จักรวาลใหม่ ปตท.

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่กำลังก้าวสู่จักรวาลธุรกิจใหม่

ถือเป็น “ขุมทรัพย์” สำคัญของประเทศ สะท้อนจากมูลค่าหุ้นของ กลุ่ม ปตท. มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ถึง 2.52 ล้านล้านบาท

หรือ 13% ของมูลค่ามาร์เก็ตแคปของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมดราว 19 ล้านล้านบาท

แน่นอนว่าเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ดังนั้นไม่ว่ากลุ่ม ปตท. เคลื่อนไหวก้าวไปทางไหนก็เป็นที่สนใจ และเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งยังเป็นที่จับจ้องและการเข้ามาพยายามเกี่ยวข้องของหลาย ๆ ฝ่าย

ขณะที่ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ย้ำถึงบทบาทสำคัญ ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51% และกองทุนวายุภักษ์ 12% ว่า กลุ่ม ปตท.ได้ทำหน้าที่ส่งเงินเข้ารัฐทั้งในรูปภาษีเงินได้และเงินปันผล หลังการแปรรูปตั้งแต่ปี 2544-2564 รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 1.07 ล้านล้านบาท

และปัจจุบันมีการนำส่งเงินเข้ารัฐอยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมถึงการดูแลและช่วยเหลือด้านราคาพลังงานเพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน ในช่วงปี 2564-ก.ย. 2565 เป็นมูลค่าราว 17,800 ล้านบาท

เป็นการตอกย้ำว่า ผลประโยชน์จากความแข็งแกร่งของ ปตท. ก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกอนาคตกำลังเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในยุคที่โลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและพลังงานสะอาด

ขณะที่พลังงานฟอสซิลอย่าง “น้ำมัน” กำลังเป็นขาลง ทำให้ ซีอีโอ ปตท.ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ เป็น Powering Life with Future Energy and Beyond เป็นการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในธุรกิจพลังงานอีกต่อไป

พร้อมชูธงเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทำหน้าที่เป็นหัวหอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยยึดนโยบาย New S-curve ของประเทศเป็นตัวตั้งต้น

พลังงานแห่งอนาคตที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสำคัญมี 4 ตัว คือ 1.พลังงานทดแทน มุ่งขยายการลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 2.EV value chain ขยายธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร 3.energy storage & system ลงทุนเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ และ 4.พลังงานไฮโดรเจน เป็นอีกหนึ่งพลังงานแห่งอนาคตที่ ปตท.สนใจ

พร้อมแผนขยาย 5 ธุรกิจใหม่นอกวัฏจักรพลังงาน ที่ถือเป็นทิศทางอนาคตของประเทศทั้งสิ้น ตั้งแต่ life science ที่เน้นการลงทุนในธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

อีกธุรกิจคือ “ธุรกิจไลฟ์สไตล์” ภายใต้การนำของ OR เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค การปรับตัวของปั๊มน้ำมันเพื่อรองรับอนาคต ธุรกิจที่ 3 คือ ธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง โดยมีบริษัท GC เป็นหัวหอก ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และการเข้าสู่ไบโอเทคโนโลยี

สำหรับธุรกิจใหม่ตัวที่ 4 คือ โลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ที่เน้นเสริมศักยภาพของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีอยู่ โดย ปตท.มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการแบบครบวงจรทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร

และธุรกิจใหม่ตัวที่ 5 คือ ธุรกิจ AI, robotics & digitalization โดยร่วมกับกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น ตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด ให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม

และนั่นคือบทบาทใหม่ของ ปตท. ที่มากกว่าการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่มีส่วนขับเคลื่อนทุกชีวิต

การสร้างจักรวาลใหม่ของ ปตท. นอกจากเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและการเติบโตทางธุรกิจของบริษัท ขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย

สิ่งสำคัญคือจะต้องทำให้ขุมทรัพย์นี้เป็นของประเทศเพื่อส่วนรวม ในฐานะเป็นบริษัทกระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ ไม่ใช่ขุมทรัพย์ของกลุ่มทุนหรือกลุ่มการเมืองใด

จังหวะก้าวของ ปตท.อาจวิ่งได้เร็ว และไปได้ไกลกว่านี้