3 ล้าน SMEs กระอักพิษต้นทุน จี้รัฐแก้ปัญหาหนี้

SME

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเปิดข้อมูลผู้ประกอบการ 3 ล้านรายกระอักพิษดอกเบี้ย-ค่าแรง-ค่าไฟ ทุบซ้ำเศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัวช้า หวั่นกระทบแรงงาน 10 ล้านคนในระบบ จี้รัฐเร่งแก้หนี้ใน-นอกระบบ จัดระเบียบลูกหนี้ตามรหัสเครดิตบูโร ลดภาระค่าครองชีพ เพิ่มพลังงานสีเขียว วอนทยอยขึ้นค่าแรง 3-6 เดือนต่อครั้ง

วิกฤตเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบันกำลังส่งผลให้ผู้ประกอบการทุกขนาดต้องเผชิญกับความเหนื่อยยากมากขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนของต้นทุน ทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEs ซึ่งมีมากกว่า 90% ของจำนวนทั้งหมดในประเทศ ทั้งกิจการการผลิต การค้า และธุรกิจบริการ ต่างต้องปรับตัวขนานใหญ่

ผลกระทบ 3 ปัจจัยเสี่ยง

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากค่าแรง ค่าไฟ และดอกเบี้ยขาขึ้น

ปัจจัยแรกคือ การปรับค่าแรง ส่งผลต่อผู้ประกอบการรายย่อย 2,713,345 ราย จ้างงานเฉลี่ย 2 คนต่อกิจการ (5,226,410 คน) หรือเป็นกิจการครอบครัวและรายย่อม 421,588 ราย จ้างงานเฉลี่ย 12 คนต่อกิจการ (4,948,701 คน) รายกลางจ้างงานเฉลี่ย 56 คนต่อกิจการ (2,426,615 คน)

“การขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 5-8% ส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่จ้างแรงงานรายวันและรายเดือน โดยเฉพาะรายเดือนที่มีฐานเงินเดือนใกล้เคียงรายวัน อาจต้องพิจารณาปรับตามไปด้วย”

ขณะที่ปัจจัยค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น หากพิจารณาการใช้ไฟฟ้ารวมทั้งประเทศพบว่า ร้อยละ 54.55 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ 28.46 อยู่ในภาคครัวเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมถึง SMEs รายย่อย และรายย่อมบางส่วนที่ใช้บ้านประกอบกิจการ หรือเช่าประกอบอาชีพ และร้อยละ 15.88 อยู่ในภาคธุรกิจการค้า

ล่าสุด ที่มีการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และปรับดอกเบี้ยของภาคธนาคาร จะส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถชำระหนี้ของ SMEs โดยเฉพาะรายย่อย และรายย่อมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจ และสงคราม ที่มีผลต่อต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัวที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการ SMEs นำเข้า

“การตรึงดอกเบี้ยให้ SMEs เป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้ โดยเฉพาะการทบทวนอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ไม่เอาเปรียบด้านส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ที่ SMEs ได้รับจากธนาคาร สูงถึง 10-15% ซึ่งในต่างประเทศจะมีส่วนต่างเพียง 4-5% เพื่อให้ SMEs มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลง สามารถประคองธุรกิจและแข่งขันในตลาดได้”

แสงชัย ธีรกุลวาณิช
แสงชัย ธีรกุลวาณิช

ชู 3 ข้อเสนอ

นายแสงชัยกล่าวว่า แนวทางข้อเสนอต่อภาครัฐที่ต้องการความชัดเจนและทำทันที คือ 1) การแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน หนี้ Special Mention รวมหนี้เสีย NPL SMEs กว่า 660,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 19.2 ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ SMEs

หากแยก 3 รหัส เครดิตบูโร ต้องเร่งแก้ปัญหาไม่ให้เรื้อรัง คือ รหัส 21 “เมื่อก่อนชั้นดี ตอนนี้ติดกับดักหนี้เสีย” ประมาณ 2.6 ล้านบัญชี 2.1 ล้านราย รหัส 30 “ลูกหนี้เกือบสิ้นลม จะให้จมน้ำ หรือให้ขอนไม้พาเข้าฝั่ง” บัญชีลูกหนี้ที่สถาบันการเงินดำเนินคดีทางกฎหมายแล้วประมาณ 2 ล้านบัญชี ที่ต้องเร่งไกล่เกลี่ย มีมาตรการยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ตัดภาระหยุดดอกตัดเงินต้นก่อน และรหัส 42 “ลูกหนี้ตกเหว หย่อนเชือกช่วย หรือจะปล่อยตายไป”

