130 ปี พระองค์วรรณ ภารกิจ “ประชาชาติ” บนความเปลี่ยนแปลง

ภาพ : หนังสือ ๑๐๐ ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
สาโรจน์ มณีรัตน์ : เรื่อง

หากนับเนื่องจากวันที่ 25 สิงหาคม 2434 มาจนถึง 25 สิงหาคม 2564 “พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” หรือ “พระองค์วรรณ” พระนามเดิมคือ “หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร” ซึ่งเป็นพระราชโอรสใน “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์” กับ “หม่อมหลวงต่วนศรี (มนตรีกุล) วรวรรณ” ก็จะมีสิริพระชันษา 130 ปี

เป็น 130 ปีที่ไม่เพียงพระองค์ทรงเคยดำรงตำแหน่งอดีตรองนายกรัฐมนตรี หากยังเคยเป็นประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ, อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน, ผู้ร่วมสถาปนาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ทั้งยังทรงเสนอให้คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นจัดตั้งโรงเรียนการเมืองชั้นสูง หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมา คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

โดยปี 2506-2514 “พระองค์วรรณ” ทรงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย

กล่าวกันว่า พระปรีชาสามารถของ “พระองค์วรรณ” ทรงมีความรอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง โดยเฉพาะทางด้านการทูตและการต่างประเทศ จนกลายเป็นที่ยอมรับในระดับโลก

ขณะเดียวกัน ยังทรงเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศด้วยคำบาลี-สันสกฤต

โดยเฉพาะการบัญญัติคำศัพท์สมัยนั้น ที่แม้จะผ่านวันเวลามายาวนาน แต่คำศัพท์ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน อาทิ อัตโนมัติ (automatic), รัฐธรรมนูญ (constitution), ประชาธิปไตย (democracy), โทรทัศน์ (television), วิทยุ (radio) และอื่น ๆ อีกมากมาย

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” จะได้รับการประกาศพระเกียรติคุณ โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ในฐานะปูชนียบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลกเมื่อปี 2534

ปี 2534 ที่ “พระองค์วรรณ” สิริพระชันษาครบ 100 ปีพอดี

แต่ทว่า ในอีกบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานหนังสือพิมพ์ ซึ่งหนังสือ “ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย สยามพิมพการ” ที่มีสำนักพิมพ์มติชนเป็นผู้จัดพิมพ์ เคยกล่าวความตอนหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องกับการออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 ดังที่ “พระองค์วรรณ” ประทานสัมภาษณ์ว่า…เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 ฉันเห็นว่าไม่ใช่เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนไทยทีเดียว

“เพราะทำให้ฉันระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงในฝรั่งเศส ฉันจึงได้บัญญัติศัพท์ใหม่คือคำว่า ปฏิวัติ พร้อมกันก็คิดออกหนังสือพิมพ์เพื่อรับความเปลี่ยนแปลง หนังสือพิมพ์ประชาชาติออกมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงหลักมูลคือวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทย

พึงเข้าใจว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย หรือที่เราเรียกกันว่า ประชาธิปไตย ในการเปลี่ยนแปลงที่จะให้เป็นสันตินั้น ฉันได้คิดคติพจน์ให้กับหนังสือพิมพ์ประชาชาติว่า บำเพ็ญกรณี ไมตรีจิต วิทยาคม อุดมสันติสุข”

“ทั้งนี้ เพราะฉันมีความเข้าใจว่าในเรื่องสิทธินั้น ทุกคนก็เรียกร้องตามหลักประชาธิปไตย หรืออำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนอยู่แล้ว แต่สิทธิและหน้าที่เป็นของคู่กันที่เราทุกคนปรารถนา และหนังสือพิมพ์ประชาชาติก็ได้ปฏิบัติตามคติพจน์ที่ว่านั้น”

โดยมี “กุหลาบ สายประดิษฐ์” เป็นบรรณาธิการฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2475

กล่าวกันว่า กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ยุค “กุหลาบ” ต่างเต็มไปด้วยพี่ เพื่อน น้องในวงการนักประพันธ์หัวก้าวหน้าที่มาจาก “คณะสุภาพบุรุษ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น มาลัย ชูพินิจ, สนิท เจริญรัฐ, เฉวียง เศวตะทัต, อบ ไชยวสุ, โชติ แพร่พันธุ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย

โดยนัยหนึ่งนอกจากบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ที่มุ่งปวารณาตัวเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นหลัก หากยังมีจุดยืนหลักที่อยู่เคียงข้างประชาธิปไตย จนทำให้ผู้มีอำนาจรัฐสมัยนั้นถึงกับสั่งปิดหนังสือพิมพ์ถึง 2 ครั้ง

ขณะเดียวกัน ในบทบาทของบรรณาธิการอย่าง “กุหลาบ” ก็เริ่มทดลองด้วยการนำงานวรรณกรรมมาสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่านด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ” ที่มี “ยาขอบ” (โชติ แพร่พันธุ์) เป็นผู้ประพันธ์ หรือ “ข้างหลังภาพ” ที่มี “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์) เป็นผู้ประพันธ์ ก็ล้วนเคยตีพิมพ์มาก่อนในหนังสือพิมพ์ประชาชาติทั้งสิ้น

