ชีวิตวัยเกษียณ “บัณฑูร ล่ำซำ” ทุ่มเท “น่านแซนด์บ็อกซ์” ให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้

บัณฑูร ล่ำซำ
ศิรินภา นรินทร์ : เรื่อง
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

หลังวางมือจากการบริหารแบงก์เมื่อเดือนเมษายน 2563 บัณฑูร ล่ำซำ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “คุณปั้น” ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ได้ทุ่มเทชีวิตหลังเกษียณให้กับโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” และโครงการ “น่านแซนด์บ็อกซ์” อย่างเต็มตัว และใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดน่านเป็นหลัก

“รักษ์ป่าน่าน” เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเริ่มมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว ส่วน “น่านแซนด์บ็อกซ์” เป็นโครงการทดลองที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะขอคืนพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งที่ถูกชาวบ้านถางทำไร่ข้าวโพดกลับคืนเป็นพื้นที่ป่า โดยที่ยังให้ชาวบ้านสามารถทำกินอยู่ร่วมกับป่าได้ ซึ่งเจ้าตัวบอกเองเลยว่า “มันเป็นโจทย์ที่ทำให้ชีวิตผมมีความหมาย”

บัณฑูร ล่ำซำ มีสูตรในการทำโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์อย่างไร เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” และสื่อในเครือมติชนมีโอกาสได้ร่วมวงสนทนา เจาะลึกถึงแนวคิด แนวทาง และการหาแหล่งทุนเพื่อนำมาพัฒนาโครงการในอนาคต

ต้นเหตุปัญหาป่าน่าน คนไร้ที่ทำกิน

บัณฑูรเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเข้าไปทำโครงการเพื่ออนุรักษ์ป่าในจังหวัดน่านว่า เริ่มจากเขาได้ไปท่องเที่ยวที่จังหวัดน่าน เมื่อปี 2552 ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้มีความสนใจในเรื่องนี้ จากนั้นได้ไปเยือนหลายต่อหลายครั้ง จนหลงเสน่ห์ของความสงบ ความน่ารักของผู้คน จนเกิดเป็นความผูกพัน และได้เขียนนิยายเรื่อง “สิเนหามนตาแห่งลานนา” ออกมาเมื่อปี 2556 เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับจังหวัดน่าน ผ่านมุมมองของชีวิตที่ผ่านมา

บวกกับมีกระแสเรื่องภูโกร๋น หรือภูเขาหัวโล้น ถูกนำเสนอในสื่อออนไลน์ อีกทั้งกรมสมเด็จพระเทพฯทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่าเป็นห่วงที่พื้นที่ป่าในจังหวัดน่านเสียหายไปเยอะ ควรที่จะมีการเข้าไปดูแลแก้ปัญหาเรื่องนี้ บัณฑูรจึงรู้สึกว่าตัวเองในฐานะบุคคลหนึ่งที่ผูกพันกับจังหวัดน่านต้องเข้าไปศึกษาและหาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงเกิดเป็นโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ขึ้นมาในปี 2557

บัณฑูรอธิบายถึงสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดน่านให้ฟังคร่าว ๆ ว่า น่านเป็นจังหวัดที่มีความเป็นป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย 85% ของพื้นที่จังหวัด หรือ 6.4 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่า และเป็นป่าสงวนชั้นหนึ่งที่มีต้นไม้ทึบสูง เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำน่าน หนึ่งในแม่น้ำสี่สายที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดย 40% ของมวลน้ำในเจ้าพระยามาจากแม่น้ำน่าน

“ปัญหาป่าต้นน้ำน่านและการสูญเสียป่าต้นน้ำน่านเป็นปัญหาที่ซับซ้อน มีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ทำให้การแก้ปัญหาแบบง่าย ๆ เกิดขึ้นไม่ได้ อันที่หนึ่งคือ ที่ดินมันไม่ถูกต้อง ประชาชนไม่สามารถมีที่ดินที่ถูกต้องมาทำมาหากินได้ พื้นที่สีเขียว 85% ถูกกฎหมายขีดเส้นให้เป็นป่าสงวน ซึ่งกฎหมายนี้ออกเมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว คนกระดิกตัวทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ถ้าจะยึดตามกฎหมายจริง ๆ แม้แต่อยู่อาศัยก็ผิด ตอนออกกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2507 คงไม่มีใครจินตนาการได้ว่าวันหนึ่งมนุษย์จะมีปัญหา ตอนออกกฎหมายคนก็อยู่ในป่าอยู่แล้ว”

“ที่ที่เขาอาศัยอยู่มาก่อนตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ทวด ร้อยปีมาแล้ว วันดีคืนดีถูกประกาศเป็นป่าสงวน เขากลายเป็นคนผิดกฎหมาย จริง ๆ เขาไม่ได้รุกเข้ามาในป่าสงวน แต่ป่าสงวนถูกประกาศครอบลงมาบนชุมชนที่เขาอยู่อาศัยมาก่อนหน้านั้นแล้ว”

“น่านแซนด์บ็อกซ์” กับสูตร 72:18:10 ให้คนอยู่กับป่า

ชาวบ้านในจังหวัดน่านอยู่กับป่ามาตลอด จนกระทั่งกระแสทุนนิยมเข้ามาทำให้เกิดกิจกรรมซึ่งนำไปสู่การกิน การค้าขาย การหาเงิน และมีการปลูกข้าวโพดเพราะเป็นพืชที่มีตลาดรองรับ แต่ปัญหาในจังหวัดน่าน คือ พื้นที่ทำกินที่ถูกต้องตามกฎหมายมีแค่ 15% ที่เหลือเป็นพื้นที่ป่า จึงมีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเข้าไปทำการเกษตร ทำให้พื้นที่ป่าสงวนหายไป 28% หรือ 1.8 ล้านไร่ (ข้อมูลปี 2559)

หลังจากทำโครงการรักษ์ป่าน่านมาได้ระยะหนึ่ง บัณฑูรและทีมงานก็คิดโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมาในปี 2561 โดยมีตัวเลข 72:18:10 เป็นเป้าหมายของโครงการ จากนั้นจึงนำเรื่องนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขออนุมัติการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำน่านด้วยสูตรดังกล่าวนี้ โดยร่วมกับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในการจัดสรรพื้นที่ให้ถูกต้อง ซึ่ง “ถูกต้อง” ในที่นี้ คือ ความถูกต้องของการใช้พื้นที่ และประเทศไทยต้องได้พื้นที่ป่าสงวนคืนมาขั้นหนึ่งด้วย

ตัวเลข 72:18:10 ที่บัณฑูรบอกว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างรัฐกับประชาชน คืออะไร ?

บัณฑูรอธิบายว่า หากซูมดูเฉพาะพื้นที่ป่าสงวน 6.4 ล้านไร่ ตอนนี้เหลือเป็นพื้นที่สีเขียว-เป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่ 72% ส่วน 28% เป็นภูหัวโกร๋น เพราะชาวบ้านถางป่าปลูกข้าวโพด

สูตร 72:18:10 ของน่านแซนด์บ็อกซ์ คือ ต้องรักษาพื้นที่ป่า 72% ไว้ให้ได้ ต้องไม่ให้มีการรุกเข้าไปใน 72% นี้ ส่วน 18% จะต้องคืนกลับมาเป็นพื้นที่ป่า โดยให้ปลูกต้นไม้ใหญ่ตามที่กรมป่าไม้ระบุว่าเป็นไม้ในป่าสงวน และอนุญาตให้ชาวบ้านปลูกพืชที่สามารถเจริญเติบโตใต้เงาร่มไม้ใหญ่ได้ ส่วนอีก 10% ให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่พื้นที่ตรงนี้ยังเป็นป่าสงวนตามกฎหมายอยู่ การใช้พื้นที่ตรงนี้ควรปลูกพืชที่สร้างสรรค์และได้รายดี ไม่ควรปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชที่ใช้พื้นที่มาก แต่ให้รายได้น้อย

นอกจากนี้ บัณฑูรยังได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำน่านไว้ 3 ข้อ คือ 1.ภาครัฐต้องเข้าใจว่าเหตุใด ทำไมสถานการณ์จึงมาถึงขั้นนี้ได้ 2.ภาครัฐมีความกล้าในการที่จะทดลองรูปแบบของการจัดการที่แตกต่างไปจากเดิม 3.ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะต้องเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดสามารถมีผลผลิตสูงพอที่จะเลี้ยงชีพและลดการตัดไม้ทำลายป่า

“เป้าหมายของการแก้ปัญหาเรื่องป่าต้นน้ำน่านได้บันทึกเอาไว้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน 72:18:10 เป็นเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ แต่ว่าการจะเดินไปถึงจุดนั้นได้ต้องแก้ปัญหาเรื่องการทำมาหากินของประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างหารูปแบบที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ของจังหวัดน่าน ซึ่งจะทำให้รายได้ของประชาชนดีกว่าช่วงที่ผ่านมา หากภาคประชาชนมีรายได้ไม่พอก็จะทำให้มีปัญหาในการรักษาป่าต้นน้ำ หรือแม้กระทั่งการฟื้นคืนของป่าต้นน้ำ”

บัณฑูร ล่ำซำ

เดินหน้าเจรจาพร้อมกับการพัฒนาเมือง

“มีคนมาแนะนำซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีมากว่า ประชาชนเขากำลังเดือดร้อนอยู่อย่างนี้ จะไปพูดเรื่องจัดสรรพื้นที่ป่า เขาก็หงุดหงิด ฉะนั้นในระหว่างทางที่กำลังหาทางออก ไปทำอะไรให้เขารู้สึกดีจะเป็นการซื้อเวลา ซื้อกำลังใจ และความร่วมใจ” บัณฑูรเผยถึงคำแนะนำที่ได้ให้แนวทางที่ดีในการเจรจากับชาวบ้าน

ขั้นตอนในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชน คือ การเข้าไปดูแลเรื่องสาธารณสุขของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตําบล 170 แห่ง และโรงพยาบาลอำเภออีก 15 แห่ง ที่งบประมาณไม่เพียงพอ รวมถึงศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน เพื่อช่วยเหลือในส่วนที่ขาดแคลน โดยทำผ่านมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ลงไปถึงพื้นที่แล้ว

ส่วนสิ่งจูงใจที่ใช้ในการเจรจา บัณฑูรมองว่าต้องจูงใจด้วยเงิน คือต้องบอกให้ชาวบ้านทราบว่า ถ้าเขาปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง แล้วเขาจะมีรายได้เท่าไหร่ มากกว่าเดิมแค่ไหน ซึ่งน่านแซนด์บ็อกซ์ต้องหาคำตอบนั้นว่าควรจะเลือกพืชชนิดไหนบ้าง ตอนนี้ที่คิดไว้คือพืชสมุนไพรที่ใช้แปรรูปเป็นยา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้บัณฑูรรู้สึกปลาบปลื้มใจในการเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ คือ การทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ แม้จะได้ค่าตอบแทนน้อยนิด รวมไปถึงครูที่ดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน ที่ไม่ได้มีสวัสดิการอะไรมารองรับ บัณฑูรมองว่า อีกด้านหนึ่งคนเหล่านี้คือประชาชนชายขอบของสังคมไทย ซึ่งคนในกรุงเทพฯมองไม่เห็น

การเข้ามาทำงานตรงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่บัณฑูรได้นำเอาองค์ความรู้ในการจัดการองค์กรใหญ่ ๆ ที่ได้สั่งสมมามาปรับใช้ งานนี้เป็นงานที่ยุ่ง เพราะต้องติดต่อกับคนจำนวนมากในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐบาลของชาติ ระดับท้องถิ่นของจังหวัด แต่ถ้าถามว่างานนี้ยากไหม เขาก็ตอบว่า

“ทุกอันมันก็ยากโดยลักษณะของแต่ละงาน อันนี้ก็ยากในเรื่องการหาองค์ความรู้ การค้าขายในพื้นที่ที่เป็นป่าด้วย และต้องเรียนรู้ที่จะคุยกันให้เข้าใจตรงกันได้ระหว่างรัฐกับประชาชน”

