อีลอน มัสก์ กับแนวคิดหลากหลาย แต่เป้าหมายหนึ่งเดียวคือ ช่วยเหลือมวลมนุษย์

Photo by Justin Sullivan/Getty Images
ภาคิน วลัยวรางกูร : เรื่อง

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ชื่อของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) มีพื้นที่บนหน้าสื่อมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปีนี้ ชายวัย 48 ปี เจ้าของฉายา “Iron Man” ก็ยังคงมีอะไรออกมาให้เป็นข่าวอยู่เสมอ นับเฉพาะครึ่งปีหลัง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่เขาเปิดตัวโครงการนิวรัลลิงก์ (Neuralink) ที่มีแนวคิดสุดล้ำในการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเข้ากับสมองมนุษย์ ต่อด้วยการดีเบตกับ แจ็ก หม่า (Jack Ma) ในงาน World AI Conference ในวันที่ 29 สิงหาคม ว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์และอนาคตของมวลมนุษยชาติ มาจนถึงการเปิดตัวรถกระบะพลังงานไฟฟ้า Cybertruck เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก

จากผลงานที่ผ่านมาของ อีลอน มัสก์ ชัดเจนว่าเขาถูกจัดให้เป็นหนึ่งในนักธุรกิจประเภท “serial entrepreneur” ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจที่มีกิจการและแนวความคิดใหม่ ๆ ออกมาเสมอ

ด้วยความมากด้วยไอเดียที่นำไปสู่การสร้างสิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่อย่างต่อเนื่องนี่เอง ทำให้เขายังคงเป็นบุคคลที่น่าสนใจและน่าจับตามอง ไม่ว่าจะในปีหน้าหรือปีต่อ ๆ ไป และหากมองย้อนไปถึงสิ่งที่เขาทำออกมาในอดีตก็น่าสนใจว่าโปรเจ็กต์ล้ำ ๆ เหล่านั้นออกมาจากแนวคิดแบบไหน “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงได้รวบรวมข้อมูลและแนวคิดต่าง ๆ ที่เขาคิดและทำออกมาผ่านทาง 4 บริษัทหลักของเขา ดังต่อไปนี้

Photo by Joe Raedle/Getty Images

SpaceX และการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2528 อีลอน มัสก์ ในวัย 14 ปี ได้อ่านหนังสือ “The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy” เขียนโดย ดักลาส อดัมส์ (Douglas Adams) เป็นนวนิยายวิทยาศาสตร์ตลกร้ายเสียดสี ว่าด้วยเรื่องของการท่องไปในอวกาศของมนุษย์โลกเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากจุดจบของโลก โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ต่างดาว ในตอนหนึ่งของหนังสือระบุถึงตัวเลข 42 ว่า หมายถึงคำตอบของชีวิต จักรวาลและสรรพสิ่งทั้งมวล ตัวเลขดังกล่าวถูกคำนวณโดยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ แต่มันกลับไม่รู้ว่าคำถามที่จะนำไปสู่เลข 42 คืออะไร

หลังจากอ่านหนังสือชุดนี้ อีลอน มัสก์ ค้นพบความหมายอะไรบางอย่างในชีวิต และตั้งปณิธานว่าจะช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ

เรื่องราวการท่องอวกาศติดอยู่ในใจของเขามาตลอด จนช่วงปลายปี 2543 มัสก์ในวัย 29 ปี ย้ายมาอยู่ที่ลอสแองเจลีส และเริ่มเรียนรู้การสร้างจรวดจากการอ่านหนังสือ ปีถัดมาเขาเดินทางไปรัสเซียเพื่อขอซื้อจรวดสำหรับปฏิบัติภารกิจโอเอซิสบนดาวอังคาร (Mars Oasis) หวังจะสร้างกรีนเฮาส์และปลูกพืชที่นั่น แต่การเจรจาล้มเหลว เขาพบว่าราคาจรวดแพงเกินไป เขาคำนวณว่าต้นทุนของจรวดเป็นเพียง 3% ของราคาขาย เขาจึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพื่อสร้างจรวดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายระยะยาว คือ การสร้างอาณานิคมมนุษย์บนดาวอังคาร

ในปี 2558 บริษัทของเขาสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการนำจรวดลงจอดได้สำเร็จเป็นครั้งแรก และต่อยอดในปี 2560 โดยการนำจรวดที่ใช้แล้วส่งดาวเทียมขึ้นอวกาศได้สำเร็จ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

ในปัจจุบัน บริษัทสเปซเอ็กซ์มุ่งมั่นกับโครงการ “Interplanetary Transportation System” (ระบบขนส่งมนุษย์ระหว่างดวงดาว) โดยทำการทดลองปล่อยจรวดรุ่นต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการโดยสารมนุษย์บนเส้นทางอวกาศอย่างปลอดภัยและรวดเร็วที่สุด

