ฝ่าวิกฤตพลังงานรับมือปีหน้า กองทุนน้ำมันฯติดลบ 1.3 แสนล้าน

วิศักดิ์ วัฒนศัพท์
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์
อัพเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 10 พ.ย. 2565 เวลา 09.54 น.

สัมภาษณ์พิเศษ

การกุมบังเหียนกองทุนน้ำมันฯในยุควิกฤตพลังงานนับเป็นความท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะยังไม่เห็นว่าแสงสว่างปลายอุโมงค์จะเป็นเมื่อไรด้วย นับว่ายากยิ่ง

“วิศักดิ์ วัฒนศัพท์” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ สกนช. ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ผอ.สกนช. เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 เป็นจังหวะเดียวกับวิกฤตพลังงานพอดี ทั้งยังนับเป็นวิกฤตครั้งแรก นับจากที่กองทุน หรือเดิมคือ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน. โยกจากใต้ปีกกระทรวงพลังงาน มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2562

วิกฤตครั้งแรกของกองทุน

เดิม สบพน.อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงพลังงาน วิกฤตตอนนั้น นับจากยุครัฐบาลสมัคร-อภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ ที่ใช้เงินกู้ แต่เป็นวิกฤตสั้น ๆ เช่น ต้มยำกุ้ง ต่างจากวิกฤตรอบนี้มีทั้งสงคราม และโควิด-19 ประเด็นปัญหามีความแตกต่างกัน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ต้องปรับการทำงานตั้งแต่เดิมประชุมเดือนละครั้ง แต่ตอนนี้ กบน.ประชุมทุกวัน

“วิกฤตรอบนี้หักปากกาเซียน เพราะปกติการบริหารจะดูว่าฟอร์เวิร์ดไพรซ์เป็นอย่างไร ซึ่งส่วนมากเป็นซีซันนิ่ง คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว มีผลให้ราคาสะวิงอย่างไรจะมีฟอร์แมตอยู่ แต่มารอบนี้เปลี่ยนเร็วมากทุกวัน บางครั้งวันเดียว 10 กว่าเหรียญสหรัฐ

โดย 2 ตัวที่เราดูแลคือ น้ำมันดีเซล เดิมจะเรียกว่าวิกฤตได้ คือ ราคาสะวิง 1 สัปดาห์เปลี่ยนมากกว่า 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่นี่เปลี่ยน 10 เหรียญสหรัฐ ส่วนแอลพีจีในสัปดาห์หนึ่งสะวิงเกิน 35 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือถัง 15 กก. ราคาขายมากกว่า 363 บาท ถือว่าเป็นวิกฤต ตอนนี้ราคาขยับไปที่ 408 บาทแล้ว”

สาเหตุเกิดจากราคาตลาดโลกสูงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตอนนี้กองทุนก็ยังช่วยทั้งดีเซล และแอลเอ็นจี ยังติดลบอยู่ทั้งสองขา 129,000 ล้านบาท

กลไกกองทุน

กลไกกองทุนจะมีมาตรา 26 กำหนด ว่าให้มีเงินได้ห้ามเกิน 4 หมื่นล้าน และกู้ได้แค่ 20,000 ล้านบาท “แต่” มีวรรค 3 ตอนท้ายที่ใช้อยู่คือ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเราใช้แชนเนลนี้ เพราะว่าบางเดือนมีเงินไหลออก 2 หมื่นล้าน ตัวนี้คือ ถ้าใช้กลไกกองทุนไม่สามารถเดินต่อได้ ก็คือต้องเอ็กซิต

ซึ่งในแผนบริหารจัดการในภาวะวิกฤตพลังงานระบุว่า ถ้ากองทุนเริ่มติดลบ ต้อง 1) ไปเจรจาปรับลดภาษีสรรพสามิต เราก็ดำเนินการ ไปขอลดซึ่งเขาก็ลดให้บางส่วน แต่สงครามก็ยังลากยาว ทำให้เราต้องมาขยายต่อ ล่าสุดเป็นการขยายวงเงินกู้ 150,000 ล้านบาท

ถ้าต้องแบกไปเรื่อย ๆ

ตอนนี้มี 2 อย่างที่มอนิเตอร์อยู่ คือ ฟอร์เวิร์ดไพรซ์ติดตามราคาตลาดโลกทุกวัน ฝั่งโอเปกพลัสจะไม่เพิ่มกำลังการผลิต แต่อีกด้านคือ “รีเซสชั่น” ของอเมริกา หรือทางยุโรป ทำให้ดีมานด์ลดลง ราคาไม่เพิ่ม ซึ่งเราพบว่าราคาฟอร์เวิร์ดไพรซ์ที่เรามอนิเตอร์อยู่เทรนด์ขาลง แต่ไม่หวือหวา ค่อย ๆ ลง และยังกังวลส่วนตัวกับทางบอร์ดว่าช่วงหน้าหนาวทุกคนจะกลัว เพราะว่าซีซันนิ่งหน้าหนาวนี้ราคาพลังงานจะแพง

“ตอนนี้น้ำหนักเรื่องเศรษฐกิจโลกน่าจะมีประเด็นมากกว่า เพราะตอนนี้รัสเซียถูกบีบรัดอยู่ ไบเดนกำลังเลือกตั้งกลางเทอม ถ้ารีเซสชั่นทำให้เศรษฐกิจไปต่อไปไม่ได้ หรือจีนปิดประเทศนาน ๆ ความต้องการใช้น้ำมันลดลง ราคาน้ำมันจะลดลง คนก็ไม่มีกำลังซื้อ กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็จะลดลง

