เปิดประวัติ ท้าวทองกีบม้า เมื่อสิ้น ฟอลคอน หลังพระเพทราชายึดอำนาจ

ท้าวทองกีบม้า พรหมลิขิต บุพเพสันนิวาส
ท้าวทองกีบม้า (แสดงโดย สุษิรา แน่นหนา) -ละครพรหมลิขิต ภาพจาก Ch3Thailand

เปิดประวัติ “ท้าวทองกีบม้า” เมื่อสิ้น “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ผู้เป็นสามี หลังสมเด็จพระเพทราชายึดอำนาจใน พ.. 2231 เธอเป็นใคร มาจากที่ไหน บั้นปลายชีวิตจบลงอย่างไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับต้นตำรับขนมไทย

“ท้าวทองกีบม้า” หรือ มารี กีมาร์ เดอ ปิน่า เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้คิดค้นขนมหวานไทยอย่าง ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้จะไม่มีผู้ใดหรือหลักฐานใดที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเธอเป็นผู้คิดค้นสูตรขนมขึ้น แต่ก็เล่าต่อมาจนกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อถือกัน

วันนี้เธอกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งสืบเนื่องจากกระแสละคร “พรหมลิขิต” ภาคต่อของ “บุพเพสันนิวาส” ที่ออนแอร์ตอนแรกไปเมื่อคืนที่ผ่านมา ด้วยจำนวนคนดูผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 4.2 แสนคน “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปรู้จักท้าวทองกีบม้าอย่างละเอียด ว่าเธอเป็นใคร มาจากที่ไหน บั้นปลายชีวิตจบลงอย่างไร และทำไมถึงเกี่ยวข้องกับต้นตำรับขนมไทย

สตรีลูกครึ่งโปรตุเกสญี่ปุ่น

ศิลปวัฒนธรรม ระบุว่า ท้าวทองกีบม้า เป็นสตรีลูกครึ่งโปรตุเกสญี่ปุ่น โดยคาดว่าบรรพบุรุษทางฝั่งพ่อเป็นชาวญี่ปุ่นเชื้อสายโปรตุเกสที่ถูกขับไล่ออกจากประเทศในสมัย โชกุน ฮิเดะโยชิ” ที่ขัดขวางการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นที่ถูกขับไล่จึงมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านญี่ปุ่นริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับหมู่บ้านโปรตุเกส

ท้าวทองกีบม้าคุ้นเคยกับหมู่บ้านทั้งสองมาตั้งแต่ยังเด็ก และเมื่อเติบโตขึ้นคงได้พบกับ “คอนสแตนติน ฟอลคอน” หรือ เจ้าพระยาวิไชเยนทร์ ครั้งเริ่มเข้ามาทำงานในสยามกับพระคลัง ทั้งนี้ ฟอลคอนต้องติดต่อกับชาวต่างชาติอยู่เสมอ และสามารถพูดภาษาโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี

เมื่อท้าวทองกีบม้าได้แต่งงานกับฟอลคอน เธอได้ช่วยเหลือสามีดูแลรับรองชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสยาม ทั้งพ่อค้า บาทหลวง และทูต ในอยุธยาและที่ลพบุรี เรื่อยมาจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติขึ้นใน .. 2231 ผลัดแผ่นดินจาก “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” สู่รัชสมัยของ “สมเด็จพระเพทราชา”

ละครพรหมลิขิต
ท้าวทองกีบม้า (แสดงโดย สุษิรา แน่นหนา)-ละครพรหมลิขิต ภาพจาก อินสตาแกรม susiroo

เริ่มทำขนมหวาน

แม้จะไม่มีผู้ใดหรือหลักฐานใด ๆ ที่บ่งชี้ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ “คิดค้น” สูตรขนมหวานขึ้น  เพียงแต่ล่ากันว่าเป็นลูกครึ่งชาวโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ที่น่าจะใช้เวลาในลพบุรีและบางกอกในการคิดค้นอาหารคาวหวานเพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง

