กองทุนน้ำมันฯกู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท คาดหนี้สาธารณะปีงบฯ’66 พุ่ง 61.2%

แพตตริเชีย มงคลวนิช
แพตตริเชีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

สบน.เผยบรรจุแผนกู้เงินกองทุนน้ำมันฯลอตแรก 3 หมื่นล้านบาท ไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะแล้ว คาดหากกู้เงินเต็มเพดาน 1.5 แสนล้านบาท หนี้สาธารณะปีงบฯ’66 พุ่ง 61.2% ชี้ไม่เป็นภาระรัฐบาล กองทุนเป็นผู้ชำระหนี้

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นางแพตตริเชีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท นั้น ในวงเงิน 3 หมื่นล้านบาทแรก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติไว้แล้วนั้น สบน.ได้บรรจุในแผนบริหารหนี้แล้ว แต่ขณะนี้กองทุนยังไม่ได้ดำเนินการกู้เงิน

ขณะที่อีก 1.2 แสนล้านบาทนั้น สบน.จะดำเนินการบรรจุวงเงินเข้าสู่แผนบริหารหนี้อีกครั้ง ซึ่งหากกองทุนดำเนินการกู้เงินเต็มเพดานจะส่งผลให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 61.2% แต่หากกู้ไม่เต็มกรอบวงเงิน หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 60.43% โดยการคำนวณดังกล่าวอยู่ภายใต้สมติฐานจีดีพีในปี 2566 ขยายตัวที่ 18.5 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี การเข้าไปค้ำประกันให้กับกองทุนน้ำมันฯนั้น นับเป็นตัวเลขหนี้สาธารณะ แต่รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้รับภาระในการชำระหนี้ เพราะกองทุนจะเป็นผู้ชำระหนี้เอง โดยสาเหตุที่มี พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ออกมา เพราะกองทุนกู้ไม่ได้ ทางกระทรวงพลังงานก็มองว่าเป็นวิกฤตพลังงานหากกู้เงินไม่ได้ มิฉะนั้น สภาพคล่องจะไปต่อไม่ได้ เพราะกองทุนพลังงานต้องดูแลประชาชน ด้วยการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงจนเกินไป และเพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนในประเทศ

“ตอนนี้กองทุนยังไม่กู้เงิน และยังไม่มีหนี้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา แต่หาก สบน.ค้ำประกัน กองทุนก็เป็นผู้รับชำระหนี้ ไม่ใช่รัฐ แต่รัฐจะเข้าไปช่วยเมื่อกองทุนไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้น เพราะวงเงินจะกระโดดไปเป็นหนี้รัฐทันที และรัฐจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่เรียนว่าใน พ.ร.ก.เขียนไว้ชัดว่า มีระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน เนื่องจากเป็นวิกฤตพลังงาน และหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น กองทุนต้องชดใช้กระทรวงการคลัง ด้วยการทยอยชำระหนี้ เช่นเดียวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)”