อารักษ์ พรประภา สนุกกับธุรกิจมอเตอร์ไซค์ HONDA แต่ไม่คิดให้ทายาทบริหารต่อ

ดร.อารักษ์ พรประภา
ดร.อารักษ์ พรประภา และภรรยา
 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

รถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เป็นยานพาหนะยอดนิยมและเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทยมานานหลายทศวรรษ นั่นเพราะราคาที่คนทั่วไปเข้าถึงและครอบครองได้ง่ายกว่ารถยนต์ บวกกับคุณสมบัติเด่นอย่างหนึ่งของรถมอเตอร์ไซค์คือความคล่องตัว สามารถซอกแซกหลีกหนีปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงข้อจำกัดด้านพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในประเทศไทยมีรถมอเตอร์ไซค์ยอดนิยมอยู่ 2 แบรนด์ แบรนด์ที่ครองอันดับ 1 ของตลาดคือ ฮอนด้า (HONDA) ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ซึ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น

เอ.พี. ฮอนด้า ก่อตั้งเมื่อปี 2529 โดย ดร.ไพโรจน์ พรประภา ปัจจุบัน เอ.พี. ฮอนด้า อยู่ในการดูแลของเจเนอเรชั่นที่ 2 นำโดย ดร.อรรณพ พรประภา และ ดร.อารักษ์ พรประภา ซึ่งเป็นยุคที่ เอ.พี. ฮอนด้า รุ่งเรืองเติบโตเป็นอย่างมาก

เคยได้ยินมาว่า ธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์เป็นธุรกิจที่ดุเดือดและมีสีสันมาก จะดุเดือดมีสีสันอย่างไร คงต้องให้คนที่อยู่ในธุรกิจนี้เล่าให้ฟังเอง

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คุยกับ ดร.อารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด เกี่ยวกับความสนุกสนาน ความมีสีสันของธุรกิจนี้ และแง่มุมส่วนตัวของเขากับธุรกิจนี้ ทั้งความรัก ความผูกพัน ประสบการณ์ส่วนตัวตั้งแต่อยู่ในฐานะลูกชายเจ้าของบริษัทผู้จำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์อันดับ 1 จนถึงช่วงเวลาที่ก้าวขึ้นมาดูแลธุรกิจเอง

ดร.อารักษ์ พรประภา ผู้ชายผมหน้าม้าวัย 65 ปี ที่ปรากฏตัวในเสื้อฮอนด้าเสมอ ๆ เล่าความผูกพันของเขากับรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้าให้ฟังมากมาย เริ่มตั้งแต่วัยเด็กเท่าที่เขาจำความได้ว่า คุณปู่ของเขา (เรียกว่าอากง) เปิดร้านเซียงกงและร้านขายรถจักรยานยนต์แถววงเวียนโอเดียน เดิมทีในกงสีของตระกูลขายรถมอเตอร์ไซค์ 3 ยี่ห้อ คือ ยามาฮ่า ซูซูกิ และฮอนด้า สมัยเรียนประถมและมัธยม อารักษ์เรียนอยู่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก หลังเลิกเรียนเขาเดินจากโรงเรียนไปเล่นที่เซียงกงเป็นประจำ จึงได้เห็นได้ผูกพันกับรถมอเตอร์ไซค์มาตลอด

ต่อมา หลังจากคุณปู่เสีย คุณพ่อของเขา คือ ดร.ไพโรจน์ พรประภา ได้แยกออกมาตั้งบริษัทขายเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า เมื่อ พ.ศ. 2529 เป็นจุดกำเนิดบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด บริษัทผลิตและจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ที่ครองอันดับ 1 ในตลาดมายาวนานกว่า 30 ปี ทำให้ตัวเขาผูกพันกับฮอนด้ามากกว่าแบรนด์อื่น

อารักษ์ พรประภา ลูกชายคนสุดท้องของผู้ก่อตั้ง เอ.พี. ฮอนด้า เข้าทำงานในบริษัทเมื่อปี 2531 ตอนอายุ 34 ปี หลังจากร่ำเรียนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในต่างแดน ทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

รองประธานฯ เอ.พี. ฮอนด้า เล่าถึงการศึกษาและประสบการณ์การทำงานของตัวเองว่า เขาเลือกเรียนปริญญาตรีด้านภูมิศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยไม่ได้คำนึงว่าที่เลือกเรียนนั้นไม่เกี่ยวพันกับธุรกิจของครอบครัวเลยสักนิด แต่ก็โชคดีที่คุณพ่อและครอบครัวไม่ได้ว่าหรือทักท้วงอะไรเลย

ระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนุ่มกรุงเทพฯคนนี้ได้พบสาวคนรัก นั่นก็คือ สุรีย์พร ซึ่งคบหาและพัฒนาความสัมพันธ์กันจนแต่งงานเป็นภรรยาสุดที่รักของเขา และมีทายาทด้วยกันถึง 4 คน