เพราะดีมานด์ลดลง ซัพพลายก็ผลิตมาขายไม่ได้ เราก็ทำหน้าที่ส่งสัญญาณ ทำงานบนแฟกต์เพียงแต่เราเห็นฟอร์เวิร์ดไพรซ์ราคาลง แต่ก็ไม่รู้ต่อไปจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดเป็นเกณฑ์ของโลก ปลาซิวปลาสร้อยก็กระทบ”

อุดหนุนยาวนานข้ามปี

ตอนนี้มองว่าราคาที่ตรึงไว้ 35 บาท ดีเซลเป็นตัวเลขที่ภาคธุรกิจเริ่มยอมรับใช้เป็นต้นทุนคำนวณเพราะไม่มีโอกาสกลับไป 30 บาทแล้ว แต่ก่อนตอนที่ตรึงราคาดีเซล 30 บาท เราจ่ายซับซิดี้ 14 บาท ถ้าใช้ดีเซลวันละ 60 ล้านลิตร เงินหายไปจากการชดเชย 180 ล้านบาทต่อวัน หรือ 5,400 ล้านแพงมาก ๆ ตอนนั้นต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปต่างประเทศขึ้นไป 170-180 เหรียญสหรัฐ

พอมาตอนนี้เราซับซิดี้ 1.98 บาทต่อลิตร เพื่อให้ดีเซล 35 บาท จากราคาที่แท้จริงที่ 37 บาท บนสมมุติฐานที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปต่างประเทศอยู่ที่ 120-125 เหรียญสหรัฐ และค่าบาทปรับจาก 33-34 เป็น 37-38 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเราก็พยายามเบนช์มาร์กกับเวียดนาม อยู่ที่ 38 บาท เรายังถูกกว่าถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน แต่อยู่ที่ว่า นโยบายการสร้างสมดุล รัฐบาลจะเอาอย่างไร เพราะกองทุนแค่กลไกตัวเล็ก ๆ และมีขีดจำกัด

“เวิร์ดเคส เงินตอนนี้ถ้าติดลบ 130,000 ล้านบาท มีกรอบการกู้ 150,000 บาท เมื่อจ่ายหนี้แล้วเหลือ 20,000 บาท ซับซิดี้อยู่ 2-3 บาท หากใช้ดีเซล 60 ล้านลิตรต่อวัน รวม 180 ล้านบาทต่อวัน รวม 30 วันเท่ากับอุดหนุนเดือนละ 5,400 ล้านบาท หากคำนวณจากเงินที่มี 20,000 ล้าน ประมาณ 4-5 เดือน หรือจะถึง ก.พ. 2566 พอดี นั่นคือที่มาของการพิจารณาเรื่องการขึ้นราคาอาจจะต้องขยับจาก 35 บาท”

แนวโน้มการใช้ปีหน้า

เท่าที่ดูล่าสุด การใช้ดีเซลเพิ่มจาก 60 เป็น 70 ล้านลิตร ซึ่งเข้าไปใกล้กับช่วงเศรษฐกิจดี ๆ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวน่าจะได้ผล และส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการใช้น้ำมันดีเซลไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ราคาแอลเอ็นจีปรับสูงขึ้น

แผนรับมือวิกฤตพลังงานปีหน้า

การบริหารจะมอนิเตอร์เทียบกับประเทศในอาเซียน ซึ่ง “ราคาไทยไม่ได้แพงโดดไปกว่าเพื่อนบ้าน” ยิ่งสิงคโปร์คนละแบบกับเรา มาเลเซีย และบรูไนราคาถูกกว่าเรา เขาเป็นผู้ผลิต เวียดนามตอนหลังมาเท่าที่ทราบเขาพยายามทำเอากองทุนเข้าไปช่วย แต่ไม่แน่ใจเรื่องระบบผู้ค้าของเขาว่าเป็นอย่างไร เราห้ามขาดแคลน มีกฎหมายบอกว่าเราต้องสำรองน้ำมัน ยิ่งเทศกาล ไม่ว่าปีใหม่ สงกรานต์ เราจะบอกให้ทางปั๊มน้ำมันต้องสต๊อกเพิ่ม

ตรงนี้มีอีกมิติ คือ ไม่ว่าอย่างไรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ “คอนโทรลราคาดีเซล” ไม่ให้แพงมากเกินไป เพราะจะทำให้เงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา จึงให้กลไกของกองทุนติดลบไปเรื่อย ๆ ข้อเสนอได้เสนอไปว่า ตามแผนด้วยความที่เงินเรามีอยู่จำกัด กองทุนจะไม่สามารถเดินต่อได้ ต้อง “ลอยตัว” แล้ว แต่ผลสรุปบอกไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นลาว ศรีลังกา หรือเวียดนาม ซึ่งเพิ่งมีข่าวว่าไม่มีน้ำมันจำหน่าย

“ไทยยังดีกว่าหลายประเทศ เพราะยังมีผู้ค้ามาตรา 7 ซึ่งหารือร่วมกันถึงแนวทางการทำงานว่าอยู่ระหว่างการกู้ ทุกคนรู้สถานการณ์ สำหรับการจ่ายคืนตามเงินสภาพคล่องที่มีแต่ยังต่ำ เพราะมีรายได้เข้ามาประมาณเดือนละ 2,000 ล้าน จากกองทุนหนุนของ LPG ต่ำกว่าปกติที่เคยจ่าย 5,000-7,000 ล้านต่อเดือน จึงสะสมหนี้มาเรื่อย ๆ แต่ถ้าแบงก์ไม่ปล่อย เราก็จ่ายต่อไม่ได้ จากรายรับที่มี 2,000 ล้านต่อเดือน”