แต่ท้าวทองกีบม้าเคยไปทำงานในวังจริง และเป็นคน “ทำ” ขนมหวานตำรับโปรตุเกส จนเป็นสูตรให้คนทำสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน ศิลปวัฒนธรรม ระบุในบทความ “เปิดบันทึกสาเหตุที่ทำให้ ท้าวทองกีบม้า ต้องทำ ขนมหวาน” ตามจดหมายเหตุฝรั่งเศสที่บันทึกไว้ว่า

“ท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา”

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นที่ทำให้ท้าวทองกีบม้าต้องทำขนม และทำขนมตั้งเเต่เมื่อไรยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด และถูกระบุแตกต่างกันไป บ้างก็ว่าชีวิตช่วงหนึ่งของท้าวทองกีบม้าตกอับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2233 ได้รับอนุญาตให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกส และถูกบังคับให้ทำอาหารหวานส่งเข้าวังตามที่กำหนด

ด้าน “บาทหลวงโอมองต์” บันทึกไว้ว่า ท้าวทองกีบม้า หรือมาดามฟอลคอน ได้รับแต่งตั้งให้เป็นชาววิเสท (ผู้ทำกับข้าวของหลวง) ประจำห้องเครื่องในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (3 รัชกาลถัดจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

หรือจะเป็น “อเล็กซานเดอร์ แฮมมิลตัน” ที่อ้างว่า ได้พบกับมาดามฟอลคอนใน พ.ศ. 2262 (รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) ขณะนั้นได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการห้องเครื่องต้นแผนกหวาน มีผู้คนรักใคร่นับถือ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกของ “มองสิเออร์โซมองต์” ที่ระบุว่า มาดามฟอลคอนเป็นผู้ดูแลเครื่องเงินเครื่องทอง ของหวาน เป็นหัวหน้าเก็บภูษาและฉลองพระองค์ และยังเป็นผู้เก็บผลไม้เสวยด้วย

ละครพรหมลิขิต
พระเพทราชา (แสดงโดย ศรุต วิจิตรานนท์)-ละครพรหมลิขิต ภาพจาก Ch3Thailand

หลังสิ้นฟอลคอน ชีวิตในแผ่นดินพระเพทราชา

ก่อนจะสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้ดีนัก ด้วยความที่พระองค์ทรงโปรดชาวต่างชาติมากเกินไป ประกอบกับทรงประชวรหนัก และมีข่าวลือหนาหูว่าชาวฝรั่งเศสเตรียมนำเรือติดอาวุธเข้ามายึดครองสยาม

กลุ่มอำนาจทางการเมืองในอยุธยาตอนนั้นอาจเเบ่งได้ 3 กลุ่มคือ กลุ่มพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์, กลุ่มขุนนางใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “พระปีย์” รวมทั้ง “เจ้าฟ้าอภัยทศ” ด้วย และกลุ่มชาวฝรั่งเศสที่นำโดยเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ หรือฟอลคอน

สุดท้าย สมเด็จพระเพทราชาก็ทำการปฏิวัติใน .. 2231 และทรงขึ้นครองราชสมบัติ รวมทั้งกำจัดกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ทั้ง พระปีย์, เจ้าฟ้าอภัยทศ รวมถึงฟอลคอน เป็นการผลัดแผ่นดินอยุธยาที่ถือว่าเป็นยุคของการเสื่อมความนิยมในชาวฝรั่งเศส

ฟอลคอนถูกประหารชีวิตในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2231 ด้วยวัยเพียง 40 ปี การปฏิวัติครั้งนี้จึงทำให้ท้าวทองกีบม้ากลายเป็นแม่ม่ายที่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกชาย หลังลูกอีกคนเพิ่งเสียชีวิตไปไม่นาน และหาเลี้ยงชีวิต ในฐานะของเจ้าพนักงานวิเสท ที่ทำหน้าที่ในพระราชวังหลวง

