TU ปั๊มยอดปี 66 โต 5% ซีอีโอสั่งจับตาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ปรับแผนวันต่อวัน

TU อัดงบลงทุน 6 พันล้านบาท ปั๊มยอดขายปี 66 โต 5% “ธีรพงศ์” สั่งจับตาวิกฤตเศรษฐกิจโลก 12-18 เดือนข้างหน้า เกาะติดคู่ค้าปรับแผนยืนหยุ่นวันต่อวัน มั่นใจไม่กระทบ พร้อมส่งหุ้น ITC ประเดิมสนาม 9 ธ.ค.นี้ กวาด 2.1 หมื่นล้าน

วันที่ 7 ธันวาคม 2565 นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ในปี 2565 เติบโต 5% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 1.4 แสนล้านบาทหรือคิดเป็น 147,000 ล้านบาท ในช่วงเก้าเดือนแรกสามารถทำรายได้แล้ว 115,974 ล้านบาท

ส่วนในปี 2566 คาดว่าจะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2565 หรือ 154,350 ล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้หลักจะมาจากธุรกิจอาหารทะเลกระป๋องและอาหารแช่เยือกแข็ง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75 – 80% คาดว่ายอดขายจะเติบโต 3%

ขณะเดียวกัน จะมีรายได้จากอาหารสัตว์เลี้ยง ประมาณ 20% และคาดว่าจะขยายตัว 15% นอกจากนี้จะมีรายได้จากธุรกิจสินค้ากลุ่มนวัตกรรม

ทั้งนี้ ทียูได้วางงบประมาณในการลงทุนสำหรับปี 2566 ไว้ที่ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเทียบกันในทุกปี โดยจะต้องระมัดระวังการลงทุน ดังนั้นจึงมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การดำเนินการขยายการผลิต 3 โรงงานตามแผนที่วางไว้ ประกอบด้วย โรงงานอาหารสำเร็จรูป โรงงานคอลลาเจนไตรเปปไทด์ และห้องเย็นที่ประเทศกาน่า

นอกจากนี้ มีการลงทุนเรื่องระบบไซเบอร์ซิคิวริตี้ และการลงทุนด้านความยั่งยืน (Sustainable) โดยทียูมีแผนว่าต้นปี 2566 จะประกาศนโยบายจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 (พ.ศ.2593) ซึ่งจะเร็วกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้ในปี 2065 (พ.ศ.2608)

อาหารสัตว์เลี้ยงดาวรุ่ง

พร้อมกันนี้ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2565 บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่สปินออฟจะเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก ซึ่งจะถือว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 100% ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด เป็นอันดับ 2 ในเอเซีย และเป็นอันดับ 10 ของตลาดโลก กำหนดราคา IPO 32 บาท ซึ่งคาดว่าจะระดมเม็ดเงินได้ 21,000 ล้านบาท

โดยมีแผนจะนำไปใช้ชำระดอกเบี้ย 7,000 ล้านบาท และขยายการลงทุน โดยโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งใหม่มีกำหนดจะแล้วเสร็จในต้นปี 2566

มีเป้าหมายว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อตอบสนองเทรนด์โลกที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ทำให้สินค้านี้เติบโตต่อเนื่อง 3-4 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปีข้างหน้า สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้จะเน้นสินค้า OEM พรีเมียม เน้นทำตลาดส่งออก 99% โดยปัจจุบันส่งออกไปยังสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน แต่ในอนาคตมีแผนจะขยายส่งออกไปยังตลาดจีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้น

“ตอนนี้ทียูมีมาร์เก็ตแคป 80,000 ล้านบาท ถ้าไอเทลเข้าตลาดมีมาร์เก็ตแค็ป 96,000 ล้านบาท ใหญ่กว่าบริษัทแม่ และNet to Equity ของเราจะลดลง จาก 1.13 เท่า เหลือ 0.6 ซึ่งถือว่าเราเข้มแข็งมาก ทียูเป็นบริษัทที่ทำกำไรมาตลอดชีวิตไม่เคยขาดทุน และมีข้อได้เปรียบว่าเราลงทุนไปก่อนหน้านี้จึงไม่มีการการลงทุนใหม่มากนัก หนี้สินก็ไม่เยอะ และมีการจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นในระดับสูง 4-5% และมี P/E 10 เท่า”

TU

อาหารคนยังไปได้

ในส่วนของธุรกิจอาหารคน ทั้งกลุ่มอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และร้านอาหารเรดล็อปเตอรนั้น นายธีรพงศ์ เน้นย้ำว่าธุรกิจอาหารกระป๋องและแช่แข็งยังเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับทียู คาดว่าปีหน้าจะมีแนวโน้มเติบโต 3% ซึ่งแม้ว่าจะโตไม่มากแต่ฐานรายได้สูงมาก

แก้เกมขาดทุน “เรดล็อปสเตอร์”

ขณะที่ ธุรกิจร้านอาหารเรดล็อปสเตอร์ ในสหรัฐ เป็นธุรกิจร้านอาหารที่ยังไม่สามารถทำกำไรได้ เพราะตั้งแต่เข้าไปบริหารกิจการประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์ ทางบริษัทจึงได้ปรับแผนบริหารจัดการ และปรับเปลี่ยนทีมบริหารใหม่ ซึ่งเริ่มเข้าไปดำเนินการในต้นปีที่ผ่านมา เบื้องต้นตั้งเป้าหมายว่าจะธุรกิจนี้จะลดการขาดดุลได้ 50% หรือประมาณ 500-600 ล้านบาทในปีหน้า และทยอยสร้างรายได้กลับมาทำกำไรใน 3 ปี

