ไทย โคโคนัท ชู ‘วูล์ฟเฟีย’ อาหารไทยคว้ารางวัลนวัตกรรมระดับโลก

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ไทยขึ้นชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก” ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบตั้งแต่ต้นน้ำทำให้ไทยมีจำนวนโรงงานอาหารหลายพันแห่ง ในจำนวนนี้มีผู้ผลิตอาหารรายหนึ่งที่มีความสามารถโดดเด่นจนได้รับรางวัล “Sial Innovation” ระดับซิลเวอร์ (อันดับ 2 ของโลก) เฉือนชนะสินค้า 1,800 รายการจาก 200 ประเทศ ภายในงานแสดงสินค้าอาหารโลก “Sial 2022” ที่ี่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเร็ว ๆ นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.วรวัฒน์ ชิ้นปิ่นเกลียว” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โคโคนัท จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้าแบรนด์ “โคโค่บุรี” เจ้าของนวัตกรรม “ไข่น้ำแช่แข็ง” หรือ “Fresh Frozen Wolffia” ที่ได้รับรางวัล

จุดเริ่มต้นนวัตกรรมวูล์ฟเฟีย

วูล์ฟเฟีย ถ้าภาษาบ้าน ๆ เรียกว่า ไข่น้ำ ถ้าเป็นคนเหนือหรือคนอีสานเรียก ผำ เป็นพืชน้ำลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ที่สุดในโลก แต่จริง ๆ พืชชนิดนี้มีราก ลำต้น หน่อ แต่ลอยในน้ำเหมือนแหนสีเขียว ๆ

“ถ้าเสิร์ชหลายงานวิจัยบอกว่าผำให้สารโปรตีนสูง มีวิตามินบี 12 นอกจากทำอาหารไทยยังสามารถใช้ทำสลัด สปาเกตตีได้ พืชนี้ใช้เวลาเพียง 4 วันก็เติบโตเต็มที่ เทียบกับการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ต้องเลี้ยง 45 วัน หมูต้องเลี้ยง 6 เดือน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนด้วย นี่จึงเป็นการสร้างโปรตีนที่เหมาะสมกับมนุษย์ได้เร็วที่สุด และต้นทุนต่ำ บริษัทต่อยอดนวัตกรรมและสามารถเพาะเลี้ยงผำได้ในระบบฟาร์มปิดได้แล้ว”

คุณสมบัตินี้ทำให้ “Fresh Frozen Wolffia ผ่านกระบวนการคัดเลือกรอบแรกเอาชนะ 1,800 ผลงาน จาก 200 ประเทศ จนได้รับการคัดเลือกให้ชนะรางวัลซิลเวอร์ในครั้งนี้

ADVERTISMENT

ธุรกิจดั้งเดิม “ไทย โคโคนัท”

ย้อนไปในส่วนของธุรกิจดั้งเดิม พื้นเพผมคุณพ่อเป็นคนราชบุรี คุณแม่เป็นคนทับสะแก ประจวบฯ เป็นแหล่งมะพร้าวสำคัญของประเทศ เริ่มทำส่งในประเทศ และส่งออก 30 กว่าปี รูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ใหญ่ในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลกในยุโรปซื้อเรากว่า 60%

“ปีนี้ผมเป็นบริษัทที่ส่งออกกะทิมากที่สุดในประเทศไทย ธุรกิจมะพร้าวผมว่าเพิ่งจะโตมาสัก 10 ปีหลัง ตั้งแต่มีนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากินอาหารไทยแล้วกลับไปที่บ้านเขาก็ทดลองใช้กะทิ น้ำมะพร้าวไปเป็นส่วนผสมของอาหารเขา เช่น ซุป สมูทตี้ เค้ก เบเกอรี่ และอีกเทรนด์มาเสริม คือ วีแกน หรือแพลนต์เบส ทำให้เราเติบโตมาตลอด จากตอนขาย 5 ปีแรก 300-400 ล้านบาท ถึงตอนนี้ยอดขาย 3,000 ล้านบาท โตเป็น 10 เท่า”

ADVERTISMENT

ปี’65 กำไร 3 เท่า

​ช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ทุกคนเผชิญกับ inflation และระวางเรือไม่พอ ค่าระวางขึ้นมา 500% จาก 2,500 เหรียญสหรัฐ ขึ้นไป 15,000 เหรียญสหรัฐ/ตู้ แต่เราขายเป็น FOB สิ้นสุดหน้าท่าเรือจึงไม่กระทบมาก แต่ต้องยอมจ่ายสูงให้มีเรือส่ง ตอนนี้ยอดขายเรายังทรง ๆ เทียบกับประเทศยอดขายลดลง 30%

“ช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้กำไรเพิ่มมา 3 เท่าจากค่าเงิ่นบาทอ่อนค่า ตลาดใหม่และโปรดักต์ใหม่ คือ อาหารสัตว์เลี้ยงตลาดนี้โตมากเป็นเทรนด์โลกที่คนเลี้ยงหมาแมวมากขึ้น เราเปิดมา 2 ปีแล้วส่งไปใน 25 ประเทศ แบรนด์มูชี่ และ OEM ให้กับตลาดสหรัฐอเมริกา ชื่อ ThaiAwesome และธุรกิจอาหารจากพืช plant based หรือวีแกน แบรนด์ CHOI ทำมา 1 ปี มีทั้งคาลามาลี่ กุ้งชุบแป้งทอด ตอนนี้ตลาดหลัก คือ อเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย”

