กกร.มีมติร้องคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ทบทวนอัตราค่าจ้างปี”61ใหม่! ก่อนเสนอครม.เห็นชอบ

กกร.มีมติร้องคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ทบทวนอัตราค่าจ้างปี’61ใหม่ ก่อนเสนอ ครม. เห็นชอบ หลังจากการสอบถามความเห็นเอกชนในต่างจังหวัดเสนอแนะ7ข้อ หวั่นกระทบภาคเกษตร บริการ และเอสเอ็มอี

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.มีมติเห็นชอบ โดยขอเสนอให้รัฐบาลมีการทบทวน มติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้มีมติออกมาตามคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลาง ที่เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2561 ที่ 5-22 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยปรับขึ้นอยู่ที่ 1.64-7.14% ซึ่งมองว่าเป็นอัตราไม่สอดคล้องกับมติคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และบทบัญญัติของกฎหมาย (มาตรา 87 แห่ง พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541) ที่กำหนดไว้ โดยต้องการให้พิจารณาตามความเป็นจริงและตามหลักกฎหมาย อย่างไรก็ดี ผลของมติ กกร. ครั้งนี้จะเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่มีมติของคณะกรรมการค่าจ้างแรงงานกลางมีมติออกมานั้น ได้มีการสอบถามความคิดเห็นไปยังสมาชิกของ กกร. ที่เกี่ยวข้องทั้วงหอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ถึงผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่กว่า 92% การปรับค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินกว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดพิจารณา และยังพบว่า 38 จังหวัดไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เช่น ระยอง นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ เป็นต้น และ 28 จังหวัดที่เห็นด้วยในการปรับขึ้นค่าจ้าง และ 11 จังหวัดที่ไม่ได้ออกความเห็นเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ดี กกร. ได้รวบรวมความเห็นจากสมาชิกในแต่ละจังหวัดและมีข้อเสนอแนะ 7 ข้อต่อผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 คือ 1. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้มีการดำเนินการแล้วเมื่อ 1 มกราคม 2560 2. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ กกร. มีความเห็นว่า ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นจริงของแต่ละจังหวัด และไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด อีกทั้ง ไม่เป็นไปตามการคำนวณดัชนีทางเศรษฐกิจที่ระบุไว้ตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

3. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานและการผลิตเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวได้ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการเร่งให้มีอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น จากการที่ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงาน

4. การปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เกินพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคม จะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในภาพรวม รวมทั้ง ค่าครองชีพที่จะสูงขึ้นตาม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน 5. กกร. สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน เพื่อมุ่งสู่การลอยตัวของค่าจ้างในที่สุด

6. ในการปรับค่าจ้างครั้งนี้ กกร. มีความเป็นห่วงภาคเกษตร ภาคบริการ และ SMEs เป็นอย่างยิ่งจึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน 7. ภาครัฐควรดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมมีส่วนร่วม

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาค่าจ้างแรงงานต้องการให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม เศรษฐกิจ สภาพความเป็นอยู่ของแต่ละพื้นที่ เพราะจะรู้ข้อเท็จรริงมากกว่า และให้พิจารณาภายใต้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและเป็นไปตาม พรบ. ด้วย และการพิจารณาค่าจ้างที่เกิดขึ้นนั้น สูงเกินไปทั้งที่บางจังหวัดไม่มีภาคอุตสาหกรรม หรือมีแค่ภาคเกษตร เช่น อุตรดิตถ์ เลย ยโสธร พะเยา เป็นต้น หรือจังหวัดระนองที่มีการปรับค่าจ้างแรงงานถึง 10 บาท แต่มีแรงงานที่เป็นคนไทยไม่ถึง 10%


อีกทั้ง บางจังหวัดที่ไม่ต้องการให้ปรับขึ้น เช่น ระยอง ซึ่งคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดระยอง มีมติคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมที่ 308 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราเดิมของปี2560 แต่ประกาศอัตราค่าจ้าง ปี 2561กำหนดให้ปรับเป็น 330 บาทต่อวัน จึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ภาคบริการ และผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมากและเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายค่าจ้างเอง และนอกจากนี้ ก็มองว่าหลายจังหวัดการพิจารณาไม่ได้สอดคล้องตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และหากยับงดำเนินการเป็นอย่างนี้เชื่อว่าแรงงานจะตกงานมากขึ้น

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำนั้น ต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง เพราะมองว่าบางจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเท่ากันทั้งที่ขนาดของจังหวัดต่างกันมาก เช่น เชียงใหมา ตราด เป็นต้น ซึ่งเห็นสมควรที่พิจารณาในอัตราเท่ากันหรือไม่ และระยอง ปรับขึ้นเนื่องจากมองว่าเป็นพื้นที่การลงทุน EEC และนั้นเป็นเรื่องในอนาคต ซึ่งไม่สอดคล้องข้อเท็จจริงในปัจจุบันซึ่งยังไม่มีและยังมีภาคเกษตรอยู่เยอะ ส่วนจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะหรือไม่นั้น ก็ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากบางอุตสาหกรรมแม้ค่าแรงเพิ่มขึ้นแต่ศักภาพและประสิทธิภาพการทำงานมีเพียงพอก็ไม่กระทบแต่อย่างไร อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมก็มีการนำเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยดูแลและสนับสนุนเป็นเรื่องของการเพิ่มทักษะแรงงาน ซึ่งประเทศไทยขาดแรงงานทักษาะมาก และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทั้งแรงงานและอุตสาหกรรมเพื่อการแข่งขัน พร้อมในอนาคต้องการให้อัตราค่าจ้างแรงงานนั้นลอยตัวเป็นไปตามกลไกและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกดค่าจ้างและประสิทธิภาพต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการ