วิกฤตโรค ASF หมูตายฉุดยอดใช้ “อาหารสัตว์” หด 7%

โรค ASF

อลหม่านข้าวโพด โรค ASF หมูถล่ม ยอดใช้ “อาหารสัตว์” ปี’65/66 ทรุด 7% แต่ยังยืนกรานนำเข้าวัตถุดิบเพิ่ม “จุรินทร์” นั่งหัวโต๊ะ นบขพ.สั่งจัดใหญ่ประกันรายได้ปี 4 แต่ขอยืนราคา กก.ละ 8.50 ปัดเสียงค้านสภาเกษตรยืนกรานต้นทุนปลูกพุ่ง ขอราคา 9.50 บาท

แหล่งข่าวจากวงการอาหารสัตว์เปิดเผยว่า ปีนี้สถานการณ์การใช้อาหารสัตว์ในประเทศมีแนวโน้มจะปรับลดลง 7% หรือปริมาณ 19 ล้านตัน เป็นผลจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) ที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงเสียหายยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้

อย่างไรก็ตาม สมาคมยังประเมินแนวโน้มว่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวโพดในปีนี้ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 4.96 ล้านตัน จะยังไม่เพียงพอต่อการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่คาดว่าจะมีสูงเกือบ 8 ล้านตัน

ซึ่งได้มีการรายงานในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ว่าต้องนำเข้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประชุม นบขพ. ครั้งที่ 3/2565 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่ประชุมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีที่ 4

เพื่อจะเริ่มได้ในวันที่ 1 พ.ย. 65-30 เม.ย. 66 ต่อเนื่องจากโครงการประกันรายได้ปี 3 ที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ต.ค. 65 โดยจะยังคงใช้ราคาประกัน กก.ละ 8.50 บาท เท่ากับ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องเตรียมงบประมาณทั้งสิ้น 1,669.8 ล้านบาท มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 452,000 ราย

พร้อมทั้งเห็นชอบมาตรการคู่ขนาน ซึ่งเป็นมาตรการเช่นเดียวกับ 3 ปีที่ผ่านมาคือ ช่วยชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้กับสถาบันเกษตรกรและผู้รวบรวมข้าวโพดที่เก็บข้าวโพดไว้ ไม่เร่งขายในช่วงที่ข้าวโพดออกมากเพื่อป้องกันราคาข้าวโพดตกต่ำ

ตาราง สถานการณ์ ข้าวโพด

โดยที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2565/2566 ว่า ตลาดโลกจะมีการผลิตข้าวโพด 1,179 ล้านตัน ลดลง 3-4% จากปัญหาภัยแล้งในสหรัฐ และสหภาพยุโรป

ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตหลัก และความต้องการใช้ก็จะมีปริมาณ 1,184 ล้านตัน ลดลง 1.25% แต่สถานการณ์การผลิตข้าวโพดในประเทศไทยคาดว่าจะผลิตเพิ่มขึ้น เป็น 4.96 ล้านตัน หรือเพิ่ม 0.4% แต่ก็ยังน้อยกว่าปริมาณความต้องการใช้ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 7.98 ล้านตัน

ทั้งนี้ จึงทำให้ราคาเฉลี่ยรับซื้อข้าวโพดในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังคงเฉลี่ยที่ 11.35 บาท สูงกว่า “ราคาประกันรายได้ปี 3” จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา 11 งวด ยังไม่ต้องจ่ายชดเชยให้เกษตรกร จากวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ 1,863 ล้านบาท โดยงวดสุดท้ายจะสิ้นสุดวันที่ 20 ต.ค. 2565

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรเสนอโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา เป็นการปลูกในช่วงแล้ง เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวโพดที่มีความจำเป็นต้องใช้เป็นจำนวนมากทำวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ

เพราะความต้องการใช้ข้าวโพดในประเทศเฉลี่ยปีละ 7.98 ล้านตัน แต่เราผลิตในฤดูกาลผลิตปกติได้แค่ 4.96 ล้านตัน ยังขาดอีกเยอะมาก จำเป็นต้องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ปริมาณการผลิต 0.8 ล้านตัน ส่วนที่เหลือจะนำเข้าเพื่อมาชดเชย

สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนานั้น จะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 65-15 ม.ค. 66 ใช้งบประมาณ 262 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษโดยจ่ายดอกเบี้ย 3.5% รัฐบาลจะช่วย 3% จากปกติ 6.5% ไร่ละไม่เกิน 4,000 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน 60,000 บาท

และมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ประกันความเสี่ยงกรณีเกิดภัยพิบัติข้าวโพดหลังนา หรือเกิดโรคพืช ซึ่งกรณีภัยพิบัติได้รับการชดเชย 1,500 บาท/ไร่ โรคพืช 750 บาท/ไร่ โดยรัฐบาลเป็นผู้ช่วยจ่ายเบี้ยประกันให้ทั้งหมด 172 บาท/ไร่ แทนเกษตรกรร้อยเปอร์เซ็นต์

แหล่งข่าวจากสภาเกษตรกรเปิดเผยว่า ขอให้ประธาน “รับฟัง” ความเห็นเกษตรกรว่า ในขณะนี้สถานการณ์ราคาตลาดขยับขึ้นไปที่ 11.30-11.40 บาทแล้ว ทางสภาเกษตรกรเสนอให้ขอรัฐพิจารณาทบทวนการใช้มาตรการประกันรายได้หลังจากผ่านไประยะหนึ่งแล้ว


เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย ค่าแรงงาน แต่รายได้เกษตรกรยังต่ำกว่าความเป็นจริง หากเป็นไปได้การปรับฐานราคาประกันจาก 8.50 บาท เป็น 9.50-10.00 บาท เพื่อขยับให้ใกล้กับฐานราคาตลาดก็จะช่วยยกระดับราคาและรายได้เกษตรกรให้ดีขึ้น