“ธุรกิจเรดลอปสเตอร์เป็นธุรกิจที่มีอัตราเติบโตดีมาตลอด ปีละ 2,000 ล้านบาท แต่พอเข้าไปดำเนินการเจอกับโควิด มาตรการล็อกดาวกระทบ ทำให้ร้านต้องปิดถ้าปีหน้าไม่ต้องปิดเรามองว่าจะลดการขาดทุนได้ และหากบริหารได้จนกระทั่งสามารถทำกำไรได้ ก็มีโอกาสที่จะมองถึงการขยายเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะล่าสุดทางกลุ่มไทยเบฟได้รับสิทธิแฟรนไชส์นำมาทดลองเปิดสาขาที่ศูนย์ประชุมสิริกิติต์ 1 แห่ง และกำลังจะเปิดสาขาที่ 2 ที่ One Bangkok ประมาณปลายปีหน้า”

ภาพเศรษฐกิจ ปี 66 เทียบก่อนโควิด

“ในปี 2020-2022 ธุรกิจรับจ้างผลิตทั้งอาหารกระป๋องและอาหารแช่แข็งเติบโตดี ปัญหาในปีนี้เป็นเรื่องต่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรป และสหรัฐ ประสบปัญหาเรื่องเงินเฟ้อน ก็มีการปรับราคาขึ้นไป โดยราคาสินค้าแบรนด์ในอียูจะสูงกว่าที่อื่น การปรับราคาทำให้สูญเสียโวลลุ่ม เศรษฐกิจไม่ดีผู้บริโภคเลยหาสินค้ที่ถูกกว่า ส่วนตลาดสหรัฐอาหารทะเลแช่แข็ง ราคาตลาดตกโดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาแพง เช่น ล็อบสเตอร์ กุ้ง ปู แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมรายได้ 9 เดือนแรกยังโต 13% จากปริมาณการขายและปัจจัยบวกจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่อ่อนค่าลงมาทำให้ได้มาพอสมควร ส่วนกำไรลดลงไป 3% ก็ไปเท่ากับปี 2020 เพราะเรื่องเงินเฟ้อ ต้นทุนโลจิสติกส์ ค่าแรง แต่ก็นับว่าผลงานเป็นที่น่าพอใจ”

ส่วนแนวโน้มปี 2566 ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ยังเป็นระยะเวลาที่ต้องระวัง ต้องติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีพีคหลายเรื่องทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ผันผวนมาก ไม่เคยมีที่เงินดอลลาร์แข็งกว่ายูโร และเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน ค่าบาทเราสวิงมากจาก 38 มาเป็น 34 บาท เร็วมาก นอกจากนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ฉะนั้นใน 12-18 เดือนข้างต้องติดตามเศรษฐกิจมหภาค เพราะเรื่องเศรษฐกิจถดถอย หรือเรื่อง Stagflation ก็จะชัดเจน สหรัฐก็รับรู้สึกถึงความเจ็บปวดในการใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ดอกเบี้ยสูงขึ้น เงินในกระเป๋ามีจำกัดก็ต้องไปลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น”

“การที่เรามองว่าเศรษฐกิจจะพีคในอีก 12-18 เดือนข้างหน้าเป็นการมองในแง่แมคโครอิโคโนมี ในภาพรวม ถ้าเกิดรีเซสชั่นหรือ Stagflation ก็จะชัดเจน แต่เรื่องนี้จะไม่กระทบต่อธุรกิจอาหาร อีกทั้งต้นทุนค่าขนส่งปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ต้นทุนลดลง”

“ส่วนเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่านั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่มาช่วยเสริม แต่ถึงจะไม่มีค่าบาท ทียูก็ยังมีกำไร เรามีนโยบายว่าจะไม่ได้ไปทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เราต้องป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้ เพราะเราทำธุรกิจส่งออก ดังนั้นเราจึงประกันความเสี่ยง (เฮดจ์) ทุกวิธี ซึ่งบอกได้เลยว่าถึงไม่มีค่าบาทมาช่วยเราก็กำไร เราทำมาตั้งแต่บาท 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว มีนโยบายที่เข้มงวดและรัดกุม”

เจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค

นายธีรพงศ กล่าวว่า ต้องดูว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ในช่วง 12-18 เดือน นอกจากนี้ยังมีเรื่องสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่จบในเร็ว ๆ นี้ และน่าจะมีผลกระทบด้านอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้น ในการบริหารต้องยืดหยุ่น ติดตามสถานการณ์แบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ วันต่อวัน หรือเดือนต่อเดือน

“สิ่งที่สำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันคือ การรักษาคุณภาพ ต้นทุน และการลงทุนระบบออโตโมชั่นต้องทำต่อไปต่อเนื่อง และเรื่องคนก็จะเป็น Topic สำคัญ เพราะในสหรัฐและสหภาพยุโรปที่เราไปลงทุนจะมีการการลาออกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนเก่ง คนใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับเราได้”

นอกจากนี้ทียูยังมีนโยบายในการบริหารจัดการวัตถุดิบ ลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ระบบอัตโนมัติมาช่วย และบริหารจัดการต้นทุนการสต๊อก เพื่อให้ลีนมากที่สุด

ปรับราคาสินค้าระลอกสุดท้าย Q1/66

นายธีรพงศ์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาประเด็นเรื่องต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้น ทั้งเหล็กทำกระป๋อง มะเขือเทศ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งสำหรับธุรกิจอาหารจะมีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบ 60% ดังนั้นในปีนี้จึงได้มีการปรับราคาจำหน่ายเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้วในกลุ่มที่สินค้าที่รับจ้างผลิต (OEM) ส่งออก ซึ่งสามารถเจรจากับลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปีหน้า ยังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอีกระลอก ในไตรมาส 1 ซึ่งจะเป็นการปรับระลอกสุดท้าย