โควิด-19 สังคมสูงวัย ดันจัดตั้งธุรกิจบริการสุขภาพใหม่ 8 เดือน พุ่ง 90%

หมอ แพทย์ สุขภาพ

สินิตย์ เผยสังคมผู้สูงอายุและสถานการณ์โควิด-19 ดันธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามฟื้นตัว 8 เดือนแรกของปี 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่กว่า 353 ราย เพิ่มขึ้นจาก 8 เดือนแรกปี 2564 กว่า 90% คาด ตลอดปี 2565 มูลค่าตลาดของธุรกิจทั่วโลกสูงถึง 206 ล้านล้านบาท

วันที่ 30 กันยายน 2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่าปี 2583 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุประมาณ 20.5 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ

สินิตย์ เลิศไกร
สินิตย์ เลิศไกร

ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลด้านบวกต่อธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงาม เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุหันมาดูแลตัวเอง และต้องการบริการด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น อีกทั้งโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ทั้งการทำงานแบบ Work from Home การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การระมัดระวังเรื่องสุขอนามัย การเลือกซื้อวิตามินและอาหารเสริมต่าง ๆ ส่งผลให้ประชาชนมองหาบริการด้านสุขภาพและความงามมากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา โดย 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2565 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงถึง 353 ราย ทุนจดทะเบียน 969.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 จำนวน 167 ราย หรือร้อยละ 90 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 659.32 ล้านบาท หรือร้อยละ 212.62

(ปี 2564 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ 186 ราย ทุน 310.10 ล้านบาท) เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ 56 ราย ทุนจดทะเบียน 124.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 จำนวน 38 ราย หรือร้อยละ 211.12 และทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 105.10 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 539 (สิงหาคม 2564 จดทะเบียน 18 ราย ทุน 19.50 ล้านบาท)

ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามที่ดำเนินกิจการอยู่ ณ 31 สิงหาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,621 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.19 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ และมีมูลค่าทุน 7,511.48 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.036 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 836 ราย (ร้อยละ 51.57) ทุนจดทะเบียนรวม 5,339.31 ล้านบาท (ร้อยละ 71.08) รองลงมาคือ ภาคกลาง จำนวน 224 ราย (ร้อยละ 13.82) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 180 ราย (ร้อยละ 11.10) ภาคเหนือ 175 ราย (ร้อยละ 10.80) ภาคตะวันออก 101 ราย (ร้อยละ 6.23) ภาคใต้ 78 ราย (ร้อยละ 4.81) และภาคตะวันตก 27 ราย (ร้อยละ 1.67)

ภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจ นักลงทุนชาวไทยครองแชมป์อันดับ 1 มูลค่าทุน 7,286.32 ล้านบาท (ร้อยละ 97.00) รองลงมาคือ จีน ทุน 80.92 ล้านบาท (ร้อยละ 1.08) ฮ่องกง ทุน 38.69 ล้านบาท (ร้อยละ 0.52) อิตาเลียน ทุน 34.00 ล้านบาท (ร้อยละ 0.45) และสัญชาติอื่น ๆ ทุน 71.55 ล้านบาท (ร้อยละ 0.96)

ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจ รายได้เฉลี่ยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทต่อปี โดยรายได้รวมปี 2562 จำนวน 16,085.25 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 14,316.74 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 11) และปี 2564 จำนวน 15,153.89 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.85) ทั้งนี้ คาดว่าปี 2565 มูลค่าตลาดของธุรกิจทั่วโลกจะสูงถึง 206 ล้านล้านบาท และจะเติบโตต่อเนื่องตามสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่าประเทศไทยมีประชากรจำนวน 66,171,439 คน จำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ (อายุตั้งแต่ 60-150 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 12,241,542 คน หรือร้อยละ 18.50 แบ่งเป็นเพศชาย 5,424,781 คน เพศหญิง 6,816,761 คน กรุงเทพมหานครมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุสูงสุด 1,171,900 คน รองลงมาคือ นครราชสีมา 495,452 คน เชียงใหม่ 379,118 คน ขอนแก่น 340,855 คน และอุบลราชธานี 303,720 คน

จากข้อมูลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะเกิดโรคต่าง ๆ และต้องการการดูแลที่มากกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้น ความต้องการธุรกิจด้านการบริการและสุขภาพจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน