“คำปุน” ผ้าไทยไฮเอนด์ มีคุณค่าจนเลือกลูกค้าได้ ขายดีไม่หวั่นโควิด

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง 

ไม่ว่าใครจะได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างไร แต่ธุรกิจหนึ่งที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลยก็คือ ธุรกิจผ้าไทยระดับไฮเอนด์ ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้ฟังข้อเท็จจริงข้อนี้จากปากของ เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา แห่ง “คำปุน” แบรนด์ผ้าไทยระดับไฮเอนด์จากจังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็นผู้เล่นรายสำคัญในธุรกิจนี้

มีชัย หรือ “อาจารย์เถ่า” ของคนในวงการผ้าไทยบอกว่า ภาพรวมวงการผ้าไทยได้รับผลกระทบเหมือนกันกับวงการอื่น แต่สำหรับผ้าไทยระดับไฮเอนด์ และงานหัตถกรรมไฮเอนด์ทุกอย่างยังพออยู่ได้ เพราะผู้บริโภคระดับนี้ยังไม่ได้รับผลกระทบเท่าไหร่นัก

“คำปุน” เป็นแบรนด์ผ้าไทยจากจังหวัดอุบลราชธานีที่ผู้ใช้ผ้าไทยรู้จักและเชื่อถือในคุณภาพกันมานานหลายสิบปี พูดได้เต็มปากว่าเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมาก

ผ้าของคำปุนมีทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย มีตั้งแต่ผ้าสีพื้นธรรมดา ๆ ไปจนถึงผ้าที่ทอด้วยเทคนิคที่ซับซ้อน ซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในไทยที่ทำได้ อย่าง “ผ้ามัดหมี่สอดไหมคำของคำปุน” ซึ่งผสาน 4 เทคนิคเข้าด้วยกัน เป็นนวัตกรรมการทอผ้าที่น่าทึ่งจนได้รับรางวัล Award of Excellence for Handicraft Products จาก UNESCO

ส่วนเรื่องราคามีตั้งแต่ราคาหลาละหลักพันไปจนถึงหลักแสน

หลักแสนเป็นราคาที่ทางร้านตั้งตอนวางขายเท่านั้น แต่ผ้าของคำปุนเมื่อไปอยู่ในมือลูกค้าและเมื่อผ่านกาลเวลาไปแล้ว จะกลายเป็นสินค้ามือสองที่ราคาพุ่งขึ้นหลายเท่าตัว อย่างเช่น ผ้าบางผืนที่ร้านเคยตั้งราคาขาย 100,000 บาท เมื่อผ่านไปหลายปีเจ้าของร้านทราบจากลูกค้าว่า ซื้อผ้าผืนนี้ต่อมาจากคนอื่นในราคา 700,000 บาท

ผ้าบางผืนได้รับข้อเสนอขอซื้อในราคาหลักล้าน แต่เจ้าของไม่ขาย

ลูกค้าของคำปุนมีกำลังซื้อและมีความต้องการซื้อผ้าแบรนด์โปรดอย่างต่อเนื่อง มีคนตั้งตารอว่าคำปุนจะทอผ้าผืนใหม่ออกวางขายเมื่อไหร่ และผ้าที่ออกมาในแต่ละปีจะถูกรังสรรค์ออกมาเป็นแบบไหน เหมือนคอลเล็กเตอร์ที่รอซื้อผลงานของศิลปินคนโปรดโดยไม่ทราบว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร แต่รอคอยด้วยความชื่นชอบและเชื่อถือในตัวศิลปินท่านนั้น

เมื่อความต้องการซื้อมีมาก แต่กำลังการผลิตมีไม่มากพอสำหรับทุกคน จึงมีลูกค้าหลายคนที่ต้องอกหักกันไป และเมื่อพลาดแล้วก็พลาดเลย เพราะคำปุนจะไม่ทอผ้าลายเดิมสีเดิมซ้ำอีก (หมายถึงผ้าที่ออกแบบลวดลายพิเศษ ส่วนผ้าสีพื้นธรรมดายังทอขายตลอด) ลูกค้าที่ได้ผ้าแต่ละผืนไปจึงเหมือนได้สินค้าที่จะเอ็กซ์คลูซีฟ เพราะมีเพียงไม่กี่ผืนเท่านั้น หรือบางลอตก็อาจจะมีเพียงหนึ่งเดียว

มีชัย เปิดเผยกับ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คนที่สะสมผ้าที่มูลค่าสูง ๆ ของคำปุนไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นแม่ค้าร้านก๊วยจั๊บที่อยู่ใกล้ ๆ ร้านคำปุนนั่นเอง ส่วนลูกค้าในกรุงเทพฯเขาไม่กล้าระบุชื่อ บอกได้เพียงว่า “มหาเศรษฐีที่ติดอันดับทั้งหลายในประเทศไทยไม่มีท่านไหนที่ไม่มีผ้าของคำปุน” รวมถึงนายกรัฐมนตรีเกือบทุกคนในยุคที่คำปุนเริ่มมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันล้วนเคยใส่เสื้อที่ตัดจากผ้าของคำปุน

เขาเปิดเผยดีเทลเรื่องการทอผ้าให้บุคคลสำคัญหรือลูกค้าที่สั่งล่วงหน้าว่า ต้องดูว่าลูกค้ารูปร่างอย่างไร สีผิวประมาณไหน จะเอาผ้าไปใช้ตัดเสื้อหรือชุดประมาณไหน แล้วคิดว่าควรจะทำสีเฉดไหน เท็กซ์เจอร์อย่างไร อย่างเช่น สีเหลืองก็มีหลายเฉด ต้องทำให้เหมาะกับผู้ใช้ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นนายกฯร้านก็ไม่ได้ทอให้เผื่อเลือก นายกฯก็ไม่ได้มีสิทธิเลือกมากกว่าลูกค้าทั่วไป

“เราดูเรื่องเฉดสีและเนื้อผ้า จะใช้ไหมขนาดไหน มีความเงาความหยาบขนาดไหน แม้กระทั่งผ้าสีพื้น อย่างผ้าตัดชุดแต่งงานที่เป็นผ้าไหมสีครีม เราก็ไม่ใช่สีครีมธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทอได้ มันเป็นเรื่องของเนื้อผ้า คุณภาพของเส้นไหมที่เราใช้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่พูดนี่ไม่ได้รวมผ้าที่มีความประณีตซับซ้อนนะครับ พูดแค่ผ้าสีพื้น อย่างลูกค้าบางท่านที่ต้องการนำผ้าไปให้ศิลปินแห่งชาติอย่างพี่ป้อม ธีระพันธ์ตัดให้ เจ้าสาวก็บอกว่า ขอให้พี่ป้อมเมตตาตัดชุดให้โดยที่ผ้าต้องเป็นของคำปุนเท่านั้น ซึ่งผมถามว่าใคร ๆ ก็ทอได้นี่ครับ แต่ลูกค้าบอกว่าไม่ได้ค่ะ ต้องเป็นของคำปุนเท่านั้น”

“ความรู้สึกแบบนี้มันพิเศษมาก แม้กระทั่งผ้าไหมสีครีมที่ดูไม่ออกว่าเป็นผ้าของใคร ทำไมลูกค้าต้องให้คำปุนทอ เพราะว่าคำว่าแบรนด์คำปุนทำให้เจ้าสาวท่านนี้รู้สึกภาคภูมิใจ ผมไม่รู้ตัวเลยว่ามันเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ที่เราได้รับความเชื่อถืออย่างนี้ มันค่อย ๆ สั่งสมขึ้นมาจากการที่เรารับผิดชอบในงานของเรา”

ด้วยความซาบซึ้งใจที่ลูกค้าให้เกียรติ จึงเป็นเหตุผลที่คำปุนทอผ้าทุกระดับที่ลูกค้าต้องการ ไม่ใช่ว่าจะเลือกทำเฉพาะผ้าที่ดีไซน์และเทคนิคซับซ้อนเท่านั้น แต่ผ้าสีเรียบ ๆ ธรรมดาคำปุนก็ทำ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการและความเชื่อถือของลูกค้าที่มีต่อแบรนด์ ซึ่งนี่ก็ตอบคำถามที่บางคนเคยถามมีชัยว่า ทำผ้าที่ซับซ้อนจนมีชื่อเสียงขนาดนี้แล้ว ทำไมยังทำผ้าพื้น ๆ อยู่อีก

ในเรื่องคุณค่าของแบรนด์ มีชัยบอกว่าตัวเขาเองก็สนใจว่าการที่ผ้าของคำปุนมีคุณค่าไปพร้อม ๆ กับมูลค่านั้นเกิดจากอะไร ซึ่งต้องให้ลูกค้าเป็นผู้บอกจึงจะตอบคำถามได้ดีที่สุด แต่ถ้าหากให้คิดวิเคราะห์เองเขาคิดว่า หนึ่ง-เป็นเพราะความใส่ใจ ความพิถีพิถันในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การดีไซน์ไปจนถึงมือลูกค้า

