เทรนด์สูงวัยเจอหลุมดำเศรษฐกิจ เร่งเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ “Self Care Trend”

เทรนด์สังคมสูงวัย

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสุขภาพฟันธง ปัญหาเศรษฐกิจเป็น “หลุมดำ” ของเทรนด์สูงวัย แนะคนไทยรับมือก่อนวิกฤตจะซ้อนวิกฤตในอีก 10 ปีข้างหน้า คนแก่เต็มเมือง รายได้ลดลง ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตสู่ Self Care Trend ชี้รัฐต้องดันนโยบายรองรับอย่างจริงจังและรวดเร็ว โดยมี “ญี่ปุ่น-สิงคโปร์” เป็นกรณีศึกษา

ในงาน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่สุดในอาเซียน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีเสวนาหัวข้อ “Aging Society to Self Care Trend” ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจ

อีก 7 ปีคนแก่จะเพิ่มพรวด

ศ.ดร.เกื้อเกียรติ ประดิษฐ์พรศิลป์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการดูแลผู้สูงอายุ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปี 2564 ไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 18.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 22.1 ของประชากรทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในปี 2573 นั่นหมายถึงในอีก 7 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะมีผู้สูงวัยมากถึง 24.3 ล้านคน

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ซึ่งทรัพยากรด้านการดูแลรักษาสุขภาพในไทยยังมีข้อจำกัด เราจึงต้องเร่งปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพให้สอดคล้องกัน”

เช่น ส่งเสริมการดูแลสุขภาพตนเอง (self care) ผู้สูงอายุควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง และดูแลสุขภาพตนเองได้ โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา สูบบุหรี่ ฯลฯ

พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม (integrated care) เพื่อบูรณาการด้านสุขภาพและสังคมสำหรับผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติ เช่น บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน (home hospice care) บริการดูแลผู้สูงอายุแบบพักค้าง (day care) ฯลฯ

ADVERTISMENT

ส่งเสริมบทบาทของครอบครัวและชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่ง 2 หน่วยนี้มีบทบาทสำคัญมาก ทั้งเรื่องการดูแล การให้ความรู้ความเข้าใจ จะช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีคุณภาพและเหมาะสม

“เราต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุให้สอดคล้องกับสังคมดังกล่าวด้วย ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพและมีความสุขอย่างยั่งยืน” ศ.ดร.เกื้อเกียรติกล่าว

ADVERTISMENT

อายุ 60 ปีจะเพิ่มปีละ 1 ล้านคน

รศ.ดร.นิพิฐ พิรเวช ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบบสุขภาพ มองว่า ความท้าทายเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม ถือเป็นปัญหาและโจทย์ใหญ่ของเทรนด์สูงวัยที่ทุกคนอาจนึกไม่ถึง เพราะจำนวนคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตขึ้นจะไม่ทันกับจำนวนผู้สูงวัยที่จะมีมากขึ้นทุก ๆ ปี

“โดยเฉพาะพื้นฐานภาวะเศรษฐกิจไทยนั้นก็น่าห่วง ผมมองว่า GDP จะเติบโตได้ไม่เกิน 1-2% อย่างเก่งก็โต 3% ภายใน 2 ปีนี้ ขณะที่หนี้สาธารณะเรามีมากถึง 16 ล้านล้านบาท หรือ 90% ของจีดีพี เพราะเราไม่สามารถสร้างรายรับได้พอเท่ากับรายจ่าย ทุกวันนี้เรามีคนทำงานในระบบประมาณ 40 ล้านคนเศษ แม้เราไม่มีหนี้เลย แต่ประหนึ่งเราก็มีหนี้ ตกครัวเรือนละ 5 แสนบาท”

เท่ากับว่า อนาคตคนไทยจะมีรายได้คงที่หรือน้อยลง สวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งขึ้น คนจะบ่นปัญหาของแพง แม้ประหยัดแล้วก็ยังตึงตัว รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างงาน สร้างรายได้ และบริหารจัดการราคาสินค้าให้พอเหมาะพอควร

จากปัญหาเศรษฐกิจจึงกลายเป็นหลุมดำของเทรนด์สูงวัย เพราะโจทย์มีว่า เราจะทำอย่างไรให้ครัวเรือนมีชีวิตที่ดี มีคุณภาพ ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยกำลังเกิดขึ้นในสังคม แม้แต่ในบ้านของเราเอง เด็กใหม่เกิดน้อย คนแก่มีมากขึ้น