จนทำให้เกิดความนิยมในกลุ่มผู้อ่านเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากบทนำ, บทความ, คอลัมน์ที่มุ่งเสนอประเด็นความรู้ ความเข้าใจเรื่องระบอบประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา

หากอำนาจของวรรณกรรมกลับสร้างปรากฏการณ์จนทำให้แฟนานุแฟนติดตามอ่านเป็นจำนวนมาก จนถึงขนาดมาต่อแถวรอกันถึงหน้าโรงพิมพ์เพื่อซื้อหนังสือพิมพ์ประชาชาติจากแท่นพิมพ์เลยทีเดียว

แต่ “ประชาชาติ” ยุค “กุหลาบ” ดำเนินการมาเพียงระยะหนึ่ง เพราะผู้มีอำนาจรัฐสมัยนั้นไม่พอใจอย่างมาก ที่สุดหนังสือพิมพ์ประชาชาติจึงค่อย ๆ หายไปจากแผงหนังสือ

จนเมื่อ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบันคิดจะทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ จึงพาคณะทำงานเข้าเฝ้า “พระองค์วรรณ” เพื่อขอประทานอนุญาตชื่อหนังสือพิมพ์ประชาชาติมาทำหนังสือพิมพ์ตามอุดมการณ์ที่ยึดประโยชน์และประเทศชาติเป็นสำคัญ

ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย สยามพิมพการ” กล่าวความตอนหนึ่งที่ “พระองค์วรรณ” ประทานคำอวยพรแก่ “ขรรค์ชัย” และคณะทำงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์เมื่อปี 2516 ความว่า…ไม่ขัดข้องที่พวกเธอมาขออนุญาตใช้ชื่อประชาชาติออกเป็นหนังสือใหม่ครั้งนี้ยินดีอนุญาตให้ เพราะเหมาะกับภาวะเหตุการณ์ทุกอย่าง ขอให้สมหวัง พบกับความสำเร็จ

ขณะเดียวกัน “ขรรค์ชัย” ก็ได้เขียนบทนำในหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ฉบับปฐมฤกษ์ ดังความบางส่วนว่า…คณะผู้จัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายสัปดาห์ ต่างมีความปลื้มปีติสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกัน ก็น้อมรับคติพจน์นั้นมารำลึกไว้

มิใช่เพื่ออยากเห็นหนังสือประชาชาติ หรือคำว่า ประชาชาติคงอยู่ แต่สิ่งที่เรา, คณะผู้จัดทำปรารถนาต้องการคือ ประชาชาติ อันหมายถึงคนไทยทั้งมวลที่ต้องอยู่ตลอดไป

ตลอดเวลาที่ประชาชาติรายสัปดาห์วางแผง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2516 จากนั้นในอีก 9 เดือนต่อมาคณะผู้จัดทำก็ออกหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2517 ก่อนที่จะออกมารวมประชาชาติรายวัน เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2518

ตามมาด้วยหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2519 และหนังสือพิมพ์เข็มทิศธุรกิจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 ทุก ๆ ฉบับต่างผจญวิบากกรรมในการนำเสนอข่าวจากผู้ปกครองรัฐตลอดมา

กระทั่งภายหลังรวมประชาชาติรายวันจึงกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจราย 3 วัน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจฉบับแรก ๆ ที่ใช้กระดาษปอนด์ขาว ทั้งยังแบ่งแยกเนื้อหาออกเป็นข่าวธุรกิจประเภทต่าง ๆ ตามรูปแบบของหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน

ที่ไม่เพียงจะยึดคติพจน์ตามที่ “พระองค์วรรณ” ประทานพรมา หากยังเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มผู้อ่านในปัจจุบัน โดยยึดสโลแกนที่ว่า…เตือนคุณล่วงหน้า ทุกคำ ทุกข่าว ทั้งนั้น เพื่ออยากบอกผู้อ่านทุกคนว่า

ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะแปรเปลี่ยนไปเช่นไร ?

เศรษฐกิจจะดิ่งเหวแค่ไหน ?

ประชาธิปไตยจะเบ่งบานหรือไม่ ?

หรือภาครัฐจะแก้ปัญหาเรื่องมหันตภัยไวรัสร้ายล้มเหลวอย่างไร ?

“ประชาชาติธุรกิจ” จะยืนอยู่เคียงข้างผู้อ่านตลอดมาและตลอดไป โดยเฉพาะกับการปรับรูปแบบการนำเสนอข่าวให้เข้าไปอยู่ในโหมดออนไลน์ขณะนี้

ในขณะที่ “ราก” ของ “ประชาชาติธุรกิจ” ล้วนเกิดจากต้นธารทางความคิดของ “พระองค์วรรณ” ในการก่อกำเนิด “ประชาชาติ” ตั้งแต่ปี 2475 เพื่อต้องการเป็นหนังสือพิมพ์เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง

ซึ่งเหมือนกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมพลวัตขณะนี้