ประวัติ พระเจ้าท้ายสระ รัชกาลที่ 30 แห่งอยุธยา กับตำนานโปรดเสวยปลาตะเพียน

ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand
ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand

เปิดประวัติ “ขุนหลวงท้ายสระ” พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระนาม “ท้ายสระ” มีความเป็นมาอย่างไร และอะไรเป็นจุดเริ่มต้นของตำนานโปรดเสวยปลาตะเพียนถึงขั้นห้ามราษฎรจับ

รู้ต่อจากละคร “พรหมลิขิต” ภาคต่อของบุพเพสันนิวาส ที่เนื้อเรื่องดำเนินเข้าสู่รัชสมัยของ “ขุนหลวงท้ายสระ” เเล้ว รับบทโดย “เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์” ซึ่งเป็นตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปทำความรู้จักพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ให้มากขึ้น

ขุนหลวงท้ายสระ หรืออีกหลายพระนามว่า สมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ, สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9, พระเจ้าท้ายสระ, พระเจ้าภูมินทราชา และ พระเจ้าบรรยงก์รัตนาสน์ มีพระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าเพชร” ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ราชวงศ์สุดท้ายของอาณาจักรอยุธยา

เสด็จพระราชสมภพเมื่อปีมะแม พ.ศ. 2221 เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ใน “สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8” (พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์) กับพระอัครมเหสีสมเด็จพระพันวษา มีพระอนุชาคือ “เจ้าฟ้าพร” (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2) และพระกนิษฐาไม่ทราบพระนาม

พระองค์ประสูติตั้งแต่พระเจ้าเสือยังเป็นออกหลวงสรศักดิ์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ จากนั้นเมื่อ “พระเพทราชา” เถลิงราชสมบัติ จึงได้สถาปนาออกหลวงสรศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า และออกพระนามขุนหลวงท้ายสระว่า “สุรินทกุมาร”

ต่อมาเมื่อพระเจ้าเสือ พระราชบิดา สวรรคตใน พ.ศ. 2251 เจ้าฟ้าเพชรจึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 30 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระชนม์ได้ 28 พรรษา และเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าภูมินทราชา โดยประชาชนมักออกพระนามว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ

ขุนหลวงท้ายสระเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2275 พระชนมายุ 54 พรรษา ครองราชย์รวม 24 ปี

อาคารพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ในเขตพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา (ภาพโดย กำพล จัมปาพันธ์)
อาคารพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ ในเขตพระราชวังหลวง กรุงศรีอยุธยา (ภาพโดย กำพล จัมปาพันธ์) จากศิลปวัฒนธรรม

ท้ายสระ และ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์

สำหรับที่มาของพระนามว่า “ท้ายสระ” มาจากชื่อของพระที่นั่ง “บรรยงก์รัตนาสน์” ซึ่งพระองค์ใช้ประทับประจำ โดยเป็นอาคารทรงตึกแบบยุโรป ตั้งอยู่ข้างสระน้ำท้ายพระราชวังหลวงของอยุธยา

ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ความในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับพระพนรัตน์ (แก้ว) หรือฉบับหมอบรัดเล ซึ่งถูกชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่างกล่าวว่า พระที่นั่งนี้สร้างในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา จนกลายเป็นความเชื่อทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งที่อ้างอิงสืบต่อกันมา

ในขณะที่เอกสารหลักฐานอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากการชำระพระราชพงศาวดารในต้นรัตนโกสินทร์ ต่างระบุว่า พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ มีมาก่อนหน้ารัชกาลสมเด็จพระเพทราชาแล้ว โดยสมเด็จพระนารายณ์เป็นกษัตริย์ผู้สร้างพระที่นั่งนี้

ทั้งนี้ หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2231 สมเด็จพระเพทราชาให้ย้ายศูนย์กลางจากลพบุรีกลับมายังอยุธยา ก็ทรงโปรดประทับ ณ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะพระที่นั่งนี้สร้างอย่างวิจิตรงดงาม หรือเพราะ “กรมหลวงโยธาเทพ” พระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์ ที่กลายมาเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเพทราชา ทรงประทับอยู่พระตำหนัก “โคหาสวรรค์” ใกล้ ๆ กัน และมีความคุ้นเคยมาแต่เดิมก็ตามที

อย่างไรก็ตาม พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ นับเป็นพระที่นั่งสำคัญตลอดสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวง เป็นที่โปรดประทับของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ รวมั้งเป็นที่ประทับและที่สวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศด้วย

ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand
ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand

โปรดการล่าสัตว์ โปรดเสวยปลาตะเพียน

ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน บันทึกถึงอุปนิสัยของขุนหลวงท้ายสระไว้ว่า โปรดการล่าสัตว์มาก โดยมักฆ่าสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลา นก รวมไปถึงช้าง ซึ่งคล้ายกับพระเจ้าเสือ พระราชบิดาของพระองค์ที่ก็โปรดการล่าสัตว์เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีอีกตำนานที่กล่าวกัน ว่าขุนหลวงท้ายสระโปรดเสวยปลาตะเพียนมาก ตำนานนี้มีที่มาจาก ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 82 เรื่อง พระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน เช่นกัน โดยกล่าวถึงสมัยที่ขุนหลวงท้ายสระขึ้นครองราชย์ว่า

“ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระประพฤติเหตุในอโนตัปปธรรม แล้วเสด็จเที่ยวประพาสทรงเบ็ดเหมือนสมเด็จพระราชบิดา แล้วพระองค์พอพระทัยเสวยปลาตะเพียน ครั้งนั้นตั้งพระราชกำหนดห้ามมิให้คนทั้งปวงรับพระราชทานปลาตะเพียนเป็นอันขาด ถ้าผู้ใดเอาปลาตะเพียนมาบริโภค ก็ให้มีสินไหมแก่ผู้นั้นเป็นเงินตรา ๕ ตำลึง”

กล่าวคือ พระองค์โปรดเสวยปลาตะเพียนมาก จนถึงขั้นออกพระราชกำหนดห้ามราษฎรจับหรือรับประทานปลาตะเพียน หากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษคือปรับเป็นเงิน 5 ตำลึง หรือ 20 บาท

อย่างไรก็ตาม แม้ตำนานดังกล่าวจะเล่าขานกันมานาน แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดด้วยเช่นกัน บ้างก็ว่าเป็นตามที่เล่ากันมา หรือเป็นเพราะพระองค์ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างดียิ่ง และอาจเป็นพระราชดำริที่จะอนุรักษ์ปลาหรือไม่

กฤช เหลือลมัย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวในศิลปวัฒนธรรม ว่า หากไม่ใช่พงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมใส่ร้ายให้พระองค์ดูเป็นกษัตริย์ที่เอาแต่พระทัยจนเบียดเบียนริบเอาปลาตะเพียนที่ไพร่ฟ้าหามากินได้ง่าย ๆ ก็ต้องเป็นเพราะปลาตะเพียนอร่อยถูกพระทัยพระองค์จริง ๆ

ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand
ขุนหลวงท้ายสระ ละครพรหมลิขิต แสดงโดย เกรท-วรินทร ปัญหกาญจน์ ภาพจาก Ch3Thailand