สมบัติเกือบทั้งหมดของครอบครัวฟอลคอนถูกยึดไปเป็นของหลวง แต่บางส่วนท้าวทองกีบม้าได้ฝากมากับทหารฝรั่งเศส นำลงมาไว้ที่บางกอก จึงเป็นไปได้ว่าเธอปรารถนาที่จะกลับฝรั่งเศสมากกว่าที่จะอยู่ในสยาม

หลังการปฏิวัติ ท้าวทองกีบม้าเดินทางมาถึงบางกอกในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2231 โดยทหารฝรั่งเศสที่ช่วยเหลือเธอมา บอกว่าเธอหนี “ออกหลวงสรศักดิ์” (พระเจ้าเสือ) ลงมา เพราะออกหลวงสรศักดิ์ปรารถนาจะได้ตัวเธอเป็นภรรยา แต่ “นายพล เดส์ฟาร์จ” ผู้คุมกำลังทหารฝรั่งเศสที่บางกอกไม่ประสงค์ให้เธอกลับไปฝรั่งเศสด้วย แม้บรรดาบาทหลวงจะเห็นตรงกันข้าม ว่าไม่สมควรคืนเธอให้กับฝ่ายสยาม

ละครพรหมลิขิต
หลวงสรศักดิ์ (แสดงโดย จิรายุ ตันตระกูล)-ละครพรหมลิขิต ภาพจาก Ch3Thailand

บั้นปลายชีวิต

สุดท้าย ท้าวทองกีบม้าก็ถูกส่งตัวกลับไปให้สยาม แล้วกองทหารฝรั่งเศสก็เดินทางกลับออกไป อย่างไรก็ตาม ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา ต่อด้วยพระเจ้าเสือ ชีวิตของเธอดูราบเรียบไม่ได้มีปัญหาใด ๆ ใช้ชีวิตในฐานะเจ้าพนักงานวิเสทที่ทำหน้าที่ในพระราชวังหลวง มีเพียงความกังวลเรื่องทรัพย์สินที่สามีหาไว้ โดยการลงทุนกับบริษัทการค้าของฝรั่งเศส 

โดย ท้าวทองกีบม้า ได้เขียนจดหมายไว้ฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.. 2249 และลงนาม กีมาร์ เดอ ปิน่า ที่เมืองอยุธยา ทั้งนี้ จดหมายฉบับดังกล่าวเขียนเป็นภาษาละตินและมีฉบับแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโบราณ ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสจนปัจจุบัน สรุปใจความได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ท้าวทองกีบม้าขอให้บรรดาบาทหลวงได้เห็นใจเธอ ทดแทนกับที่เธอได้เคยแสดงความเอื้ออารี ขณะที่มิชชันนารีปฏิบัติศาสนกิจในสยาม ในช่วงเวลาที่เธอและสามีมีอำนาจ ได้สนับสนุนกิจการของคณะมิชชันนารีเป็นอย่างมาก

ประเด็นสอง เธอเรียกร้องให้ท่านสังฆราชเขียนจดหมายไปถึงบริษัทการค้าฝรั่งเศสให้จ่ายเงินที่ค้างอีก 6 ปี ให้ครบ จากที่สามีได้ทำธุรกิจไว้ แม้ตอนแรกบริษัทการค้าฝรั่งเศสปฏิเสธ แต่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยกับคำชี้แจงของบริษัท ที่สุดแล้วรัฐบาลฝรั่งเศสจึงออกประกาศลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2260 ให้นางฟอลคอนได้รับส่วนแบ่งในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัท โดยจ่ายเป็นเงินเลี้ยงชีพปีละ 3,000 ปอนด์ฝรั่งเศส และได้ส่วนแบ่งกำไรที่หักต้นทุนออกแล้ว

สุดท้าย อีก 5 ปีต่อมา หรือใน พ.ศ. 2265 ท้าวทองกีบม้า หรือนางฟอลคอน ได้เสียชีวิตลงอย่างอย่างสงบที่กรุงศรีอยุธยา เหลือไว้เพียงชื่อให้เป็นตำนานเล่าขานมาจนปัจจุบัน