สภาองค์กรของผู้บริโภค ขยี้ค่าไฟแพง รัฐเปิดทาง รฟฟ.เอกชนผลิตไฟเกิน

ค่าไฟ

“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ชำแหละค่าไฟแพง เปิด 3 สาเหตุรัฐทำโครงสร้างผลิตไฟฟ้าพัง แฝงนโยบายในแผน PDP เพิ่มสัดส่วนให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟกว่า 65% ลดบทบาท กฟผ. เหลือแค่ 30% กันก๊าซในอ่าวไทยให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อ้างต้องนำเข้าราคาสูง ด้าน “สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร” เผยข้อมูลความต้องการใช้ไฟเกินจริงบิดเบือนตัวเลข เข้าทางต้องเพิ่มกำลังการผลิต สุดท้ายรัฐรับซื้อราคาแพง ผลักภาระให้ประชาชนจ่ายค่าไฟพุ่ง

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นางรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในงาน เสวนาวิชาการ “รัฐผิดพลาด เอื้อทุนใหญ่ ทำค่าไฟแพง ขัดรัฐธรรมนูญ ?” ว่า ในอดีตรัฐบาลมีความพยายามที่จะแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทมหาชน

โดยการเป็นรูปแบบเอกชนที่มีนักลงทุนเข้ามาบริหาร ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สำเร็จ แต่โครงสร้างองค์กรได้มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก จากกฎหมายให้ กฟผ. ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วน 51% ปัจจุบันเหลือสัดส่วนเพียง 30% เท่านั้น ที่เหลือกว่า 65% เป็นการเปิดช่องให้บริษัทเอกชนตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าขาย โดยมี กฟผ.เป็นผู้รับซื้อในราคาที่แพงกว่าราคาขาย

จึงกล่าวได้ว่าต้นทุนของค่าไฟฟ้าปัจจุบันมันมีทั้งหมด 3 ส่วนเป็นองค์ประกอบ คือ 1.ราคาเชื้อเพลิง ซึ่งไทยอ้างว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังหมดลง จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ซึ่งราคาผันผวนและแพงมากในปัจจุบัน แต่แท้จริงแล้วนั้นก๊าซในอ่าวไทยยังมีคุณภาพและเพียงพอ แต่ได้กันไว้ให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นหลัก และเปิดทางให้เอกชนผลิตไฟขายด้วยสัญญาค่าพร้อมจ่าย (AP) ราว 25% ซึ่งทำให้แต่ละปีต้องเสียค่าส่วนนี้ 28,000 ล้านบาท

2.การซื้อไฟ ในส่วนนี้รัฐจะหาแหล่งซื้อไฟจากที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทเอกชนในราคา 2-3 บาท/หน่วย รวมถึงซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ซึ่งเป็นอัตราซื้อที่แพงกว่าราคาขาย

3.นโยบายรัฐ ในแผน PDP จะกำหนดว่าแต่ละปีต้องมีการผลิตไฟฟ้าเท่าไร จากโรงไฟฟ้าเอกชนกี่โรง จาก กฟผ.เท่าไร จากพลังงานหมุนเวียน ลม แสงอาทิตย์ หรืออื่น ๆ แล้วเปิดประมูลกำหนดการรับซื้อไฟ ตามอัตราส่วน ราคาต่าง ๆ แล้วแต่ประเภท ซึ่งนี่ทำให้เป็นการเปิดช่องเอื้อนายทุน ที่เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนเข้ามามีสัดส่วนการผลิตที่สูงกว่ารัฐ

ในองค์ประกอบของค่าไฟดังกล่าว จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) สูงขึ้น แล้วเก็บค่าไฟแพงกับประชาชน

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในแต่ละปีจะมีการเปิดเผยข้อมูลและสถิติความต้องการใช้ไฟในประเทศ ซึ่งรัฐจะประเมินตัวเลขออกมาว่ามีความต้องการใช้ไฟสูงขึ้นทุกปี ทั้งจากสังคมเมือง ภาคการผลิต อุตสาหกรรม ซึ่งมักเป็นตัวเลขที่เกินจริง จากนั้นในแผน PDP ก็จะกำหนดให้ต้องเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งความต้องการใช้ไฟขณะนี้อยู่ราว 32,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 50,500 เมกะวัตต์ เกินกว่าความต้องการ 53-54%

นายประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ค่า Ft ที่ปรับขึ้นทุก 1 สตางค์/หน่วย คิดเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท ดังนั้น งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ปรับขึ้น 93 สตางค์/หน่วย ส่งผลทำให้ค่าใช้จ่ายของประเทศสูงถึง 800,000 ล้านบาท เป็นราคาค่าไฟที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันไทยมีสำรองไฟฟ้าสูงถึง 54% หากรัฐยังไม่ยับยั้งให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเพิ่ม ประชาชนจะยังต้องจ่ายค่าไฟแพงแบบนี้เรื่อยไป

นายพงษ์ดิษฐ พจนา อดีตรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) และนายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในทางเดียวกันว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 56 พูดถึงเรื่องการบริหารจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานกิจการไฟฟ้า ระบุว่ารัฐมีสิทธิ์ในการผลิตไฟฟ้า และห้ามแปรรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และให้ กฟผ.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจต้องมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% ซึ่งปัจจุบัน กฟผ.ผลิตเพียง 32% เท่านั้น และมีความพยายามแปรรูป กฟผ. จึงถือว่าปัจจุบันรัฐทำผิดกฎหมาย