สินเชื่อแบงก์ครึ่งปีหลังหืดจับ สารพัดปัจจัยฉุด “ครัวเรือน-SME” ก่อหนี้

สินเชื่อแบงก์

แบงก์ประเมินครึ่งปีหลัง สินเชื่อ “เอสเอ็มอี-รายย่อย” โตชะลอ เหตุค่าครองชีพสูง-กำลังซื้อหด กดครัวเรือนก่อหนี้ใหม่ยาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดทั้งปีนี้สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 4-5.5% ชะลอจากปีก่อน มองเงินกู้ “บ้าน-เช่าซื้อ” โตจำกัด ขณะที่ “ทิสโก้” คาดธุรกิจรายใหญ่หันใช้เงินกู้ธนาคารมากขึ้น หลังต้นทุนหุ้นกู้พุ่ง ฟาก “กสิกรไทย” ห่วงเอสเอ็มอีอ่วมต้นทุนทะยาน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2565 นี้ สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ในภาพรวมคาดว่าจะขยายตัว 4-5.5% ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 6.2% ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ทยอยออกจากโครงการและมีการชำระคืนหนี้ ประกอบกับบางผลิตภัณฑ์เติบโตไม่หวือหวา เมื่อเทียบภาวะปกติ เนื่องจากครัวเรือนยังเจอปัญหาค่าครองชีพ จึงมีความระมัดระวังการก่อหนี้เพิ่ม

ตาราง สินเชื่อแบงก์

โดยในไตรมาส 1 การเติบโตหลัก ๆ มาจากสินเชื่อธุรกิจที่มีการทยอยเบิกใช้เงินทุนเวียน (working capital) ส่วนในไตรมาส 2 สินเชื่อยังขยายตัว แต่อยู่ในอัตราที่ชะลอลง เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น จึงมีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ เพื่อล็อกต้นทุน ทำให้การใช้สินเชื่อชะลอลง โดยสินเชื่อธุรกิจไตรมาส 1 ขยายตัวอยู่ที่ 8.8% ส่วนไตรมาส 2 คาดจะชะลอลงเหลือ 7%

“คาดว่าสินเชื่อธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ภาพการเติบโตจะคล้ายไตรมาส 2 เนื่องจากมียอดการชำระคืนหนี้ และผลจากฐานที่สูงของปีก่อน ทำให้การเติบโตชะลอลง ทั้งปีเหลือ 5-6.5% ยอดคงค้างอยู่ที่ 8.4 ล้านล้านบาท จากปีก่อนเติบโตอยู่ที่ 7.8%”

ขณะที่สินเชื่อรายย่อย จะมีบางโปรดักต์ที่เติบโตได้ดี แต่สัดส่วนต่อพอร์ตสินเชื่อรวมไม่สูงมาก ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ไม่รวมน็อนแบงก์) ณ เดือน พ.ค. 2565 ขยายตัวสูงถึง 35.4% มียอดสินเชื่อคงค้าง 3.27 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโปรดักต์ที่หลายธนาคารพยายามทำตลาดและเพิ่มความสะดวกในการขอสินเชื่อผ่านโมบายแบงกิ้ง

โดยมองไปข้างหน้าสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวดี แต่จากภาวะเศรษฐกิจกำลังซื้อกดดันภาคครัวเรือน ทำให้มีความระมัดระวังการก่อหนี้ใหม่ และฐานที่สูง คาดว่าสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งปีขยายตัว 12.5-15% ยอดคงค้างอยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท และหากเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อคาดว่าจะโตจำกัด เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเป็นสินเชื่อวงเงินค่อนข้างใหญ่ ครัวเรือนอาจชะลอการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

“สินเชื่อรายย่อยปีนี้น่าจะโตได้ราว 3-4% จากปีก่อนโต 4% โดยสินเชื่อบุคคลเป็นตัวที่โตโดดเด่น แต่จากกำลังซื้อมีปัญหาหลายครัวเรือนระมัดระวังการก่อหนี้ และธนาคารยังคงติดตามกลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มที่ออกจากโครงการช่วยเหลือไปแล้ว เพราะเป็นกลุ่มเปราะบาง หากไม่ไหว อาจกลับมาปรับโครงสร้างใหม่”

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอียังต้องการสภาพคล่อง เพื่อสต๊อกสินค้า หรือเตรียมขยายการลงทุน ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ จะหันมาพิจารณาใช้สินเชื่อธนาคารมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนหุ้นกู้สูงขึ้น ด้านสินเชื่อรายย่อย จำนำทะเบียนรถและรถใช้แล้ว ยังเติบโตต่อเนื่อง แต่สินเชื่อรถใหม่อาจจะชะลอตัวตามการขาดแคลนชิ้นส่วน

“กลุ่มรายย่อย ธนาคารยังคงติดตามใกล้ชิด เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งธนาคารก็มีมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน มาตรการรวมหนี้ และคืนรถจบหนี้ เป็นต้น โดยหากเงินเฟ้อยืดเยื้อและลากยาว อาจกระทบกลุ่มที่มีรายได้ไม่ประจำ จะยิ่งเปราะบาง ซึ่งเราพร้อมช่วยประคอง โดยการปรับเทอมการชำระหนี้ให้เหมาะสมกับรายได้”

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะแย่กว่าในครึ่งปีแรก เพราะเจอปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หากสถานการณ์ลากยาว จะกระทบต่อกำลังซื้อ ยอดขาย และสภาพคล่องในธุรกิจ

“ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างทบทวนเป้าหมายการเติบโต โดยนำปัจจัยเสี่ยงด้านต่าง ๆ มาพิจารณา เนื่องจากเราต้องการเติบโตแบบมีคุณภาพ ส่วนลูกค้าที่มีปัญหา เราก็พร้อมช่วยเหลือ ด้วยมาตรการคล้าย ๆ เดิม คือ ลดการผ่อนชำระลงตามยอดขายที่ลดลง เพื่อรักษาสภาพคล่องของลูกค้า ส่วนการเติมเงินใหม่จะมีการพิจารณาเป็นราย ๆ ไปตามวัตถุประสงค์การใช้วงเงิน เช่น การขยายธุรกิจใหม่ อาจต้องขอดูก่อน”