ค่าแรง-ดอกเบี้ยขาขึ้น ทุบซ้ำ SMEs เบรกลงทุน-ประคองตัว

ร้านอาหาร

ผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” โอดสารพัดต้นทุนดาหน้าพุ่งไม่หยุด หวั่นค่าแรงใหม่-ดอกเบี้ยขาขึ้น ทุบซ้ำปมกำลังซื้อ ดิ้นปรับตัวจ้าละหวั่น มุ่งรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่าย ตัดสินใจแตะเบรกชะลอลงทุน เน้นประคองตัว

จากปัญหาต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซ ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กบง.) อีก 0.25% เป็น 0.75% เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 ส.ค.) สะท้อนให้เห็นว่าทิศทางดอกเบี้ยจากนี้ไปจะอยู่ในช่วงขาขึ้น

เช่นเดียวกับกระแสการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในรอบ 2 ปี ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ อีกประมาณ 5-8% ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบกับต้นทุนการดำเนินงานผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรายย่อยและเอสเอ็มอี และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ต้องเร่งปรับตัว

ดิ้นปรับตัว-ลดค่าใช้จ่าย

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในเรื่องนี้ว่า ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับเรื่องต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ค่าไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง บางร้านต้องปรับขึ้นราคา เพื่อสร้างยอดขายและกำไร และล่าสุดจากกระแสข่าวการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่มีสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และหากมีการปรับขึ้นจริง คาดว่าที่จะกระทบหนักสุดน่าจะเป็นกรณีของผู้ประกอบการกลุ่มโรงงาน หรือภาคการผลิต

ส่วนธุรกิจร้านอาหารเป็นภาคบริการ ที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายต่อหัวในการจ้างแรงงานหรือลูกจ้างปกติก็จะสูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่แล้ว หรือประมาณ 400-500 บาท ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 330 บาท และหากมีการปรับขึ้นอีก 5-8% ให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และคนที่ได้ประโยชน์ คือ แรงงานต่างด้าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะรายเล็กและรายกลาง ๆ ยังรอดูว่าจะกระทบต่อต้นทุนมากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจุบันบางร้านใช้พนักงานจำนวนไม่มาก ถ้าเทียบกับก่อนโควิด เจอปัญหาหาคนไม่ได้ ทำให้ต้นทุนแรงงานไม่ได้สูงมาก ส่วนใหญ่จะไปหนักเรื่องค่าไฟ ค่าก๊าซ ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่งมากกว่า

“เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการร้านอาหารก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น ที่จะต้องบริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อทดแทนกัน ซึ่งคนที่จะได้รับผลกระทบหนักคือผู้บริโภค ถ้าร้านอาหารต้นทุนสูงขึ้น ก็ต้องไปขยับขึ้นราคาอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผ่านมา สมาคมได้ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งการลดภาษี ลดค่าไฟ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระจนเกินไป ซึ่งภาครัฐก็ช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง และปัจจุบันเมื่อสถานการณ์หนักขึ้น ทุกคนก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เพราะรัฐมีเรื่องที่ต้องทำหลายอย่าง หลาย ๆ ธุรกิจก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด”

รายเล็กแตะเบรกชะลอลงทุน

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในธุรกิจกาแฟ-เบเกอรี่รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมของโควิดจะเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจภาพรวมเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัว แต่ในแง่กำลังซื้อผู้บริโภคภาพรวมยังมีปัญหา จากปัจจัยค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงการแข่งขันสูง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เน้นการลดราคา จึงส่งให้ยอดขายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและรายย่อยยังไม่ฟื้นกลับมาเหมือนเดิม และอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างเหนื่อย

ที่สำคัญ ตอนนี้ผู้ประกอบการยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งวัตถุดิบต่าง ๆ ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และล่าสุดที่กำลังจะเพิ่มขึ้นมาอีกอย่างก็คือ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่กำลังจะปรับขึ้น ยิ่งตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งคาดว่าจะยาวไปจนถึงปีหน้า แม้เราจะมีศักยภาพมากพอที่จะกู้แบงก์ได้ แต่ก็ตัดสินใจแล้วว่าไม่อยากกู้แบงก์ เพราะจะทำให้มีภาระเรื่องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ดังนั้นจากนี้ไป ในแง่ของการลงทุนเปิดสาขาใหม่คงจะต้องชะลอออกไปก่อน และพยายามเน้นการประคับประคองให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน

ขณะที่นายวิเชียร เจนตระกูลโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีฟ้าโฟรเซนฟู้ด จำกัด จังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก ปัญหาต้นทุนหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบค่อนข้างมาก และมีทางเลือกไม่มากนัก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ใช่คนรวย หากขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนก็จะขายได้น้อยลง หากขายราคาเท่าเดิมกำไรก็จะลดลง

โดยส่วนตัวมองว่าภาครัฐควรเข้ามาให้ความรู้ด้านการขาย และเติมโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก และปัญหาสำคัญอีกอย่างของผู้ประกอบการตอนนี้คือ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการรายย่อย

ธุรกิจเบเกอรี่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักได้รับผลกระทบจากเรื่องต้นทุนเพิ่มค่อนข้างมาก เพราะเบเกอรี่เป็นอาหารทางเลือกหรืออาหารฟุ่มเฟือย ถ้าประคับประคองอะไรไม่ได้ก็ต้องลดกำลังการผลิต หรือหากยอดขายลดลง ถัดมาก็ต้องลดพนักงาน อย่างไรก็ตาม สำหรับศรีฟ้าฯเอง จากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบเบเกอรี่ต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาก็ได้ทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าประมาณ 10% เพื่อรักษากำไรและเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

ค่าแรงใหม่ทำต้นทุนพุ่ง

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นถึงการปรับค่าจ้างแรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ว่า บริษัทได้มีการติดตามและมอนิเตอร์เรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า จากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ สำหรับบริษัทเอง แม้จะยังสามารถบริหารจัดการเรื่องนี้ได้ แต่ที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำระบบ LEAN มาบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการลดกระบวนการทำงานที่ไม่สร้างมูลค่า

“เรามีทั้งพนักงานฟูลไทม์และพาร์ตไทม์ และให้ค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันมากกว่า 500 บาท สูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีการปรับค่าแรงพิเศษและหลังโควิดมาก็มีอินเซนทีฟเพิ่มให้ด้วย ยิ่งหาคนยากเท่าไหร่ การแข่งขันดึงตัวก็มีขึ้น”

เช่นเดียวกับนายอำนาจ สิงหจันทร์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกการตลาด บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามากกว่าเงินเฟ้อ เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น เพราะธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้ามีทั้งพนักงานในโรงงาน และทีมพนักงานขายในร้านค้า รวมกว่า 4 พันคน


โดยโครงสร้างรายได้ของพนักงานขายจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำรวมกับคอมมิชชั่น หากค่าแรกขั้นต่ำขยับขึ้น บริษัทจะปรับขึ้นตามเพื่อรักษากำลังคนเอาไว้รองรับการฟื้นตัวของตลาด พร้อมรับมือด้วยการเร่งสร้างรายได้เพิ่ม โดยโฟกัสการขายสินค้าระดับบนที่มีสัดส่วนกำไรสูงเพื่อทดแทน