กกพ. “ปิดจ๊อบ” ขึ้นค่าไฟฟ้า 4.72 บาทมาแน่ ยังไร้มาตรการเยียวยา

ไฟฟ้า

กลายเป็นประเด็นร้อนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาในเรื่องของการปรับขึ้น ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า Ft งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 อีก 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟในอัตราที่แพงขึ้นถึง 4.72 บาท โดยการปรับขึ้นค่า Ft ครั้งนี้เป็นไปตามการพิจารณาของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565

และล่าสุด กกพ.ได้แจ้งมติที่ประชุมต่อ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)-การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)-การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การไฟฟ้าแจ้งกับผู้ใช้ไฟล่วงหน้าก่อน 1 เดือน หรือค่าไฟฟ้าอัตราใหม่จะเริ่มบังคับใช้ในเดือนกันยายน 2565

อย่างไรก็ตามแม้ กกพ.จะมีมติให้ขึ้นค่า Ft ไปแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจะไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาส่งสัญญาณขอให้มีการ “ทบทวน” สูตรการเรียกเก็บค่า Ft กับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่อีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ค่าไฟฟ้าใหม่นั้น “สูงเกินไป” จนอาจจะกระทบกับผู้ใช้ไฟ

โดยขอให้มีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้เปราะบางที่ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยต่อเดือน เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพด้วย

กกพ.ปิดจ็อบขึ้นค่าไฟ

ความสับสนที่เกิดขึ้นข้างต้นได้พุ่งเป้าไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลพลังงาน และมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาขึ้นค่า Ft ล่าสุดทาง กกพ.ได้ยืนยันแล้วว่า การดำเนินการพิจารณาอัตราค่า Ft ขณะนี้ถือว่า “ได้สิ้นสุดหน้าที่ของ กกพ.แล้ว” เพราะ กกพ.ได้พิจารณาตามต้นทุนการผลิตด้วยการดูแลทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ (การไฟฟ้า) กับผู้ใช้บริการ (ประชาชนผู้ใช้ไฟ) ด้วยหลักการที่ว่า การไฟฟ้าผู้ให้บริการ (กฟผ.) จะต้อง “ไม่เจ๊ง” และประชาชนผู้ใช้ไฟจะต้องเสียค่าไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม พร้อมทั้งได้แจ้งให้กับหน่วยงานผุู้ให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น กฟผ.-กฟน.กฟภ. สามารถดำเนินการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นได้ตามมติของ กกพ.

“สาเหตุที่ค่าไฟฟ้าต้องปรับราคาขึ้นมาเรื่อย ๆ (ตามค่า Ft ที่ปรับขึ้นทุก 4 เดือน ปีละ 3 งวด) เพราะก๊าซขาด ทำไมเราไม่ไปไล่ที่ต้นตอว่า ทำไมก๊าซขาดและขาดเพราะอะไร แต่เรามาดูกันเฉพาะตรงที่จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือประชาชนอย่างไร นั้นเป็นอีกสเต็ปหลังจากที่ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นไปแล้ว หน้าที่ของ กกพ.เกี่ยวกับค่าไฟฟ้าผมว่า จบแล้ว เราได้มีการพิจารณาตามหลักการและเหตุผลแล้วว่า ค่า Ft ต้องปรับขึ้น และเราก็ส่งมติให้กับการไฟฟ้าไปแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. ซึ่งการไฟฟ้าต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนการช่วยเหลือประชาชนก็ต้องมาดูอีกทีว่า จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง” ผู้เกี่ยวข้องใน กกพ.กล่าว

พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ท่าทีของผู้ที่ต้องการให้มีการทบทวนมติในเรื่องของการขึ้นค่า Ft นั้น “ถือเป็นการแทรกแซง กกพ.หรือไม่” แม้การแทรกแซงนั้นจะยอมรับว่า การพิจารณาขึ้นค่า Ft เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกพ.ก็ตาม แต่ กกพ.ยังคงยืนยันว่า ไม่ว่าจะแทรกแซงด้วยวิธีการใดก็ไม่มีผล เพียงแต่ตอนนี้ กกพ.ไม่ได้ออกมาชี้แจง คงต้องรอให้ “ฝุ่นหายตลบก่อน” จะออกมาชี้แจงไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของการปรับขึ้นค่า Ft เพราะอะไร ทำไมต้องขึ้น เหมือนกับที่เคยชี้แจงทุกรอบ เรื่องนี้คงตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไม กกพ.ถึงแจ้งเลื่อนการแถลงข่าวการขึ้นค่า Ft มาหลายต่อหลายครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนประเด็นเรื่องของมาตรการบรรเทาผลกระทบและช่วยเหลือผู้ใช้ไฟนั้น “ไม่ใช่ว่า กกพ.เกี่ยงการให้ความช่วยเหลือ เราสามารถดำเนินการให้ได้ แต่ต้องไม่ใช่เงินเอามาจากในกลุ่มนี้ เพราะเงินที่ กกพ.กำกับดูแลนั้น ถ้าคนหนึ่งได้ อีกคนก็ต้องเสีย เพราะ กกพ.ไม่ได้มีเงินเป็นของตัวเอง แต่เงินมาจากส่วนเกินของการเก็บค่าไฟฟ้า”

ดังนั้น เรื่องการปรับขึ้นค่า Ft มันต้องจบแล้ว อัตราใหม่ที่ กกพ.อนุมัติสะท้อนต้นทุนของผู้ผลิตไฟฟ้า ประชาชนก็รับตามสภาพ จากข้อเท็จจริงที่ว่า เชื้อเพลิงคือ ก๊าซธรรมชาติ ส่วนหนึ่งในอ่าวไทย (แหล่งเอราวัณ) มันขาดหายไป ในช่วงรอยต่อระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่ากับผู้เข้ามาพัฒนาแหล่งรายใหม่ ซึ่งเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปลายปี 2564 แล้วว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย “จะขาดหายไป” ในช่วงรอยต่อสัมปทาน

ตรงนี้เป็นปัจจัยหลัก แต่หน่วยงานที่ supply ก๊าซกลับไม่ได้ยืนยันว่า “ก๊าซมันจะขาด” และมองว่า สามารถแก้ปัญหาได้

“วิธีการที่ผ่านมา (ในการลดค่า Ft) ก็คือ ให้ กฟผ.ต๊ะไปก่อน ตามปกติถ้าค่าเชื้อเพลิงมันพุ่งขึ้นไปเยอะ เราจะไม่มีการให้ต๊ะ แต่ถ้าค่าเชื้อเพลิงราคามันสะวิงมีขึ้นมีลง งวดนี้ขึ้นงวดหน้าลง แบบนี้เราสามารถบริหารจัดการด้วยการนำมาเฉลี่ยได้ แต่ถ้ามันขึ้นตลอดไปแล้วต๊ะไว้ แบบนี้มีคนเจ๊ง (กฟผ.) แน่นอน ดังนั้นผมถึงบอกว่า ให้ไปแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ”

ทั้งนี้ กฟผ.ปัจจุบันมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (ที่ต๊ะไว้) สูงกว่า 83,010 ล้านบาท ถ้าไม่มีการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดนี้มีแนวโน้มว่า ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.แบกไว้จะพุ่งทะลุ 100,000 ล้านบาท และกำลังส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของ กฟผ.โดยตรง โดย กฟผ.ได้ร้องต่อรัฐบาลขอให้รัฐหาเงินกู้เพิ่ม 85,000 ล้านบาท จากเดิมที่ขอกู้ 25,000 บาท

เงินช่วยเหลือต้องมาจากรัฐบาล

ส่วนการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นนั้น หากกระทรวงพลังงานจะให้ กกพ.ดำเนินการด้านใดก็พร้อมจะช่วย เช่น ก่อนหน้านี้ได้ช่วยคำนวณผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า 300 หน่วยที่ปรับขึ้น 20 สตางค์ ใช้เงิน 1,000 กว่าล้านบาท แต่รอบนี้อยู่ระหว่างพิจารณา เพราะอัตราที่ปรับขึ้น 60 สตางค์ ต้องหารือข้อสรุปก่อน

ส่วน “แหล่งเงิน” ที่จะนำมาใช้ดำเนินการช่วยเหลือนั้น จะต้องไม่ใช่ “เงินในระบบของ กกพ.” แต่ต้องเป็นเงินตามนโยบายรัฐบาลที่ให้มา เพราะเรื่องนี้ “เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ กกพ.ไปแล้ว”

โดยแหล่งเงินช่วยเหลืออาจจะได้มาจากหลายทาง อาทิ งบประมาณของรัฐ หรือจะให้ กฟผ.แบกต่อ หรือจะนำเงินที่ กฟผ.จ่ายคืนคลังในช่วงปลายปีมาใช้ก่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของรัฐบาล ไม่ใช่ กกพ. โดยในส่วนของการเยียวยาช่วยเหลือแทนที่จะช่วยผ่านกลไก “บัตรสวัสดิการของรัฐ” แบบเดิม ก็อาจช่วยผ่านกลไก “การคำนวณค่าไฟ” ก็ได้ ซึ่งในส่วนนี้ กกพ.จะรับมาดำเนินการต่อให้

ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องเป็นผู้พิจารณาในภาพรวม เพราะการปล่อยให้ “ฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจ (กฟผ.) ไม่ดี” อนาคตก็จะไปส่งผลกระทบต่อ “เครดิต-เรตติ้งของประเทศลดลง” เนื่องจากรายได้หลัก ๆ ของรัฐบาลมาจากรัฐวิสาหกิจ-บริษัทใหญ่ หากปล่อยให้รัฐวิสาหกิจใหญ่ ๆ อ่อนแอลงก็จะส่งผลต่อ “เครดิตประเทศ” ดังนั้นหากต้องการรักษาเครดิตของ กฟผ. เพื่อเครดิตประเทศ ก็จำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้า

เชื่อว่าตอนนี้ในมุมรัฐบาลต้องคิดหนัก เพราะมีมุมต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของส่วนการขึ้นค่าไฟฟ้าไปแล้วกระทบ “ค่าครองชีพ” หรือ “เงินเฟ้อ (CPI)” หรือไม่ หรือปรับขึ้นแล้วจะใช้มาตรการเยียวยาอย่างไร ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะเลือกใช้เงินช่วยตรงส่วนไหน