ลูกหนี้เสียที่ขายให้กับ AMC ต้องมีกระบวนการในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และรายงานความคืบหน้าอย่างโปร่งใส (ตามกราฟิก)

ขณะที่หนี้นอกระบบขยายตัวทั้งนายทุนในและนอกพื้นที่ แก๊งหมวกกันน็อก จากงานวิจัยพบว่า กลุ่มผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเริ่มมีหนี้นอกระบบ และกลุ่มอาชีพไม่เฉพาะเกษตรกร ค้าขาย อาชีพอิสระ แต่รวมถึงข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจด้วย “หนี้นอกระบบ นับวันทวีความรุนแรงจากการเป็นหนี้เสียที่ถูกทิ้งขว้าง กันออกจากระบบ ควรมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SMEs ช่วยแก้ปัญหาปรับโครงสร้างหนี้ บ่มเพาะ ถอดบทเรียน ทำแผนฟื้นฟู SMEs ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน นวัตกรรม และทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ แล้วเติมทุนนำกลับเข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม ติดกับดักทางการเงินที่ไร้การดูแล”

2) ปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น สินค้าเกษตร ปุ๋ย อาหารสัตว์ ปัจจัยการผลิตที่ขยับราคาสูงขึ้นตามกลไกตลาดและต้นทุนที่แท้จริง หรือมีห่วงโซ่ซัพพลายเชนใดที่ปรับราคาเกินความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ รองรับวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน ผ่านมา 1 เดือน ประชุมหารือแนวทางอย่างไร ?

และจะมีแนวทางมาตรการใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อ SMEs และประชาชน รวมทั้งต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาดังกล่าวครอบคลุมอนาคต หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การรับมือกับปัญหาดังกล่าวจะใช้กลไกใดในการสานต่อ เพราะวิกฤตนี้รอไม่ได้ ต้องต่อเนื่อง และกล้าจะเปลี่ยนแปลง

และ 3)การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานของประเทศให้เป็นพลังงานสีเขียวโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวภาพ และพลังงานชีวมวล รวมทั้งพลังงานจากขยะ ต้องปฏิรูปให้หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพลังงานและบริหารจัดการ เพื่อลดภาระต้นทุนพลังงาน สร้างความมั่นคงให้กับพลังงานในประเทศ และกระจายอำนาจการถือครองพลังงานให้ชุมชน ท้องถิ่นดูแล

ปัจจุบันโครงสร้างวัตถุดิบพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ร้อยละ 76.34 พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และร้อยละ 23.66 พลังงานสีเขียว ควรมียุทธศาสตร์พลังงานสีเขียวที่ทำให้สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 ภาพรวมเชื้อเพลิงฟอสซิลมาจากก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนสูงสุดถึง 34,837.65 MW หรือ ร้อยละ 65.26 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด รองลงมาคือ ถ่านหิน 5,569.06 MW หรือร้อยละ 10.43 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ส่วนน้ำมัน 348.4 MW หรือร้อยละ 0.65 ของเชื้อเพลิงทั้งหมด

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปัจจัยพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ เราพึ่งพาไฟฟ้าจาก สปป.ลาวพึ่งพาก๊าซจากพม่า และพึ่งพาน้ำมันดิบจากต่างประเทศจำนวนมาก ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าต้องมีการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่าน ให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้สิทธิประโยชน์”

เตือนบริหารความเสี่ยง

ที่วิตกปัญหาจะลากยาวไปถึงการจ้างงานในกลุ่มเอสเอ็มอีต้องยุติการเลิกจ้างหรือไม่นั้น นายแสงชัยมองว่าช่วงครึ่งปีหลังแม้มีปัจจัยเรื่องโควิดคลี่คลาย และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่การกลับมาของธุรกิจ SMEs ยังต้องรับมือบริหารความเสี่ยง

“การปรับค่าแรงขั้นต่ำเห็นควรให้เร่งดำเนินการ แต่ควรปรับตามสภาวะของแต่ละจังหวัด ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาร่วมกัน ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และภาครัฐ โดยทยอยปรับขึ้น 3-6 เดือนต่อครั้ง เพื่อให้ SMEs ได้ปรับตัว และไม่กระชากต้นทุนแรงงานในครั้งเดียว”

“วิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ส่งผลกระทบรุนแรงกับเศรษฐกิจฐานราก จะเป็นมะเร็งร้ายที่ทำลายเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย รายย่อม และภาคแรงงานในวงกว้าง เราจะให้ติดกับดักหนี้ กับดักทางความคิดไม่ได้ กลไกวิธีคิด วิธีทำต้องไม่ยึดติดรูปแบบเดิม ๆ ต้องมุ่งแก้ปัญหาจริงจัง”