LGBTQIAN+ สะบัดธงสีรุ้ง เคานต์ดาวน์สมรสเท่าเทียม เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง ร่วมขบวนไพรด์

LGBTQIAN+ สะบัดธงสีรุ้งกลางกรุง เคานต์ดาวน์สมรสเท่าเทียม เศรษฐา-อุ๊งอิ๊ง ร่วมขบวนงาน Bangkok Pride Festival 2024

วันที่ 1 มิถุนายน 2567 บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด จับมือ กรุงเทพมหานคร และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมพันธมิตรภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ร่วมเนรมิตถนนพระราม 1 เป็นถนนสีรุ้งแห่งความเท่าเทียม จัดกระหึ่มงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024)

ภายใต้แนวคิด “Celebration of Love” เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ พร้อมนับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 ซึ่งถือเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ของชาว LGBTQIAN+

โดยปิดถนนเดินขบวนพาเหรดอย่างสร้างสรรค์ทั้งสิ้น 5 ขบวนหลัก 5 นิยามความรักที่เปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมตีความ แสดงออก และนำเสนอนิยามความรักในแบบของตัวเอง เพื่อใช้ความรักนำทางสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม

สำหรับการจัดงานในปีนี้ ได้รับเกียรติจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงานและร่วมเดินขบวนพาเหรดไปพร้อม ๆ กับชาว LGBTQIAN+ นับแสนคน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผู้นำประเทศให้การสนับสนุน และเข้าร่วมเดินพาเหรดในขบวนไพรด์

ADVERTISMENT

พร้อมด้วยศิลปิน ดารามากมาย อาทิ คุณชายอดัม-หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล, ดีเจบุ๊คโกะ-ธนัชพันธ์ บูรณาชีวาวิไล, รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น, โยชิ–นิมิต มนัสพล เป็นต้น ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้น

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ให้เกียรติมอบ “ธงไพรด์ประจำจังหวัด” สัญลักษณ์การเปิดเทศกาลเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์ให้กับตัวแทนเครือข่ายผู้จัดงานไพรด์ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม 5 ภูมิภาค 14 จังหวัด ไปจัดไพรด์ เฟสติวัลให้กระหึ่มด้วย

ADVERTISMENT

มติชน รายงานว่า นายเศรษฐา กล่าวว่า งานนี้เป็นการเฉลิมฉลองสิทธิเสรี ความเสมอภาค และความเท่าเทียมในการที่จะมีโอกาสได้เลือก ถือว่าเดือนมิถุนายนยนจะได้เฉลิมฉลองใหญ่ครั้งทั้งเดือน

วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมารวมตัวกันครั้งนี้ แล้วก็จะมีการเริ่มต้นเดินพาเรดมีขบวน 5 ขบวน และมีวงสนทนากันอีกมากมายเพื่อที่จะมาพูดคุยกัน ในเรื่องที่เราควรจะทำกัน รัฐบาลกับภาคประชาชน เราจะเดินหน้าไปด้วยกัน ผลักดันสมรสเท่าเทียมให้สำเร็จ รวมถึงคำหน้าชื่อ และ Sex worker ด้วย นายเศรษฐากล่าว

ด้าน “วาดดาว-อรรณว์ ชุมาพร” ประธานและผู้ก่อตั้ง นฤมิตไพรด์ ในฐานะผู้จัดงาน “Bangkok Pride Festival 2024” กล่าวว่า ในฐานะนักจัดกิจกรรมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อให้งานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความเท่าเทียม

การจัดงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเฉลิมฉลอง เพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งต่อความรัก รวมทั้งพลังให้กันและกัน พร้อมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าชาว LGBTQIAN+ ซึ่งประกอบอาชีพที่หลากหลาย สามารถที่จะช่วยเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ด้วยความสามารถ ศักยภาพที่มีในการทำงาน

ไม่เพียง LGBTQIAN+ คนไทยที่มารวมตัวเฉลิมฉลองด้วยกัน ในครั้งนี้ยังมีตัวแทนผู้ที่เคยจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride ทั้ง อินเดีย แคนนาดา เซี่ยงไฮ้ ออสเตรเลีย อัมสเตอร์ดัม และอเมริกา มาร่วมเดินขบวนและเฉลิมฉลองที่ประเทศไทยในครั้งนี้ด้วย