“สิ่งที่คนรุ่นใหม่จะช่วยได้คือดูแลคนในบ้าน ดูชีวิตก่อนป่วย ต้องเปลี่ยนวิถีใหม่ มีวินัย จะได้ห่างไกลโรคยอดฮิต 8 โรค หรือ NCD เบาหวาน หัวใจ ความดันสูง หลอดเลือด ฯลฯ เพราะเป็นบ่อเกิดของโรคไม่ติดต่อแต่เรื้อรัง ต้องนอนป่วยติดเตียง เป็นภาระใหญ่แก่คนในครอบครัวและภาครัฐในอนาคต”

จากข้อมูลพบว่า นับจากปี 2565 เรื่อยไปถึง 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 60 ปีเพิ่มขึ้นตกปีละ 1 ล้านคนเศษ ผู้สูงวัยจะเต็มบ้านเต็มเมือง แต่รายได้รวมจะไม่พอต่อการครองชีพและค่ารักษา เป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรฐานรากกระทบอยู่แล้ว ภาวนาว่าอย่าให้กระทบประชากรชนชั้นกลางเลย

อยากร้องขอให้คนรุ่นใหม่หรือลูกหลานช่วยดูแลกันและกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของ self care trend อย่าปล่อยปละละเลย การบริโภคต้องลดเค็มลดหวาน เพราะ 50% ของอาหารคือปัญหาของ NCD

ผู้สูงอายุต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่พึ่งพาผู้อื่นหรือระบบบริการสุขภาพมากเกินไป เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมีราคาแพง ผู้สูงอายุเองก็ต้องการลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาล แนวทางการดูแลอย่างยั่งยืนจึงสำคัญมาก

“หลักการง่ายแต่ปฏิบัติถือเป็นเรื่องยาก คนในครอบครัวจึงมีผลต่อการสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่ดีขึ้น ผู้สูงอายุอยู่ที่บ้านก็ทำกายบริหาร โยคะ เต้นแอโรบิก เลี่ยงอาหารไขมันสูง พักผ่อนให้พอ นอนหลับให้ดี 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ไม่ป่วยก็พบแพทย์ได้ ตรวจเช็กความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ภาครัฐก็ต้องสนับสนุนนโยบายและบริการเหล่านี้”

ปัญหาที่พบบ่อย ผู้สูงอายุมักติดนิสัยรับประทานอาหารรสหวาน มัน เค็ม ตนจึงเสนอวิธีให้ครอบครัวช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องทำ อย่าหยุด

ดร.นิพิฐกล่าวเสริมว่า รัฐต้องสนับสนุนนโยบายและบริการด้านการดูแลผู้สูงอายุ ส่วนเอกชนควรพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้การดูแลมีประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและบรรเทาภาระงบประมาณภาครัฐด้านสวัสดิการชราภาพในระยะยาว

ที่สำคัญ การดูแลสุขภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินแพง ๆ เราสามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ใช้ความรู้และทักษะ สุดท้ายเราควรวางแผนชีวิต เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ดูกรณีประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ชัดเจนมาก รัฐวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสุขภาพ (HealthTech) และเทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการดูแลผู้สูงอายุ

ประเทศไทยก็เช่นกัน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุก็เติบโตราว 1 แสนล้านบาท เฉพาะธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท หรือเติบโต 1.5 เท่าของทุกปี

อายุยืนต้องมีความสุข

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แนวคิด longevity หรือความยืนยาวของชีวิต เป็นเป้าหมายที่ควรส่งเสริมให้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงการมีชีวิตยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีชีวิตที่มีคุณภาพและมีความสุข ซึ่งมี 2 องค์ประกอบหลัก คือ health span และ life span

“health span คือ ช่วงชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี ยังไม่มีการเสื่อมของร่างกายตามวัย ส่วน life span คือ ช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงเสียชีวิต เฮลท์สแพนจะสำคัญกว่าไลฟ์สแพน เนื่องจากการมีชีวิตยืนยาว แต่มีเฮลท์สแพนที่สั้น ก็อาจไม่ได้มีชีวิตที่มีความสุข”

สิ่งที่ รศ.นพ.ฉันชายเสนอแนะนั้น สามารถนำมาปรับใช้เพื่อส่งเสริม longevity ให้กับทุกคนได้ เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาโรคใหม่ ๆ เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ยั่งยืนละยืนยาวอย่างมีคุณภาพได้