“คิดว่าเราเป็นรายแรกของผู้ผลิตผ้าไทยที่ซักและรีดทุกผืน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหา ซักแล้วสีไม่ตก ไม่ย่น แล้วค่อยส่งถึงมือลูกค้า ไม่ใช่ทำแบบสักแต่ว่าทำ เราต้องมีการควบคุมคุณภาพ เราต้องรับผิดชอบงานของเรา ถ้ามีปัญหาเราก็ไม่ขาย อันนี้เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผมคิดว่ามันทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจในคุณภาพของเรา ทำให้เราค่อย ๆ เพิ่มความสำคัญขึ้น”

สอง-เพราะผ้าของคำปุนยังคงสวยงามไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานกี่ปี นั่นพิสูจน์ว่าผ้าของคำปุนไม่ได้เป็นแฟชั่นที่ฉาบฉวย ยิ่งเก็บไว้นานยิ่งงามและมีคุณค่า

“มันเป็นเรื่องที่อธิบายไม่ได้ ต้องให้ลูกค้าพูด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ แม้กระทั่งไปซื้อต่อจากคนอื่นเขาก็ยังซื้อ บางท่านก็ชอบงานที่เราทำเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะว่ามันคนละสไตล์กันกับที่ทำในยุคหลัง”

เรื่องการตั้งราคาผ้า ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีคำถามเกิดขึ้นว่า คำปุนตั้งราคาต่ำเกินคุณภาพ มีชัยเล่าว่า เคยมีคนทั้งในวงการและนอกวงการทักว่า คุณภาพขนาดนี้จะขายราคานี้อย่างไร แต่ตัวเขาคิดว่าเป็นการตั้งราคาตามสมควร

เขาอธิบายอีกว่า การที่เขาออกแบบผ้าที่ลวดลายซับซ้อน ใช้เทคนิคการทอที่ซับซ้อน ไม่ได้ทำไปบนเป้าหมายว่าจะทำผ้าที่ขายได้ราคาแพง แต่คิดเรื่องการแสดงศักยภาพมาเป็นอันดับแรก เป็น passion ของคนทำงานศิลปะที่ต้องการทำสิ่งที่ท้าทาย ทำสิ่งที่ไม่เคยทำสำเร็จมาก่อนให้สำเร็จให้ได้

“จะเห็นว่าทำไมจึงเกิดกระแสเรื่องการเก็บสะสมผ้าคำปุน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามูลค่านับล้านบาท อันนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันครับ แต่ผมคิดว่าที่มันเกิดขึ้นเพราะว่าเราเอาใจใส่ เราซื่อสัตย์กับงาน และไม่ได้เห็นว่าการขายเป็นหลักของชีวิตและการทำงาน การขายเป็นเพียงหน้าที่ที่เราจะนำมาเลี้ยงการผลิตของเราให้ต่อเนื่องไปได้ และให้เรามีกำลังที่จะคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดมาสร้างสรรค์งานได้”

ปีนี้ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา คำปุนไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะความต้องการซื้อยังมีมากเหมือนเคย แต่มีชัยไม่ได้นำผ้าที่ทอเสร็จใหม่ในปีนี้ออกวางขายที่ร้านเลย เพราะว่าต้องเก็บไว้เตรียมมาออกงาน ICONCRAFT Thai Textile Heroes ที่ไอคอนสยาม ซึ่งก็มีคนถามมีชัยอีกว่า ทำไมจึงมาร่วมงานนี้ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะมีลูกค้ารอคิวซื้ออยู่แล้ว

เหตุผลที่มีชัยเก็บผ้าของคำปุนมาขายในงานนี้ ก็เพราะว่าเขามองเรื่องความร่วมมือกันให้เกิดงานดี ๆ แบบนี้ขึ้น และเห็นถึงความตั้งใจของไอคอนสยามที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนงานคราฟต์ โดยให้พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับขายงานคราฟต์ ดังนั้น แม้ว่าคำปุนขายเองได้แต่ก็ต้องเสียสละมาร่วมงานกับแบรนด์อื่น เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในวงการ เป็นการสร้างโอกาสการใช้ผ้าไทยให้เกิดขึ้น

