ความตกลง RCEP ครึ่งปี ดันการค้าไทย 1.69 แสนล้าน

RCEP

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่าง 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และ 5 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งได้ประกาศบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา

ข้อตกลงฉบับนี้ส่งผลให้ประเทศไทยมีข้อตกลง FTA ทั้งสิ้น 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ได้สร้างแต้มต่อด้านการค้าระหว่างประเทศให้กับประเทศไทยอย่างมาก ในช่วง 6 เดือนแรก 2565 หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้า 169,041 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออก 78,172 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.8% และนำเข้า 90,869 ล้านเหรียญสหรัฐ (ตามกราฟิก)

สัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 135 ปี

ญี่ปุ่น ถือเป็นตลาด 1 ใน 2 ตลาดการค้าหลักของไทยใน RCEP กำลังจะครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต ไทย-ญี่ปุ่น 135 ปี มีแผนจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์จาก RCEP เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้า การลงทุน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ (สำนักงานเจโทร ประจำกรุงเทพฯ) จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “โอกาส MSMEs ไทยและญี่ปุ่น : เจาะลึกการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP”

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2539-2564 ผู้ประกอบการและนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วกว่า 6,000 บริษัท ลงทุน กว่า 800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยธุรกิจส่วนใหญ่ที่เข้ามา เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เป็นต้น นับว่าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับต้น ๆ ที่เข้ามาลงทุนในไทย อีกทั้งยังสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การเงิน ประกันภัย ค้าส่ง-ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมด้วย

ตาราง RCEP

นอกจากนี้แล้ว ไทย-ญี่ปุ่นยังมีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันถึง 3 ฉบับ คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) หรือเจเทปปา บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2550 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) หรือเอเจเซ็ป บังคับใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2552

และความตกลงล่าสุด RCEP ทำให้ประเทศไทยได้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลง เฉพาะเจเทปปาและเอเจเซ็ป 80% ของสินค้าส่งออกที่ได้สิทธิประโยชน์ และเชื่อว่าจากข้อตกลง RCEP ล่าสุดจะทำให้ไทยได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าเพิ่มขึ้น

นางอรมนกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นและไทยมีความตกลงการค้าเสรีที่เป็นภาคีร่วมกัน ล่าสุด อาร์เซป โดยในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 2565 ไทยมีการขอใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ RCEP ส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 46.47 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาแมคเคอเรลกระป๋อง เสื้อคาร์ดิแกน เสื้อกั๊ก และปลาปรุงแต่ง ขณะที่ไทยขอใช้สิทธิ RCEP นำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 5.9 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น ไฮโดรควีโนน เชื้อปะทุไฟฟ้าสำหรับจุดระเบิด ปลาหมึกยักษ์ ด้ายโพลิยูรีเทน และลูกชิ้นปลา คาดหวังว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

เจโทรหนุนใช้อาร์เซป

นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ความตกลง RCEP สร้างโอกาสและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจหลายประการ เช่น ช่วยเสริมสร้างซัพพลายเชนที่หลากหลาย ทำให้เกิดความยืดหยุ่นกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในภูมิภาคมากขึ้น

นอกจากนี้ความตกลง RCEP มีกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่เอื้อต่อผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากกฎเกณฑ์ที่ง่ายขึ้น ช่วยให้การค้าราบรื่นจากที่มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิก RCEP ทุกประเทศใช้แบบฟอร์มหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบเดียวกัน มีระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง

และมีข้อกำหนดด้านพิธีการศุลกากรในการตรวจปล่อยสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น สินค้าเน่าเสียง่ายต้องตรวจปล่อยภายใน 6 ชั่วโมง เป็นต้น ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 และเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยในช่วงครึ่งปี 2565 (ม.ค.-มิ.ย.)

การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 30,478.25 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 12,714.89 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 17,763.36 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

RCEP ลุ้นรับสมาชิกใหม่

นางสาวจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ความตกลง RCEP ตั้งแต่ที่ประเทศสมาชิก 13 ประเทศได้ให้สัตยาบัน และส่งผลให้ความตกลงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี

ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกก็อยู่ระหว่างเร่งรัดให้อีก 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ดำเนินกระบวนการภายในให้แล้วเสร็จเพื่อที่จะได้ลงนามสัตยาบันต่อไป โดยคาดหวังว่าจะเห็นการดำเนินการและลงนามได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อตกลงอาร์เซปมีความสมบูรณ์และเชื่อมโยงและเชื่อมต่อการค้า การลดภาษีในประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ

“ข้อตกลงอาร์เซปเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุด มีการค้า การลงทุนเป็นจำนวนมาก 1 ใน 3 ของโลก มีจีดีพี 31.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 33.6% ของจีดีพีโลก และมีการค้ารวม 13.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 31.5% ของมูลค่าการค้าโลก ซึ่งถือว่ามีศักยภาพทางเศรษฐกิจ”

โดยภายใต้ข้อตกลง RCEP ก็พร้อมที่จะเปิดรับสมาชิกที่สนใจเข้าร่วม หากอินเดียเปลี่ยนใจที่จะกลับเข้ามาเป็นสมาชิกยิ่งจะส่งผลให้ตลาดใหญ่มากขึ้น ทั้งนี้ นับจากมีผลบังคับใช้ไปอีก 18 เดือน RCEP พร้อมจะมีการเปิดรับสมาชิก ซึ่งปัจจุบันมีประเทศที่สนใจเข้าร่วม เช่น ฮ่องกงและชิลี จะช่วยเชื่อมต่อการค้าได้มากขึ้น

ข้อตกลงอาร์เซปซึ่งมี 20 บทบาทความตกลงที่ได้มีการหารือและความตกลงใหม่ที่ข้อตกลงฉบับอื่นไม่มี เช่น การส่งเสริมเอสเอ็มอี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายการค้า การส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเองจำเป็นที่จะต้องศึกษาและใช้โอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ให้เต็มที่ เพื่อผลักดันให้เกิดการค้า การส่งออกในตลาดโลกได้

เพราะข้อตกลงที่ดำเนินการนั้นทำให้ไทยมีแต้มต่อทางการค้า การส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะการยกเลิกภาษี 0% ให้ไทย มีทั้งหมด 39,366 รายการ โดยลด 0% ทันที 29,891 รายการ และก็คาดหวังว่าจะเพิ่มขึ้นจนครบได้ในอนาคต