หลังเรียนจบปริญญาตรี อารักษ์ไปเรียนด้านบริหารธุรกิจที่ซานดิเอโก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2520 เขาเล่าอย่างติดตลกว่า “ตอนนั้นดีใจว่าจะได้ไปเจอเอลวิส เพราะชอบเอลวิสมาก แต่ปรากฏว่ากว่าจะได้ไป เอลวิสตายแล้ว” (พูดและหัวเราะ) เขาอธิบายเสริมอีกว่า ที่จริงจะต้องไปในช่วงต้นปี แต่ติดที่ยังไม่อยากรีบจากบ้านไป จึงเลื่อนไปเรื่อย ๆ จนถึงเดือนธันวาคม หลังจากที่เอลวิสเสียชีวิตในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนั้น

ระหว่างเรียนโทอยู่ที่อเมริกา เขากลับเมืองไทยมาแต่งงาน และพาภรรยาไปอยู่ที่อเมริกาด้วยกัน หลังเรียนจบ เขาทำงานอยู่ที่อเมริกา 3 ปี ตอนแรกคิดว่าจะทำงานใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นถาวร แต่อยู่ไปสักระยะหนึ่งรู้สึกว่าอยู่ไม่ไหว เพราะต้องจ่ายภาษีเยอะ และไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคมเลย จึงคิดว่ากลับมาเมืองไทยดีกว่า

ก่อนจะเริ่มทำงานที่บริษัท อารักษ์ได้มีประสบการณ์แสนสนุกในต่างแดน เนื่องจากคุณพ่อของเขาบอกว่า อยากให้ไปฝึกงานที่บริษัทฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาปีครึ่ง เขาก็ตอบตกลงอย่างไม่อิดออด

แม้ว่าจะเป็นลูกเจ้าของธุรกิจที่เมืองไทย แต่การฝึกงานที่ญี่ปุ่นต้องเรียนรู้ตลอดทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ เขาจึงต้องทำทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นแรงงานในโรงงาน ทำงานเหมือนกับพนักงานโรงงานทั่วไป

“เริ่มจากฝึกงานที่โรงงานฮอนด้า ในไซตามะ ได้ทำงานในโรงงาน 6 เดือน หมุนเวียนทำงานเรียนรู้งานทุกส่วน ทั้งโรงงานรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ ได้ร้อยนอต ใส่กระจก ฯลฯ หลังจากทำในโรงงาน 6 เดือน ก็ได้หมุนเวียนไปเรียนรู้งานส่วนอื่นในสำนักงานใหญ่ อย่างเช่น การเป็นเซล ต้องเข็นและยกรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นรถกะป๊อไปส่งที่ร้านตัวแทนจำหน่าย รวมถึงไปล้างรถที่ร้านด้วย เพื่อให้รถของฮอนด้าดูใหม่กว่าของยี่ห้ออื่น ให้ลูกค้าอยากซื้อ เพราะที่ร้านตัวแทนจำหน่าย เขาขายรถหลายยี่ห้อ” รองประธานฯ เอ.พี. ฮอนด้า เล่าความหลังพร้อมทำท่าประกอบให้ดูอย่างสนุกสนาน ทั้งท่าร้อยนอตและท่ายกรถ

เขาบอกว่าประสบการณ์สำคัญที่แดนอาทิตย์อุทัย คือ ได้เห็นการทำงานแบบคนญี่ปุ่นที่ใส่ใจทุกรายละเอียด ใส่ใจการบริการหลังการขาย การทำงานจริงจัง ตรงเวลา ไม่คุยในเวลางาน ไม่กินอาหารในเวลางาน ซึ่งนี่คือสิ่งที่เรียนรู้มา และเขาคิดอยู่เสมอว่า อยากให้คนไทยมีวินัย และมีความจริงจังเหมือนคนญี่ปุ่น

หลังกลับจากฝึกงานที่ญี่ปุ่น อารักษ์เข้าทำงานที่บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า แต่คราวนี้ไม่ได้ทำงานใช้แรงงานเหมือนที่ญี่ปุ่นแล้ว “ได้ตำแหน่งหรูเลย เพราะว่าเป็นลูกเจ้าของ พ่อก็ตั้งให้ตำแหน่งหรูเลย” เจ้าตัวบอกและหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

จากนั้นเขาพูดถึงความสนุกในการทำธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์ว่า ความสนุกในการทำงาน คือ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่แข่งขันดุเดือด เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องชิงไหวชิงพริบกันตลอดเวลา อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ ต้องแอ็กทีฟ ต้องคิด ตื่นตัวตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะไม่ทันคู่แข่ง

ความดุเดือดในธุรกิจรถมอเตอร์ไซค์นั้นมีมาแต่ไหนแต่ไร ดังที่อารักษ์เล่าว่า ในสมัยที่คุณพ่อของเขาเริ่มทำธุรกิจรถจักรยานยนต์ฮอนด้าใหม่ ๆ นั้น มีคู่แข่งที่ขายฮอนด้าเหมือนกันอีกหลายบริษัท แต่ต่อมาบริษัทอื่น ๆ เลิกกิจการไป จึงเหลือ เอ.พี. ฮอนด้า เจ้าเดียว

