ระเบิดเวลาลูกใหม่

(Photo by Mladen ANTONOV / AFP)
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

ช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมา หลังเสร็จภาระกิจซักตากปัดเก็บกวาด มีเวลานั่งพักเลยหยิบมือถือมาอ่านข่าวเหตุบ้านการเมืองเป็นการฆ่าเวลา

สแกนอ่านเพลิน ๆ ไล่เรียงตั้งแต่ ข่าวฝนฟ้าอากาศ, โรคโควิดโรคฝีดาษลิง, ไฟไหม้ผับที่พัทยา, ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เตรียมจะเก็บภาษีที่ดินเศรษฐีปลูกกล้วยปลูกมะนาว, จีนซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน และมาสะดุดกับข่าวกลุ่มแกนนำผู้ใช้แรงงานเข้าพบ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อหารือเรื่องการขอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ

ครับในเนื้อหาข่าวนี้ ท่าน รมว.แรงงาน ก็ยืนยันว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงแน่นอน และคาดว่าน่าจะมีผลช่วงเดือนมกราคม 2566 แต่คงจะปรับเป็นตัวเลขตามที่เสนอมาไม่ได้ และคงไม่สามารถเท่ากันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน

ท่าน รมว.แรงงาน ยังบอกด้วยว่า คณะกรรมการไตรภาคีเตรียมจะประชุมพิจารณาเรื่องนี้กันในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ และคาดว่าตัวเลขการปรับขึ้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5-8%

ครับ ทำเอาผมอยากรู้ขึ้นมาทันทีทันใดว่า ค่าแรงที่จะปรับขึ้น 5-8% นั้นมันจะขึ้นสักกี่มากน้อย เลยต้องกดเครื่องคิดเลขเป็นการด่วน

บวกลบคูณหารทำบัญญัติไตรยางศ์เสร็จ สรุปได้ว่า เบื้องต้นอย่างน้อย ๆ บรรดานายจ้างจะต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มอีกอย่างน้อย ๆ หาก 5% ก็ประมาณ 16-17 บาท หรือหากคิดที่ 8% ก็จะเพิ่มขึ้นอีก 26-27 บาท

แน่นอนว่า อัตราดังกล่าวแต่ละจังหวัดก็คงไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับฐานค่าจ้างเดิมในปัจจุบันเป็นหลัก เช่น จังหวัดชลบุรี-ภูเก็ต 336 บาท ระยอง 335 บาท กรุงเทพฯ 331 บาท พระนครศรีอยุธยา 330 บาท เชียงใหม่ 325 บาท เป็นต้น

เมื่อบวกกับตัวเลขที่คาดว่าจะปรับขึ้น 5-8% แม้อาจจะไม่ได้ตามที่กลุ่มแรงงานขอมา แต่ก็ทำให้ผู้ใช้แรงงานก็คงจะใจชื้นขึ้นมาไม่น้อย หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับขึ้้นมากว่า 2 ปีแล้ว โดยครั้งสุดท้ายก็เมื่อ 1 มกราคม 2563

เงินจำนวนนี้แม้จะไม่ได้มากมายอะไร แต่ก็คงพอช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้บ้างไม่มากก็น้อย

ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำครั้งนี้อาจจะเร็วขึ้น ว่ากันว่าอาจจะร่นมาเป็นช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ด้วยซ้ำไป

แต่อีกด้านหนึ่ง สำหรับบรรดานายจ้าง โรงงาน ซัพพลายเออร์ หรือผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ อาจจะต้องคิดหนัก ใจตุ๊ม ๆ ต้อม ๆ ไปตาม ๆ กัน หลังจากที่ผ่านมาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาหนักทั้งราคาวัตถุดิบและค่าขนส่ง (น้ำมัน) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และต้องทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นระลอก ๆ

และต่างรู้ดีอยู่แก่ใจว่า ปรับราคาแล้วก็ใช่ว่าจะยังขายได้ เพราะปมปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อที่เหือดแห้งคนรัดเข็มขัด

คราวนี้กำลังจะเจอกับเรื่องค่าแรงซ้ำเติมเข้ามาอีก ผู้ประกอบการรายใหญ่อาจจะรับได้ไม่มีปัญหา แต่สำหรับรายกลางรายเล็ก เอสเอ็มอี คงกระอักกระอ่วน กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

นอกจากค่าจ้างแรงงานที่กำลังจะปรับขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่ง หลังจาก “ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้ (11-14 สิงหาคม) วางแผง ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงเคาะแล้วว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งบรรดากูรูคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่า ตัวเลขน่าจะอยู่ที่ 0.25%

จากนี้ไป เชื่อว่าการตัดสินใจลงทุนใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย และเอสเอ็มอี จะมีข้อจำกัดมากขึ้น การดำเนินธุรกิจต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประคับประคองมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่เกิดโควิด-19 คนไทยเป็นหนี้เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง ฐานะการเงินไทยย่ำแย่ลง เมื่อมีปัญหาอื่น ๆ ถาโถมเข้ามาซ้ำเติมทั้งค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อาการก็จะหนักมากขึ้น


ตอนนี้ประชาชนผู้บริโภคตาดำ ๆ คงได้แต่ตั้งคำถามว่า หลังขึ้นค่าจ้างแรงงานแล้วสินค้าจะปรับขึ้นราคาอีกหรือไม่