ในวันเปิดงาน ICONCRAFT Thai Textile Heroes คำปุนนำผ้าผืนพิเศษมาให้นักแสดงสาว ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ สวมใส่แสดงในงาน ซึ่งผ้าผืนนี้ก็ไปเข้าตาผู้ชื่นชอบผ้าไทย และได้รับคำเสนอขอซื้อในราคาหลักล้าน แต่มีชัยไม่ขาย เขาต้องการเก็บผ้าผืนนี้ไว้เป็นตัวแทนของผ้ารุ่นอายุประมาณ 20-25 ปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ผ้าผืนนี้เป็นผืนพิเศษที่คำปุนทอเพื่อนำไปจัดแสดงในงาน World Ikat Textiles ครั้งแรกที่เมืองกูชิง ประเทศมาเลเซีย ให้นานาชาติเห็นว่าผ้ามัดหมี่ของคำปุนมีสไตล์แบบนี้

“ผ้าผืนนี้มีความทรงจำที่ดีอยู่ในนั้น ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนร่ำรวยมาก แต่ผมมีความผูกพันกับผลงานของตัวเอง ผ้าของคำปุนผืนที่พิเศษ ๆ บางทีเราขายให้บางท่านที่จะเก็บรักษาเป็นอย่างดี ท่านที่จะไม่นำไปตัด บางท่านที่ชอบงานของเราจริง ๆ เราเลือกเจ้าของด้วย ไม่ได้เอาไปวางขายแล้วแต่ว่าใครจะมาซื้อก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าทำมาถูกต้องแล้ว และผลงานของคำปุนสามารถหยิบยืมมาจัดแสดงได้เยอะมาก เพราะผมจำได้ว่างานในช่วง 20-30 ปีที่แล้วอยู่กับท่านใดบ้าง เราไม่ถึงกับทำเป็นซีซั่นเหมือนฝรั่ง แต่ทำเป็นช่วงเวลา ซึ่งเป็นวิธีการทำงานที่อาจไม่เหมือนช่างทอผ้าคนอื่นเลย”

ประสบความสำเร็จระดับหัวแถวของวงการมานานหลายสิบปี แต่เมื่อถามถึงรายได้มีชัยบอกว่า ตอบไม่ได้ ไม่เคยสรุปรายได้เป็นซีซั่นหรือเป็นปี บอกได้แต่ว่ามีช่างทอประมาณ 30 คน แกำลังการทอแบ่งตามระดับความยาก-ง่าย มีช่าง 7-8 คนที่ทอได้ 4 ผืน/ปี, ช่าง 14 คนที่ทอ 1-2 เดือน/ผืน, ช่าง 10 คนที่ทอได้สัปดาห์ละ 1 ผืน ส่วนราคาหลาละ 4,000-100,000 บาท ถ้าอยากรู้รายได้คงต้องคำนวณการผลิตและราคาคร่าว ๆ กันเอาเอง

“คำปุนไม่ใช่ธุรกิจใหญ่ ผมใช้รถยนต์โตโยต้า อายุ 14 ปี เราไม่ได้ตั้งราคาผ้าหลายแสนแล้วนั่งรถบีเอ็มฯ แต่เราคิดว่าเราดูแลชุมชน เราไม่ได้ต้องการขยายให้โตกว่านี้ แต่ต้องการขยายคุณภาพ อยากทำสิ่งที่ประณีตกว่านี้ ยากกว่านี้ เราจดทะเบียนว่ามี 24 กี่ มาเป็นเวลา 25 ปี ไม่ได้เพิ่ม เราไม่ได้วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวจากจำนวนกี่ เราวัดความสำเร็จจากการที่เราสามารถพัฒนาโปรดักต์ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ลูกค้าบางท่านซื้อมาเป็นเวลา 20-30 ปีก็ไม่เบื่อ เพราะเรามีการพัฒนา”

กับความสำเร็จที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่มีชัยมักจะพูดถึง คือ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับตัวเขาที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่เกิดกับช่างทอ คนสาวไหม คนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และครอบครัวของคนเหล่านี้อีกมากมาย

ชัดเจนว่าการได้สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้า ได้พัฒนา ต่อยอด ส่งต่อองค์ความรู้สู่คนรุ่นใหม่ และการสร้างงานให้คนมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว คือสิ่งที่ เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าจากคุณยายและคุณแม่ (คำปุน ศรีใส) ภาคภูมิใจเหนือการที่ผ้าของเขามีราคาผืนละแสนละล้าน