ ห้องประชุม อาคารหนังสือพิมพ์ข่าวสด โดยมี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เป็นประธานและกล่าว Special Talk เปิดงานสัมมนา

นางสาวสุจิต เมืองสุข บรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน กล่าวว่า สืบเนื่องจากเทคโนโลยีชาวบ้านเล็งเห็นถึงศักยภาพของ “ไข่ผำ” และ “จิ้งหรีด” ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างของพืชและแมลงโปรตีนแห่งอนาคต สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารชั้นดี ที่เรียกว่า “ซูเปอร์ฟู้ด” 

ไข่ผำ ติดทำเนียบอาหารซูเปอร์ฟู้ดของโลก และได้รับฉายาว่าเป็น “Green Caviar” เพราะมีโภชนาการครบถ้วนสูงมากที่สุดชนิดหนึ่ง ส่วนจิ้งหรีด เป็นแมลงที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่กำลังมาแรง สร้างรายได้ได้เป็นอย่างดี พบได้ในทุกภูมิภาคของโลก ปลอดสารพิษ และถือเป็นฟิวเจอร์ฟู้ดที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ

การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้จึงเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ให้แก่ผู้เข้าร่วม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และเพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมได้นำหลักความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ นางสาวสุจิตกล่าว

ADVERTISMENT

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า สำหรับไข่ผำ เรารู้จักมานานแล้ว แต่เพิ่งมาให้ความสำคัญกันในระยะหลัง ในเชิงประมง แต่ก่อนก็ใช้เป็นแหล่งอนุบาลและอาหารแก่ลูกปลา ซึ่งลดต้นทุนค่าอาหารได้ค่อนข้างมาก ส่วนเรื่องของการมาเป็นอาหาร ก็มีการศึกษาพอสมควรแต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนักในตอนนั้น

วันนี้โลกเรากำลังเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร ประชากร 190 ล้านคนจาก 8 พันกว่าล้านคนกำลังเข้าสู่ภาวะการขาดแคลนและความมั่นคงด้านอาหาร 

ADVERTISMENT

ปัจจัยที่ทำให้เกิดวิกฤตดังกล่าวมีทั้งภาวะสงคราม ยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบมากพอสมควรเรื่องอาหารสัตว์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น กระทบมาซึ่งการเป็นห่วงโซ่ของอาหารมนุษย์ต่อไป

การสำรองอาหารของแต่ละประเทศเองก็เป็นปัจจัยหนึ่ง เช่น การมีไว้ใช้ในประเทศ การไม่ส่งออกต่าง ๆ ทำให้มีหลายประเทศที่เกิดภาวะขาดแคลนตามไปด้วย

ที่สำคัญคือภาวะโลกร้อน จะมีผลกระทบกับความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตอาหารโดยตรง ยิ่งไทยเราเป็นประเทศเกษตรกรรมยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ต้องเตรียมตัวไว้ว่าจะสำรองอย่างไร หรือทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด นายเฉลิมชัยกล่าว

ทั้งหมดนี้เราจึงต้องมาคิดว่าอาหารในอนาคตควรเป็นอย่างไร หรือใช้รูปแบบไหน นายเฉลิมชัย กล่าวอีกว่า อาหารในอนาคตต้องเป็นสิ่งที่ผลิตได้ในพื้นที่ที่จำกัด มีประสิทธิภาพในผลผลิตค่อนข้างสูง และแปรรูปออกไปได้หลายรูปแบบ รวมทั้งเข้าถึงผู้บริโภคได้ค่อนข้างง่าย 

อาหารในอนาคตส่วนใหญ่จะมาจากพืช (Plant Based) เพราะเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพของคน หากบริโภคโปรตีนที่มาจากปศุสัตว์เป็นปริมาณมากจะมีโอกาสเกิดโรคค่อนข้างสูง ดังนั้น ต้องคิดให้ลึก อาหารในอนาคตนอกจากจะสำรองเพื่อความมั่นคงแล้ว ต้องปลอดภัยต่อสุขภาพด้วย 

นวัตกรรมของอาหารในอนาคต คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ วันนี้เราผลิตในโรงเรือนมากขึ้น กลางแจ้งน้อยลง เพราะไม่มีอะไรปกคลุมและควบคุมผลกระทบได้ค่อนข้างยาก

ไข่ผำในวันนี้ก็เช่นกัน เริ่มมีการขอทุนเพื่อทดลองเลี้ยงในโรงเรือนแล้ว หลังจากที่แต่ก่อนอยู่ในบ่อกว้าง ๆ น้ำมาอย่างไรก็ปล่อยให้ผลผลิตเป็นอย่างนั้น

คนที่มีเทคโนโลยีแบบเดิมอยู่จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับนวัตกรรมอาหารในอนาคต ที่คำนึงถึงความปลอดภัย และสามารถควบคุมผลผลิตได้อย่างแน่นอน เพราะเราไม่อาจปล่อยให้การลงทุนเสี่ยงต่อความผิดพลาดได้บ่อยครั้งเหมือนในอดีต นายเฉลิมชัยกล่าว

“อาหารในอนาคตต้องมี 3 ดี คือ ดีต่อใจ ดีต่อสุขภาพ และดีต่อโลก”

สำหรับไข่ผำ เป็นพืชน้ำ โดยปกติจะมีมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่มีน้ำไหลเวียน ก่อนนำไปปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาดเสมอ ผำมักถูกนำไประกอบอาหารมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น แกง หรือผัด บางทีก็ใส่เป็นส่วนประกอบของอาหาร เพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความหอม มัน อร่อย มากยิ่งขึ้น

เหตุผลที่ทำให้ผำเป็นซูเปอร์ฟู้ด เพราะโปรตีนสูงถึง 40% ในผำ 100 กรัมจะให้พลังงาน 8 กิโลแคลอรี มีโภชนาการครบไม่ว่าจะเป็นวิตามิน ไฟเบอร์ หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่ ไลซีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ฟินิวอลานีน รีโอนีน วิตามินซี ไนอะชิน เบต้าแคโรทีน ลิวซีน เส้นใย 0.3 กรัม แคลเซียม 59 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เหล็ก 6.6 มิลลิกรัม