Tesla กับรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด

มัสก์ไม่ได้มองแค่การพาเพื่อนมนุษย์ออกไปสร้างอาณานิคมใหม่บนดาวอังคารเท่านั้น แต่ยังมองถึงการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นด้วย ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับโครงการโอเอซิสบนดาวอังคาร เขาคิดเรื่องการสร้างรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เขาจึงก่อตั้งบริษัทเทสลาขึ้นมาในปี 2546 และสิ่งนี้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2551 เทสลา โรดสเตอร์ (Tesla Roadster) เป็นรถยนต์รุ่นแรกที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด เก็บพลังงานในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งการใช้พลังงานไฟฟ้านั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องเผาไหม้เชื้อเพลิงเหมือนรถที่ใช้พลังงานน้ำมัน

มัสก์ไม่ได้หยุดแค่การพัฒนารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% แต่ยังได้พัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติที่สามารถขนส่งผู้โดยสารข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างง่ายดาย และเพิ่งมีการอัพเกรดระบบปฏิบัติการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ณ ปัจจุบัน มีรถยนต์เทสลาอยู่บนท้องถนนทั่วโลกมากกว่า 800,000 คัน (นับถึงเดือนกันยายน 2019) ยอดขายทิ้งห่างรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้ายี่ห้ออื่นในตลาดหลายช่วงตัว

ล่าสุด บริษัทเทสลาเพิ่งเปิดตัวรถกระบะ Cybertruck สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก ด้วยรูปทรงโพลิกอนที่แปลกตาในราคาที่จับต้องได้

อย่างไรก็ตาม แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากถ่านหิน เพราะเป็นแหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด ซึ่งถ่านหินก็ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุดเช่นกัน ถึงแม้ว่าก๊าซดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างอาหารของพืช แต่ด้วยปริมาณที่ถูกปล่อยออกมาในปัจจุบันมีมากจนเกินไป จนกลายเป็นมลพิษและส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกโดยตรง เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาจึงทุ่มเทกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สร้างบริษัทโซลาร์ซิตี้ คอร์ปอเรชั่น (SolarCity Corporation) ขึ้นมาเป็นบริษัทลูกของเทสลา เพื่อการผลิตแผงโซลาร์เซลล์และพาวเวอร์วอล ในการเก็บพลังงานสำหรับรถยนต์และการใช้งานด้านอื่น ๆ ในอนาคต

สอดคล้องกับที่เขาเคยกล่าวเอาไว้เมื่อปี 2559 ว่า “คนมักจะคิดว่าเทสลาเป็นเพียงบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เทสลามีอยู่เพื่อการมาถึงของพลังงานที่ยั่งยืน”

Photo Illustration by Rafael Henrique/SOPA Images/LightRocket via Getty Images

Neuralink เชื่อมโยงสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์

นิวรัลลิงก์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ อีลอน มัสก์ ก่อตั้งในปี 2560 และเพิ่งมีการแถลงข่าวเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ 2 เป้าหมาย

เป้าหมายแรก มัสก์ต้องการช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย อย่างเช่น ผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ให้สามารถควบคุมการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้ตามความรู้สึกนึกคิดโดยตรง ผ่านเทคโนโลยี “สายสื่อประสาท” (threads) ที่เชื่อมต่อเข้าสู่สมอง หากเทคโนโลยีนี้สำเร็จ ก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลทั่วไปในการควบคุมคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนผ่านความคิดโดยตรงได้

เป้าหมายที่สอง มัสก์มองปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่าอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ เพราะเห็นว่าอัตราก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์เป็นไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการประมวลผลจากสมองของมนุษย์ที่เชื่องช้ากว่ามาก ซึ่งเขามองว่าโครงการนิวรัลลิงก์ของเขาจะสามารถแก้ไขความเป็นปฏิปักษ์ของปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่อมนุษย์ โดยการเชื่อมโยงทั้ง 2 อย่างเข้าด้วยกัน และอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน

เขากล่าวว่า “ทุกวันนี้เราก็เป็นมนุษย์กึ่งไซบอร์กกันอยู่แล้ว เราใช้สมาร์ทโฟนประหนึ่งอวัยวะอีกชิ้น เราแค่ไม่สามารถฉลาดเท่าที่เราควรจะเป็น เพราะการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่เราได้รับจากโทรศัพท์สู่สมองของเรานั้นช้าเกินไปเท่านั้นเอง”

