แห่ร่วม “SME ปัง ตังได้คืน” คึก สสว.เดินหน้าเฟส 2 ต่ออีกปี

SMEปังตังได้คืน

6 เดือนแรก เอกชน 2 พันราย แห่ร่วม “SME ปัง ตังได้คืน” ลุยต่อเฟส 2 ถึง ก.ย. 66 ตั้งเป้า 6,000 ราย ปรับเกณฑ์ “จดทะเบียนปี’64-ไซซ์ M” ร่วมได้

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า หลังจากการเปิดตัวโครงการ “SME ปัง ตังได้คืน” โครงการส่งเสริมผู้ประกอบผ่านระบบ BDS หรือ business development service ในช่วง 6 เดือน ใน 3 หมวด คือ

การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายการตลาดในประเทศ และการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายการตลาดต่างประเทศ มีผู้ประกอบการ SMEs สมัครกว่า 2,000 ราย ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน จัดกลุ่มการอุดหนุน และเตรียมยื่นการพัฒนาแล้วกว่า 600 ราย และมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาและอยู่ระหว่างการพัฒนากว่า 300 ราย

โครงการนี้จัดภายใต้แนวคิดช่วยผลักดันให้ SMEsเข้าถึงการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนายกระดับศักยภาพในด้านต่าง ๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกบริการที่ตรงกับความต้องการและเหมาะสมกับธุรกิจ

รวมถึงสามารถเปรียบเทียบราคาบริการ และต่อรองราคาจากหน่วยงานต่าง ๆ บนระบบ BDS ได้ด้วยตนเอง และ สสว.จะช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมด้วยช่วยจ่าย (copayment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดถึงรายละ 200,000 บาท

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นกลุ่มการค้าส่งและค้าปลีก กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ยาและสมุนไพร และกลุ่มท่องเที่ยว นอกจากนี้พบว่าผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติยืนยันตัวตน และจัดกลุ่มการอุดหนุนจำนวน 600 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดย่อม (SE) มากที่สุด รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจรายย่อย (micro SMEs) และกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง (SE+)

ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติ 300 ราย ส่วนใหญ่เลือกบริการด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เช่น บริการการจัดทำฉลากโภชนาการ และบริการประเมินอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ โดยสถาบันอาหาร บริการตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยของอาหาร

โดยบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด, บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, บริการเตรียมความพร้อมเพื่อขอการรับรองระบบมาตรฐาน ISO 9001 : 2015 ระบบบริหาร คุณภาพ

โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และบริการในด้านการตลาดมีผู้ประกอบการยื่นข้อเสนอการพัฒนา เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจำหน่ายสินค้า CARE ASIA “Total Solutions for Health & Wellness” เมื่อวันที่ 1-4 ก.ย. 2565 ที่ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา โดยผ่านสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

“ผลสรุปวงเงินที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว กว่า 20 ล้านบาท เป็นสัดส่วนที่ สสว.ให้การอุดหนุนประมาณ 80% คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 15 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการ SMEs จะได้ประโยชน์จากการใช้บริการและเกิดผลลัพธ์เป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 30 ล้านบาท

นอกจากผลลัพธ์ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน จะสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างโอกาส และร่วมขับเคลื่อนสร้างการเติบโตให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยปัจจุบันมีผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ที่ขึ้นทะเบียนบนระบบ BDS แล้วกว่า 90 หน่วยงาน และให้บริการขึ้นบนระบบแล้วกว่า 120 บริการ”

“ผลการดำเนินการที่ชัดเจนคือ สิทธิของผู้ประกอบการ SMEs ในการเลือกใช้บริการในแต่ละด้านที่สนใจได้เอง ต่างจากโครงการทั่วไปและการอุดหนุนของ สสว.เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ร่วมจ่าย เขาต้องเลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งก็คือการลงทุน ต่างจากโครงการบางอันที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ต้องจ่าย

