“ปตท.-บางจาก” เปลี่ยนขุนพล บุกธุรกิจใหม่-EV-ไฟฟ้า-ยา-ชีวภาพ

ปตท.-บางจาก

ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่กำลังเผชิญวิกฤต 3 ชั้น หรือ energy trilema ทั้งความมั่นคงทางพลังงาน (energy security) การเข้าถึงพลังงาน (energy affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (environment sustainability) ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ energy transition กำลังเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายตระหนักถึงปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไปจนกระทั่งถึงการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน ซึ่งมีผลอย่างสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัพและการจัดวาง “แม่ทัพคนใหม่” ของ 2 บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย

แผนลงทุน 5 ปี ดันยอด

ก่อนหน้านี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ “การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” หรือ Powering Life with Future Energy and Beyond ใน 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (future energy) กับธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่ธุรกิจพลังงาน (beyond energy) อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์สุขภาพ (life science) รวมถึงการลงทุนในสินค้าที่มีมูลค่าสูง (high value business) ต่าง ๆ

โดย ปตท.ได้กำหนดแผนการลงทุน 5 ปี ระหว่างปี 2565-2569 ด้วยงบประมาณ ปตท.เอง 146,000 ล้านบาท และกลุ่มบริษัทในเครือ ปตท. 988,000 ล้านบาท มีเป้าหมายว่าธุรกิจพลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน จะมีสัดส่วนกำไร 30% ในปี 2030 (2573)

การกำหนดแผนลงทุนตามมาด้วยการจัดวางผู้นำองค์กรคนใหม่เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจ โดยกำหนดตัว “ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท. พร้อมกับยังกุมบังเหียน 3 บริษัทธุรกิจใหม่ คือ ประธานกรรมการ บริษัท HORIZON PLUS, อินโนบิก (เอเซีย) และนูออโวพลัส ที่ขับเคลื่อนธุรกิจไลฟ์ไซเอนซ์ สินค้ายาและสุขภาพ อาหารอนาคตโปรตีนจากพืชและ EV

ขณะที่ตัวโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักของกลุ่ม ปตท. ขณะนี้ก็ได้ปรับเปลี่ยนแม่ทัพ 2 คน คือ นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มาแทน นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ซึ่งเกษียณในปีนี้ และแต่งตั้ง นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC แทน นายชวลิต ทิพพาวนิช ที่เกษียณอายุเช่นกัน

ส่วนธุรกิจน็อนออยล์ ซึ่งอยู่ภายใต้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวผู้บริหารและโครงสร้างบริษัท หลังจากที่ นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ CEO คนแรกเกษียณอายุ และเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการเปลี่ยนผ่าน จึงเกิดกระบวนการสรรหา CEO คนใหม่ จนกระทั่งได้ นายดิษทัต ปันยารชุน เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อขับเคลื่อนแผนลงทุน 5 ปี (2566-2570) วงเงิน 101,486.8 ล้านบาท ใน 4 ด้านเป้าหมาย คือ

ธุรกิจการขับเคลื่อน (mobility) วงเงิน 31,355.1 ล้านบาท การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากเครื่องยนต์สันดาปที่ใช้น้ำมันไปสู่ EV หรือแม้แต่พลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน ด้านไลฟ์สไตล์ วงเงิน 33,861.7 ล้านบาท เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ สถานีบริการน้ำมันจะไม่ใช่แค่น้ำมัน ด้านต่างประเทศ วงเงิน 16,410.3 ล้านบาท เพื่อสร้างการเจริญเติบโตในต่างประเทศจาก 10 ประเทศไปสู่เป้าหมาย และด้านการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ๆ วงเงิน 19,859.7 ล้านบาท

พร้อม ๆ กับตัวองค์กรได้ปรับโครงสร้างใหม่ด้วยการกำหนดตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่ ขึ้นเป็นครั้งแรกในกลุ่ม ปตท. ให้กับ นายสุชาติ ระมาศ นัยว่า ให้เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจเอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น-บริหารคลังปิโตรเลียม-บริหารธุรกิจหล่อลื่นโดยเฉพาะ

ปรับโครงสร้าง

บางจาก ลุยธุรกิจใหม่

ฟากฝั่ง นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ได้ประกาศแผนการลงทุน 8 ปี ระหว่างปี 2023-2030 (2566-2573) จะใช้เงินลงทุน 200,000 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าจัดจำหน่าย (EBIDTA) เพิ่มขึ้นจาก 45,000 ล้านบาท ในปีนี้ เป็น 100,000 ล้านบาท ในธุรกิจ 5 กลุ่มคือ แหล่งพลังงานและธุรกิจใหม่, ธุรกิจโรงกลั่น, ธุรกิจด้านการตลาด, ธุรกิจไบโอ และธุรกิจไฟฟ้า

โดยบางจากได้เปิดตัว “ขุนพลใหม่” 3 คน จาก 5 ธุรกิจ ได้แก่ นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข วัย 52 ปี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการผลิตและจัดส่งน้ำมัน ขึ้นรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน, นายบัณฑิต หรรษาไพบูลย์ วัย 50 ปี ซึ่งเดิมเคยเป็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวางแผนจัดหาและธุรกิจการค้าน้ำมัน ขึ้นรักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และบริหารความยั่งยืน

พร้อมทั้งโยก นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เข้ารักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน ปัจจุบัน รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน และทำหน้าที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานควบคุมบัญชีและการเงิน อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ยังมีการดึงคนรุ่นใหม่อย่าง นายภูวดล สุนทรวิภาต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ขึ้นรับตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ด้วยวัย 53 ปี กับการเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ

มีโปรไฟล์เคยเป็นกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการและพัฒนาธุรกิจ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) กรรมการผู้จัดการ บมจ.ดีโอดี ไบโอเทค (DOD), CEO, Equator Solar Capital Company Limited, Managing Director-Thailand and Neighboring Countries, SunEdison Energy (Thailand) Co., Ltd., Vice President assigned to PTTEP Global Business, Bangkok, Schlumberger และ Vice President assigned to PTTEP Global Business, Bangkok, Schlumberger

โรงไฟฟ้า-EV ซีวภาพ

สำหรับแผนการขับเคลื่อน 5 อุตสาหกรรม 8 ปีของบางจาก จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2566 ที่จะมีงบฯลงทุน 45,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ผ่าน BCPG ถึง 30,000 ล้านบาท ผลักดันแนวคิด “Electron Value Chain” โดยจะปรับสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนจากเดิมที่เน้นโซลาร์ 70% จะกระจายไปสู่พลังงานหมุนเวียนในด้านอื่น ๆ เป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตจาก 1,100 เมกะวัตต์ (MW) ไปสู่ 6,800 MW ในปี 2030

การลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถ EV ในประเทศไทย ขนาด 0.80-1 กิกะวัตต์ เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนด้านแผนลงทุนภายในปี 2566 และยังมีแผนจะขยายการลงทุนผลิต “ไฮโดรเจน” ในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนต้นน้ำในแหล่งทรัพยากรธรรมชาติงบฯลงทุนที่ 5,000 ล้านบาท ผ่าน OKEA ASA ซึ่งจะโฟกัสไปที่การลงทุนเพิ่มสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติมากขึ้น

ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันบางจาก ได้วางงบฯลงทุน 6,000 ล้านบาท โดยเพิ่มประสิทธิภาพขยายระยะเวลาการซ่อมบำรุงไปเป็นปี 2024 ขณะที่ภาพรวมกำลังการกลั่นปีนี้เพิ่มขึ้นจนทะลุคาพาซิตี้ 120 KBD ไปเป็น 125 KBD และมีโอกาสที่เติบโตถึง 200 KBD แต่ในปี 2573 โรงกลั่นจะทรานส์ฟอร์มตัวเอง ลดการขายน้ำมันเข้าปั๊มเหลือ 40% ทั้งยังมีบริษัทลูก BSGF การลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) จากน้ำมันพืชใช้แล้ว งบฯ 10,000 ล้านบาท เสร็จปี 2567

ด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI ระบุว่า ปี 2566 บริษัทมีแผนลงทุนในด้านเทคโนโลยีชีวภาพที่สำคัญ ประกอบด้วย ธุรกิจพัฒนาและรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ Contract Development and Manufacturing Organization (CDMO) เบื้องต้นจะลงทุน 1,000 ล้านบาท และจะพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (high value product) ต่อยอดจากการผลิตเอทานอลและธุรกิจชีววิทยาสังเคราะห์ (SynBio) และเตรียมพร้อมสร้างตลาดให้ “สมายด์” โปรไบโอติก

สุดท้าย นายสมชัย เตชะวณิช ประธานเจ้าหน้าที่การตลาดและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด BCP กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด “YOUR” Greenovative Destination for Intergeneration ผ่านการเติบโตจากธุรกิจ nonoil โดยจะขยายเครือข่ายสถานีบริการบางจาก โดยในปี 2565 มีเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 1,340 แห่ง ปี 2566 มีเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 1,410 แห่ง และในปี 2573 ด้วยเป้าหมาย 1,900 แห่ง และร้านกาแฟอินทนิล 3,000 แห่งทั่วประเทศ

สอดคล้องกับการที่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ได้ประกาศจุดยืนของบางจากอย่างชัดเจน หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ไปแล้วว่า “บางจากจะไม่กลับไปยืนในจุดเดิมอีก แต่จะต่อยอดสร้างการเติบโตจากฐานธุรกิจปัจจุบัน ที่มี EBITDA 40,000 ล้านบาท จากธุรกิจโรงกลั่น ซึ่งแต่ละปีมี EBITDA 7,000-8,000 ล้านบาท ธุรกิจด้านการตลาด 1,500-2,000 ล้านบาท ธุรกิจ BCPG 5,000 ล้านบาท ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ จาก BBGI 1,500 ล้านบาท และธุรกิจแหล่งผลิตปิโตรเลียม OKEA ASA อีก 20,000 ล้านบาทแล้ว

และแต่ละธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต ทำให้บางจากสามารถไปสู่เป้าหมาย EBITDA ที่ 100,000 ล้านบาท ได้อย่างแน่นอน