ถึงแม้เป็นเจ้าเดียวที่ขายฮอนด้า แต่รองประธานฯ เอ.พี. ฮอนด้า บอกว่า การแข่งขันในยุคหลังก็ไม่ได้น้อยลงไปเลย ยังคงดุเดือด ยาก และท้าทายมากขึ้น ในยุคที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงเร็ว กลยุทธ์การตลาดที่จะใช้แข่งขันก็ยิ่งต้องเร็วขึ้น และต้องฟังไอเดียจากคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ ลูกค้าเป็นคนรุ่นใหม่ จะใช้กลยุทธ์การตลาดแบบคนยุคเก่าไม่ได้แล้ว

ในเรื่องการรักษาตำแหน่งที่หนึ่งและการครองใจลูกค้า อารักษ์บอกว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการสร้างโปรดักต์ที่มีคุณภาพก็คือ มาตรฐานการบริการ บริษัทจึงต้องดูแลตัวแทนจำหน่ายให้บริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่แบรนด์สร้างไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลตัวแทนจำหน่ายให้เหมือนครอบครัว ต้องเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งประการหลังนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อของเขาให้ความสำคัญ และส่งต่อมาถึงปัจจุบัน

“คนที่ทำงานที่นี่จะทราบดีว่า ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าคิดจะทำก็ต้องทำให้ได้ และทำด้วยคุณภาพ ทำด้วยใจ และทำด้วยความสนุกสนาน”

อย่างที่กล่าวไปว่า รถมอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่คนจำนวนมากเข้าถึงได้ และเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนไทย แต่ขณะเดียวกัน มอเตอร์ไซค์ก็ถูกมองว่าเป็นยานพาหนะที่อันตราย ดังที่มีคำกล่าวว่า “เนื้อหุ้มเหล็ก” ประเด็นนี้ อารักษ์มองว่า ขึ้นอยู่ที่ผู้ขับขี่เป็นสำคัญ ถ้าขับขี่ถูกต้องตามวิธีและกฎระเบียบ ปัญหาอุบัติเหตุและความเสียหายก็จะน้อย

ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่มาตั้งแต่ต้น เอ.พี. ฮอนด้า ได้ทำกิจกรรม หรือโครงการให้ความรู้ สร้างวินัยในการขับขี่ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ และเพื่อนร่วมท้องถนน และล่าสุดโครงการ “สังคมหัวแข็ง” เป็นโครงการนำร่องรณรงค์สวมหมวกกันน็อก ซึ่งฮอนด้าทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว

สำหรับอนาคตของ เอ.พี. ฮอนด้า อารักษ์บอกว่า แม้ว่าโดยส่วนตัวรัก ผูกพัน และรู้สึกว่าเป็นธุรกิจที่สนุก แต่ไม่ได้คิดว่าจะต้องให้ทายาทเข้ามาบริหารต่อ คิดว่าจ้างนักบริหารมืออาชีพบริหารดีกว่า เพราะการดำเนินธุรกิจแบบสืบทอดกิจการครอบครัวก็มีจุดอ่อน คือ ถ้ามัวแต่รักษาวัฒนธรรมเก่า ๆ แล้วเปลี่ยนแปลงไม่ทันโลก ธุรกิจก็อาจจะไปไม่รอด

อารักษ์บอกอีกว่า การทำงานของเขาในปัจจุบัน แค่ให้นโยบายและดูอยู่ห่าง ๆ ไม่ลงไปดูรายละเอียด เรื่องบริหารปล่อยให้นักบริหารมืออาชีพจัดการ

“เราบอกว่าเราต้องการให้น้ำเต็มแก้ว เราก็ดูแค่ว่าน้ำมันเต็มหรือยัง ส่วนเขาจะเติมตอนไหน เวลาไหน เราไม่สน” เขาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

ขณะเดียวกันนั้น พนักงานที่นั่งอยู่ด้วยได้พูดถึงเจ้านายว่า “มีไว้ออกงาน” ซึ่งผู้บริหารคนนี้ก็ยอมรับว่า ชอบออกงาน ชอบเดินทาง ชอบพบปะผู้คน งานต่างจังหวัดยิ่งชอบ ใกล้หรือไกลแค่ไหนก็ไป

ที่ชอบออกงานต่างจังหวัดนั้นก็สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่เจ้าตัวบอกว่า ชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว ชอบพาครอบครัวเดินทางไปดูอะไรแปลกใหม่ และชื่นชอบการขับขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับกลุ่มเพื่อนด้วย

พูดได้ว่าชีวิตของคนชื่อ “อารักษ์ พรประภา” นั้นแสนสนุกสนาน กับยานพาหนะ “มอเตอร์ไซค์” ทั้งในชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวจริง ๆ