ไทย อันดับความสามารถแข่งขันตก ส.อ.ท.ยอมรับเข้ายุค BANI world

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงาน “วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2565 งานคืนสู่เหย้า” ถึงเรื่อง “อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลในอนาคต” (ภาพจากเฟซบุ๊ก สมาคมธรรมศาสตร์ฯ )

ส.อ.ท. เผยปี 2565 IMD world competitiveness center จัดอันดับความสามารถการแข่งขันไทยร่วงมาอยู่ที่ 33 จาก 28 ภาคอุตสาหกรรมรับมือเข้าสู่ยุค BANI world มีทั้งความเปราะบาง กังวล ไม่เข้าใจ ชี้ new S-curve และ BCG เท่านั้นจะดึงเศรษฐกิจไทยฟื้น คาดท่องเที่ยวดัน GDP ปี 2566 โต 3.7%

วันที่ 12 ธันวาคม 2565 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงาน “วันธรรมศาสตร์ 10 ธันวาคม 2565 งานคืนสู่เหย้า” ถึงเรื่อง “อุตสาหกรรมไทย ก้าวไกลในอนาคต” ว่า ตามรายงานของ IMD world competitiveness center, Switzerland ระบุว่าปี 2565 ไทยถูกจัดอันดับให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ทั้งสมรรถภาพทางด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยตกมาอยู่ที่อันดับ 33 จากปี 2564 อยู่ที่อันดับ 28 ซึ่งลดลง 5 อันดับ

ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ทั้งการแข่งขัน เศรษฐกิจ ความท้าทาย และ new normal ซึ่งปัจจุบันไทยต้องเผชิญกับความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ถูกดิจิทัลดิสรัปชั่น และขณะนี้ปี 2022 ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค BANI world (อ่านว่า บานี่)

มาจาก B-brittle ความเปราะบาง A-anxious ความกังวล N-nonlinear คาดเดายาก และ I-incomprehensible ความไม่เข้าใจ เป็นการเปลี่ยนจากยุค VUCA world (ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน ความคลุมเครือ)

BANI World

ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักมีความเสี่ยงจะเริ่มเข้าสู่ recession ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา อังกฤษ หรือญี่ปุ่น หรือแม้แต่เกิดการย้ายฐานการผลิตเพื่อหนีภัยสงครามการค้า แน่นอนว่ายุค BANI world ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ไทย GDP จะยังมีโอกาสโตกว่าประเทศอื่น

โดยปี 2565 จะโต 2.8% ปี 2566 โต 3.7% มาจากภาคการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมา แตะ 10 ล้านคน และอาจถึง 20 ล้านคน และยังทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น

ในขณะที่ภาคเอกชน สิ่งที่ต้องเร่งปรับตัวให้เร็วที่สุดคือ การก้าวผ่านจากอุตสาหกรรมเดิม ปรับเปลี่ยนไปสู่ new S-curve เช่น การแพทย์ หุ่นยนต์ bio การบิน ยานยนต์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ ต้องเร่งให้เกิดโดยเร็วในไทย และ BCG เป็นวาระแห่งชาติ

ซึ่งเอกชนมองว่าไทยเองมีความหลากหลายทางชีวภาพ จำเป็นต้องเอาวัตถุดิบของประเทศที่มีมาเพิ่มมูลค่าสูงให้ได้ เช่น bio มาผลิตยา เอาขยะมา circular (หมุนเวียน) มาสร้างสินค้าใหม่ และต้องผลักดันอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งหากไทยทำเป็นระบบ มั่นใจว่าไทยยังมีขีดความสามารถการแข่งขันได้เช่นเดิม

S curve

BOI