เตรียมหาเงินสนับสนุนจากเศรษฐีระดับโลก

ภาพรวมของโครงการนี้ต้องใช้เวลาหลายปีและใช้งบประมาณเยอะ ซึ่งที่ผ่านมาในระยะแรกได้รับงบประมาณสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย แต่ในอนาคต บัณฑูรมองไปถึงการหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศที่สนับสนุนการรักษาป่าส่วนใหญ่ไม่ใช่ประเทศไทย ประเทศที่สามารถสนับสนุนงบประมาณในส่วนนี้ได้คือ สหรัฐอเมริกา

“แต่ละสังคมก็มีไม่เหมือนกัน แต่อเมริกันมีเยอะ เจฟฟ์ เบซอส หรือ บิลล์ เกตส์ แต่บิลล์ เกตส์ เขาจะหนักไปเรื่องสุขภาพของเด็ก คนที่ผมได้ยินว่าเขาน่าจะสนใจในเรื่องนี้คือ ภรรยาหม้ายของสตีฟ จ็อบส์ เป็นเป้าที่ผมจะต้องเข้าหาตัว ซึ่งเข้าถึงลำบาก ผมต้องไปหาทางก่อน แต่เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม”

หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ บัณฑูรจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าให้ถึงตัวเป้าหมายที่จะของบประมาณสนับสนุน แต่ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเดินทางได้ ทางโครงการได้เตรียมการในเชิงโครงสร้างทางกฎหมาย เพราะผู้ที่บริจาคไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทยหรือต่างประเทศต่างก็ต้องการที่จะลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งการดำเนินการในไทยไม่ได้ยุ่งยากมากนัก แต่การดำเนินการในต่างประเทศนั้นมีโครงสร้างของเขา ต้องไปติดต่อสำนักงานกฎหมายต่างชาติ ซึ่งอาจจะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเยอะ

ความคืบหน้า ความสำเร็จ และอนาคต

ถามถึงความคืบหน้าของโครงการ บัณฑูรตอบว่า ถ้าวัดจากความเข้าใจและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ดีขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ดึงเอาองค์ความรู้ต่าง ๆ เข้ามา เพื่อหารูปแบบการทำการเกษตร หรือการทำมาหากินในพื้นที่ของจังหวัดน่าน เพื่อจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วรัฐกับประชาชนก็สามารถที่จะฟื้นฟูป่าขึ้นมาได้

เมื่อถามว่า จะสามารถนำโมเดลน่านแซนด์บ็อกซ์ไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยที่มีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ได้หรือไม่

ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ผู้ทุ่มเทชีวิตหลังเกษียณให้ป่าน่านตอบว่า “นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลพูดตอนที่อนุมัติมา ในอนาคตหากโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จ สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นได้ แต่ผมคิดว่าอันที่จะเป็นแซนด์บ็อกซ์จริง ๆ คือ รัฐกับประชาชนสามารถทำงานด้วยกันได้ อันนี้จะเป็น breakthrough ต้องดึงองค์ความรู้ของทุกฝ่าย และความเข้าใจบนพื้นฐานที่แฟร์ของทุกฝ่าย ถึงจะทำได้ เช่น 72:18:10 เป็นการพบกันครึ่งทาง ประชาชนมีที่ดินทำกินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถ้าผิดกฎหมาย งบประมาณแผ่นดินมาก็ลงไปไม่ถึงชาวบ้านในพื้นที่”

“คนกับป่าต้องอยู่ด้วยกันอยู่แล้ว เพราะว่าหลายพื้นที่ ประชาชนอยู่ในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญก็คือว่า พื้นที่ป่าก็ต้องเป็นป่ามีต้นไม้ ป่าสงวนจึงจะมี แต่ยังสามารถที่ทำงานในพื้นที่ที่เป็นป่าได้ พืชอาจจะต้องเปลี่ยนไป พืชเชิงเดี่ยวอาจจะปลูกในพื้นที่ป่าไม่ได้ ก็มีพืชอื่น ๆ ที่กำลังศึกษากันที่จะมาทำเป็นการเกษตรสำหรับพื้นที่ป่าได้” นี่คือวิสัยทัศน์ของอดีตผู้บริหารแบงก์ที่ใส่ใจงานอนุรักษ์ป่าโดยไม่ทอดทิ้งคน