Photo by Robyn Beck-Pool/Getty Images

The Boring Company ขุดอุโมงค์ขนส่งที่เร็วกว่าเครื่องบิน

ชื่อ เดอะ บอริง คอมปานี (The Boring Company) หากอ่านชื่อภาษาอังกฤษผ่าน ๆ อาจจะเข้าใจว่าหมายถึง”บริษัทที่น่าเบื่อ” อย่างไรก็ตาม คำคำนี้ยังแปลว่า “การขุดเจาะ” ได้อีกด้วย ซึ่งการที่มัสก์ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาในปี 2560 นั้น มีที่มาจากการที่เขาเหนื่อยหน่ายกับปัญหารถติดในเมืองลอสแองเจลีส ซึ่งในตอนแรก บริษัทนี้อยู่ภายใต้บริษัทสเปซเอ็กซ์ ก่อนที่จะแยกตัวออกมาในปีถัดมา

เป้าหมายสำคัญของมัสก์ในการก่อตั้งบริษัทนี้คือ การขุดอุโมงค์เพื่อใช้ในโครงการ “ลูป” (loop) และ “ไฮเปอร์ลูป”(hyperloop) ซึ่ง ลูป คือ ระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล ทำความเร็วได้ราว 250 กม./ชม. ในปัจจุบันบริษัทได้ดัดแปลงรถยนต์เทสลารุ่น Model X และทำการขยายโครงรถเพื่อรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 16 คน ส่วนไฮเปอร์ลูป คือ ระบบขนส่งสาธารณะความเร็วสูง เป็นการเดินทางด้วยท่อแคปซูลผ่านอุโมงค์สุญญากาศ ด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ไม่มีแรงเสียดทานจากล้อและลม จึงเป็นการใช้พลังงานที่ประหยัดที่สุด และสามารถทำความเร็วได้ถึงกว่า 965 กม./ชม. ซึ่งเร็วกว่าเครื่องบินโดยสารที่ทำความเร็วราว 700-900 กม./ชม. เท่านั้น

นอกจากนั้น บริษัทนี้ยังเป็นแกนหลักของมัสก์ในช่วงกลางปี 2561 ที่มัสก์และลูกทีมได้ประดิษฐ์ “เรือดำน้ำจิ๋ว” เพื่อนำมาช่วยเหลือปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย ถึงแม้ว่าระหว่างปฏิบัติการ จะไม่ได้ใช้อุปกรณ์ของเขา แต่ก็ทำให้ชื่อของอีลอน มัสก์ เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยในวงกว้างขึ้น

จากทั้ง 4 บริษัทที่เป็นตัวแทนขับเคลื่อนแนวความคิดที่หลากหลายของมัสก์นั้น เราจะเห็นได้ว่าทุกแนวคิดนั้นมีความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือมวลมนุษยชาติ ถึงแม้ว่า 3 ใน 4 แนวคิดจะยังดูห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก ทั้งการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารที่ยังต้องใช้เวลาและการทดสอบอีกมาก ส่วนการเชื่อมสมองของมนุษย์ให้เข้ากันกับคอมพิวเตอร์ หรือปัญญาประดิษฐ์ ก็ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ยังไม่นับเรื่องของจริยธรรม หรือความกังวลว่าข้อมูลในสมองของเราจะถูกจัดเก็บไว้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือไม่ หรือเรื่องของอุโมงค์ขนส่งที่ต้องใช้เงินทุนมหาศาลจนอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการก่อสร้าง

แต่ถึงอย่างนั้น หากการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคารเป็นจริงขึ้นมาได้ มนุษย์เราก็จะมีดวงดาวสำรองให้ได้อยู่อาศัยและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป หากวันหนึ่งดาวโลกใบนี้ต้องถึงกาลอวสาน หากเราสามารถเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกับคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ได้ เราอาจจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตขั้นวิวัฒน์ เราอาจจะได้เห็นผู้ทุพพลภาพใช้ชีวิตได้อย่างปกติผ่านการสั่งงานอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ ทางความคิด หรือหากระบบขนส่งทางอุโมงค์เป็นจริงขึ้นมาได้ การเดินทางรอบโลกอาจจะไม่ได้ไกลอย่างที่คิด หรือหากในอนาคต ทั่วโลกหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยให้อุณภูมิของโลกลดลงไปได้ถึงเพียงไหน

ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า อีลอน มัสก์ จะเป็นเพียงนักธุรกิจสติเฟื่อง หรือเป็นอัจฉริยะเปลี่ยนโลก แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน เขาก็น่าจะเป็นบุคคลที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกเอาไว้ เพราะแต่ละโครงการที่เขาคิดและทำขึ้นมานั้นเปี่ยมไปด้วยพลังความกล้า และความมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงโลกและดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างแท้จริง