ฝ่าความท้าทายรุมเร้า

“ที่ผ่านมาไทยเจอสภาวะหลายอย่าง เช่น โควิด โดนโจมตีเรื่องลิงเก็บมะพร้าว เทียบกันตอนโควิดก็ยังโต 30% แต่ปัญหา inflation เศรษฐกิจลดลง กระทบแรงกว่า เพราะโควิดคนตุนของ แต่ตอนนี้กำลังซื้อหาย ซึ่งเราขายในประเทศ 5% ส่งออก 95% ไป 90 ประเทศทั่วโลก ยุโรปเป็นเบอร์หนึ่งกระทบมาก เศรษฐกิจแย่มาก ๆ เงินเฟ้อ ค่าน้ำมัน-ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น 5 เท่าจากเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เงินเฟ้อหรือเศรษฐกิจถดถอยคนมักจะซื้อของถูก แต่ของไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ”

แต่อีกสิ่งที่ไทยเสียเปรียบ คือ ภาษีนำเข้ายุโรปเรา 12.8% แพงกว่าเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ภาษีนำเข้าในยุโรป 0% ไม่มีความตกลง CPTPP การแข่งขันเสียเปรียบเขามาก

อีกด้านคือ มะพร้าวไม่พอ เพราะเราต้องใช้มะพร้าววันละ 300,000 ลูก ถ้าจะปลูกต้องมีสวนสักแสนไร่ ปีที่ผ่านมาเกิดโรคระบาดในมะพร้าว เกษตรกรไทยลดพื้นที่หันไปปลูกยาง ส่วนใหญ่
จึงต้องอิมพอร์ตมะพร้าว เพราะเรามีวัตถุดิบน้อยกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ 20 เท่า ส่วนราคามะพร้าวเฉลี่ยลดลงสัก 30% ที่ลงหนักคือมะพร้าวกะทิจาก กก.ละ 15 บาท เหลือ 8 บาท ขณะที่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงขึ้นไป 3 เท่า

กางแผนปี’66

ผมว่าปีหน้ายังหนักอยู่ ดูแล้วไม่ได้คลี่คลาย ถามว่าเราทำอย่างไร เราก็หาตลาดใหม่ เดิมเราขายยุโรป 50% อเมริกา 30% เอเชีย 20% แต่ตอนนี้เราก็จะดันอเมริกาขึ้นมาเป็นสัก 40-50% กะทิขายดีมาก เงินเฟ้อแต่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ส่วนตลาดยุโรปก็ลดลงเหลือ 30% และดันตลาดเอเชียเน้นจีน ตอนนี้จีนขยับจาก 10% เป็น 20% โดยเฉพาะน้ำมะพร้าวขายดีมาก

ปี’66 เดือนมกราคม จะเปิดโรงงานแพลนต์เบสที่จังหวัดราชบุรี กำลังการผลิตเดือนละ 100 ตัน หรือ 1,200-1,500 ตันต่อปี ลงทุนไป 300 ล้านบาท ผลิตยังไม่มาก เพราะเป็นสินค้าราคาแพง แต่สินค้านี้จะโต 4 เท่า เช่นเดียวกับ pet food ปีหน้าโต 4 เท่าเลย กำลังทำแผนขยายธุรกิจอยู่ ส่วนภาพรวมไทย โคโคนัทปีหน้าโตนิดหน่อยสัก 10% แต่กำลังผลิตขยายต่อเนื่องมาสัก 2-3 ปี กำลังการผลิตเรายังเหลือ 30%

จุดแข็ง “นวัตกรรม”

“จริง ๆ แล้ว ไทย โคโคนัท มีโปรดักต์เยอะมาก และได้รางวัลบ่อยมาก เพราะเราจัดสรรงบประมาณ 30-40 ล้านบาท วิจัยและพัฒนา มีทีมงานดีเป็นสิบ ๆ คน ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเป็น KPI มีการประกวด ซึ่งแต่ละปีเรามีสินค้าใหม่สู่ตลาด 5-6 รายการ”

“จุดสำคัญของการสร้างนวัตกรรม เป็นประเทศเกษตรกรรม แต่เชิงโครงสร้างเราก็จะเสียเปรียบในเรื่องภาษี ในเรื่องต้นทุน แม้กระทั่งเรื่องค่าแรง ค่าแรงแพงสุดในภูมิภาคอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเอาสินค้าโภคภัณฑ์ง่าย ๆ หรือสินค้าเก่าไปขาย ในอนาคตเราแข่งขันไม่ได้แน่นอน ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้เรารอดคือ ต้องสินค้านวัตกรรม และต้องหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต”

“ความยากของการพัฒนานวัตกรรมคือ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี คือ 2 ปีแรกวิจัย อีก 3 ปีทำตลาด ความเสี่ยงคือ มันอาจจะได้การยอมรับหรือไม่ก็ได้ ปัญหาการขาดเงินทุนและตลาด ทำให้สตาร์ตอัพบ้านเรารอด 5% อีก 95% ก็ล้มหายตายจาก แต่เหตุที่บริษัทเรากล้าเสี่ยง เพราะมองว่ามันเป็นอนาคต”