โดยคาดการณ์ว่าทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน เกาหลี และประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียน เข้าร่วมเดินขบวนพาเหรดไม่น้อยกว่า 200,000 คน

5 ขบวน 5 นิยามความรัก

สำหรับการเดินขบวนพาเหรด เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาเทพหัสดิน และปล่อยขบวนที่ประตูใหญ่ หน้าอาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ ผ่านหน้า MBK สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บนถนนพระราม 1 มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์

โดยมีเวทีสำหรับดีเจ มาร่วมสร้างสีสัน พร้อมด้วยความสวยงามของธงสีรุ้งขนาดใหญ่ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย กว่า 200 เมตร ที่โบกสะบัดมาตั้งแต่เริ่มต้นขบวน พร้อมให้เหล่า LGBTQIAN+ ได้มาร่วมเดินเคียงข้างธงสีรุ้งไปด้วยกันตลอดเส้นทาง

ทั้งนี้ เมื่อขบวนเดินผ่านวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ได้มีการหยุดรำลึกถึงเพื่อนชาว LGBTQIAN+ ที่จากไป เพื่อให้ตระหนักถึงการต่อสู้ในด้านความเท่าเทียม และหวังให้ปัญหานี้ได้ยุติลงเสียที

สมรสเท่าเทียม

ขบวนที่ 1 “สมรสเท่าเทียม” (Love Wins) ปล่อยขบวน เวลา 15.00 น. มาพร้อมกับความจึ้งทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม ของกลุ่มคอมมูนิตี้ LGBTQIAN+ โดยสีประจำขบวน คือ สีแดง ซึ่งเป็นสีสากล ที่สื่อถึงความรักโรแมนติก โดยขบวนแรกจะสื่อสารถึงการเฉลิมฉลองความสำเร็จของการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

นำโดยขบวนคู่รักเพศหลากหลายมากกว่า 100 คู่ในชุดแต่งงาน และมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (FOR-SOGI) ตามด้วย Miss LGBT Thailand, Miss Magnetic Thailand, Miss Trans Beauty Thailand นอกจากตัวแทนของคู่รักแล้ว ยังมีตัวแทนของครอบครัวที่หลากหลายด้วย นำโดยมูลนิธิสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ที่มาพร้อมครอบครัวแม่แม่ลูก และครอบครัวเพศหลากหลายสุดอบอุ่น ปิดท้ายด้วยความน่ารักของกลุ่ม Pet family หรือ Pet Pride

นอกจากนี้ยังมี DRAG BANGKOK พร้อมด้วยชุมชน Fetish & BDSM , Drag Race Thai Fans (TBC) กลุ่มผู้หญิงข้ามเพศ Miss Trans Thailand,  Mister Tourism Thailand, Mister Gay World Thailand

ตัวตน

ขบวนที่ 2 “ตัวตน” (Love for Identity) ปล่อยขบวน เวลา 15.30 น. ต้องการสะท้อนถึง “เพศกำหนดเอง” สีประจำขบวน คือ สีเหลือง สีจากธงอัตลักษณ์ของเพศนอนไบนารี่ และอินเตอร์เซ็กซ์ สื่อถึงความสำคัญของการมีกฏหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศและเพศสภาพ

ขบวนนี้มีตัวแม่แดร็กไอคอน (DRAG ICON) ร่วมเดินพาเหรดเพียบ เพื่อแสดงพลังความแข็งแกร่งของตัวตนของคนทุกคน ที่มีสิทธิที่จะเลือกเป็น และแสดงออกในความเป็นตัวของตัวเองได้ถึงที่สุด

โดยเสริมทัพความสนุกกับหมอลำไอดอล คณะนิเทศศาสตร์ และวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มูลนิธิเอ็มพลัส และมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขบวนที่ 3 “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”  (Love for Dignity) ปล่อยขบวน เวลา 16.00 น. สีประจำขบวน คือ สีเขียว ซึ่งเป็นสีสากลของความรักตัวเอง สื่อถึงความรักในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความพิการ อาชีพ รสนิยมทางเพศ นำโดยขบวนพนักงานบริการทางเพศ ที่จะมาทวงคืนสิทธิการประกอบอาชีพ

นำโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กรุงเทพมหานคร คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ และ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามมาด้วย ชมรมความหลากหลากหลายทางเพศ โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี มูลนิธิ Five for All กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มทำทาง กลุ่ม I CAN THAILAND เป็นกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน LGBTQ ที่มีสโลแกนว่า “คนหูหนวกทำได้” สหภาพคนทำงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิความหลากหลาย

สันติภาพ

ขบวนที่ 4 “สันติภาพ” (Love for Peace & Earth) ปล่อยขบวน เวลา 16.30 น. สีประจำขบวน คือ สีฟ้า สีที่เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ เพื่อสื่อถึงการเรียกร้องสันติภาพให้เกิดขึ้นทั่วโลกและเคียงข้างให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและสงคราม

นำโดยขบวนของหน่วยงานองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย Asia Feminist LBQ Network อิสระและเสมสิกขาลัยเอเชีย กลุ่ม Roller – Inline skate and Longboard ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพของชุมชน LGBTQIAN+ พร้อมด้วยการรณรงค์ถึง Peace & Earth เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของโลกและทรัพยากรธรรมชาติเพื่ออนาคตที่เท่าเทียมและเป็นธรรมสำหรับทุกคน ทุกเพศ

นอกจากนี้ยังมีทัพนักแสดง ดาราในวงการบันเทิง นักแสดงซีรีย์ LGBTQIN+ ทั้งวายและยูริ จากค่าย BeOnGroup Entertainment และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ตามด้วย กลุ่มแซฟฟิกและหญิงรักหญิง อาทิ GIRLxGIRL Les Hi Bar รวมถึง ILGA Asia Miss Queen & Mister LGBTQ Deaf Thailand 2024 x Deaf Model Thailand 2024

“เสรีภาพ”

ขบวนที่ 5 “เสรีภาพ”  (Love for Freedom) ปล่อยขบวน เวลา 17.00 น. สีประจำขบวน คือ สีม่วง สีที่สื่อถึง “อิสระและ เสรีภาพ” ในการแสดงออก ซึ่งสมัยก่อนถูกใช้เป็นสีของกลุ่มเกย์ ที่สังคมมองว่ามีการแสดงออกที่แตกต่างจากบรรทัดฐานของสังคมรักต่างเพศ สีม่วงในขบวนนี้จึงถูกตีความให้เป็นสีของความกล้าหาญ ที่แสดงออกทั้งด้านความคิด รสนิยมทางเพศ และจิตวิญญาณ

นอกจากนี้ยังมี กิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือ Bangkok Pride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ ที่เต็มอิ่มด้วยสีสันมหกรรมความบันเทิงผ่านคอนเสิร์ต และโชว์สุดตระการตาจาก  Tiffany’s Show Pattaya  พร้อมด้วยศิลปินชื่อดังขวัญใจ LGBTQIAN+ อาทิ หวาย ปัญญ์ธิษา, SIN SINGULAR, Thammachad, Hard Boy & ไจ๋ ซีร่า, การแสดงประวัติศาสตร์ Sex Worker, การกล่าวถ้อยแถลงจากชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ทำให้ทึ่ง และภูมิใจในความยืนหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์จากเหล่า LGBTQIAN+

ทั้งนี้ ยังมีขบวนย่อยมากกว่า 130 ขบวน ที่มาร่วมแสดงพลัง LGBTQIAN+ ในงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ด้วย

การจัดงาน “บางกอกไพรด์ เฟสติวัล 2024” (Bangkok Pride Festival 2024) ถือเป็นอีกหนึ่งพลังที่แสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลัง พร้อมส่งต่อการจัดงานไพรด์ทั่วประเทศไทยอีกมากกว่า 30 ครั้ง ใน 23 จังหวัด เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับ LGBTQIAN+ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง

โดยความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ “นฤมิตไพรด์” ในฐานะผู้จัดงาน พร้อมมุ่งมั่นสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ คือ Road to Bangkok WorldPride ในปี 2030 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของ LGBTQIAN+ จากทั่วโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้สามารถเฉลิมฉลองความไพรด์ได้ตลอดทั้งปี