ขึ้นค่าแรง-ดูแลทั้ง 2 ฝ่าย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

หลังรอคอยมานาน ท้ายที่สุดใกล้ได้บทสรุปเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยที่ประชุมไตรภาคีระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้าง และรัฐบาล เล็งขึ้นค่าแรง 5-8% อยู่ที่ระดับ 15-26 บาท/วัน ตามพื้นที่ คาดว่าให้มีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้ จากเดิมฝ่ายนายจ้างอยากให้เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2566

โดย 2 จังหวัดที่มีค่าแรงสูงสุดคือภูเก็ตและชลบุรี จากเดิมวันละ 336 บาท ปรับเป็น 352.80-362.88 บาท/วัน ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ลดหลั่นกันไปตามค่าแรงพื้นฐาน ค่าแรงเดิมต่ำสุดคือ 313 บาท/วัน

ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี หลังจากประเทศไทยเจอภัยโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจย่ำแย่ ต้องเลื่อนการปรับค่าแรงขั้นต่ำออกไปเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน แม้ตัวเลขที่ออกมาจะห่างไกลจากข้อเรียกร้องของฝ่ายลูกจ้าง

แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้แรงงานย่อมอยากได้ค่าแรงสูงสุด ขณะที่ฝ่ายนายจ้างอยากจ่ายในอัตราต่ำสุด ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงตัวแทนรัฐบาลจะเข้ามาเจรจาเพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม

ตัวเลขการขึ้นค่าแรงแม้ดูไม่มากนัก แต่อย่างน้อยพอบรรเทาภาระผู้ใช้แรงงานได้ประมาณหนึ่ง เพราะทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ ที่ปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว ๆ 6%

และล่าสุดกับการขยับเพดานดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จาก 0.50% เป็น 0.75% แม้ธนาคารพาณิชย์ยืนยันว่าพยายามตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ให้นานที่สุด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำได้กี่มากน้อย

แน่นอนว่าการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ผู้รับแรงกระแทกตรง ๆ คือนายจ้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มเกษตร อาหาร ที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อีกทั้งเพิ่งผ่านศึกโควิดมาหมาด ๆ แถมเจอราคาน้ำมัน ค่าไฟ ดอกเบี้ยขาขึ้น

รวมทั้งเป็นกลุ่มธุรกิจที่สายป่านไม่ยาว แต่หากเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อาจไม่กระทบมากนัก เพราะสามารถบริหารต้นทุนได้เหนือกว่า

ภาระที่ผู้ประกอบการต้องรับเพิ่ม ทั้งจากค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยที่จะขยับขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่วนหนึ่งย่อมผลักให้ผู้ซื้อ อีกส่วนอาจต้องกล้ำกลืนรับไว้เอง จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องหามาตรการดูแลทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

เพราะในช่วงปลายปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน ราคาสินค้า อาหาร และบริการ ปรับราคาขึ้นหลายระลอก จึงอย่าผลักการขึ้นค่าแรงมาซ้ำเติมผู้บริโภคอีก

ขณะเดียวกัน ต้องดูแลผู้ประกอบการมิให้รับภาระมากเกินไป โดยภาคเอกชนเสนอรัฐช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น โซลาร์รูฟท็อป การเข้าถึงแหล่งทุน การอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจ ฯลฯ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จักสะท้อนความสามารถของรัฐว่ามีประสิทธิภาพขนาดไหน ในการบริหารให้ทุกอย่างอยู่ในความพอดี