หรือไม่มีความเสี่ยงเลย แปลว่าเขาคงไม่เข้ามาลงทุนในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ เพราะฉะนั้นประสิทธิภาพเราเชื่อว่าได้เต็มที่ รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs สามารถเลือกผู้ให้บริการได้เองด้วย ข้อดีคือเราสามารถเห็นเรื่องของการพัฒนาว่าไปในทิศทางใด เป็นสิ่งที่ถูกจุดและตรงเป้าหมาย”

นายวีระพงศ์กล่าวต่อว่า จากนี้ สสว.ยังคงเดินหน้าในเฟสที่ 2 ไปถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 ตั้งเป้าหมาย 6,000 ราย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถยื่นข้อเสนอการพัฒนา ถึง 31 ส.ค. 2566

โดย สสว.นำข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการมาปรับปรุง เพราะทราบว่ามีผู้ประกอบการต้องการเข้าร่วมมาตรการอีกจำนวนมาก รวมทั้งจะเร่งสร้างเครือข่ายผู้ให้บริการธุรกิจ และเพิ่มบริการใหม่ ๆ ให้มากขึ้น เช่น บริการ โรงงานต้นแบบ (prototype plant) จากอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

เพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสการประกอบธุรกิจ กลุ่ม micro SMEs จะสามารถเข้าไปใช้ในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานในราคาต้นทุนการดำเนินงานไม่สูง กลุ่ม SE และ SE+ สามารถใช้บริการทดลองเพื่อผลิตสินค้าหรือใช้บริการเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อทดสอบการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าและมาตรฐานสูงได้

นอกจากนี้ สสว.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เข้าถึงผู้ประกอบการมากขึ้น เช่น จะเปิดให้ SMEs ที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจในปี 2564 สามารถขอรับบริการได้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท สามารถขอรับบริการได้โดยแนบเอกสารรายรับ รายจ่าย

และเอกสารการยืนยันสถานะการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ รวมไปถึงการเพิ่มผู้ประกอบการกลุ่ม ME ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ให้สามารถรับบริการได้ และจะได้รับวงเงินช่วยเหลืออุดหนุนเท่ากับกลุ่ม SE+ คือ ได้รับการอุดหนุนงบประมาณ ร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

“เรื่องเกณฑ์คุณสมบัติที่ขยายให้กว้างขึ้น คือ 1.ผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนในปี 2563-2564 จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ จากเดิมตอนเริ่มต้นโครงการจะอยู่ที่จดทะเบียนในปี 2562 และ 2.การเพิ่มขนาด SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ

จากเดิม เป็น SE+ ตอนนี้ขยายมาที่ขนาด ME ซึ่งความต้องการพัฒนาค่อนข้างต่างกัน โดยธุรกิจขนาด ME ความต้องการอาจเป็นเรื่องมาตรฐาน ISO หรือเรื่องอื่น ๆ ที่สูงขึ้น”

นอกจากนี้ สสว.ปรับปรุงการใช้งานระบบ BDS ให้ง่ายมากขึ้น รวมทั้งปรับปรุงคู่มือ และคลิปสอนการใช้งาน เพื่อสะดวกต่อการขอรับบริการ ช่วยให้เข้าถึงความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ให้บริการที่สอดรับกับความต้องการของท่าน สามารถผ่านมาทาง สสว.ได้ หรือบางทีอาจใช้บริการเรื่องการประเมิน หรือการทำโรงแรมเป็นกรีนโฮเต็ล เป็นสแตนดาร์ดในการให้การรับรอง รวมถึงมาตรฐานสินค้าสีเขียว หรือกรีนโปรดักต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการ ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค. 2566 ผ่าน https://bds.sme.go.th/ หรือโทร.1301 หรือโทร.0-2038-5858 หรือศูนย์ให้บริการ SMEs ครบวงจร หรือ OSS สสว.ในทุกจังหวัด