ถอดโซลูชั่นบิ๊กธุรกิจ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจปี’66

ธีรพงศ์ จันศิริ-ดวงดาว มหะนาวานนท์-ประสพ จิรวัฒน์วงศ์
ธีรพงศ์ จันศิริ-ดวงดาว มหะนาวานนท์-ประสพ จิรวัฒน์วงศ์

สัญญาณเศรษฐกิจโลกปี 2566 ยังอยู่ในภาวะผันผวนและมีแนวโน้มชะลอตัว จากข้อมูลที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2565 ว่าเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลงแบบเป็นวงกว้างและมากกว่าที่คาดไว้ 2.7% โดยอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย “สหรัฐ-จีน-ยุโรป” เผชิญภาวะเศรษฐกิจนี้พร้อมกัน สร้างแรงกระเพื่อมต่อการค้าโลก

ขณะที่ประกาศคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประชุมเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 มองว่าแนวโน้มจะขยายตัว 3.0-3.5% จากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% โดยรายได้หลักจะมาจากภาคการท่องเที่ยว

คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีนี้ แต่รายได้จากการส่งออก พระเอกหลักจะขยายตัวเพียง 1-2% จากปีนี้ที่จะขยายตัว 7.25% ภาวะเงินเฟ้อจะขยายตัว 2.7-3.2% จากปีนี้ที่คาดว่าขยายตัว 6.2% เอกชนต่างต้องปรับแผนการทำธุรกิจ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายในองค์กรฝ่ามรสุมในปีหน้า

ทียูมองวิกฤตเศรษฐกิจโลกพีกใน 18 เดือน

“ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU มองแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้าว่ายังต้องติดตามอย่างระมัดระวัง เพราะจะเกิดสิ่งที่พีกหลายเรื่อง ทั้งเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนก็ผันผวนมาก นอกจากนี้สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังไม่จบในเร็ว ๆ นี้ และน่าจะกระทบด้านอื่น ๆ ต่อไป

“12-18 เดือนข้างหน้าต้องติดตามเศรษฐกิจมหภาค หากเกิดเรื่องเศรษฐกิจถดถอย (Recession) หรือภาวะ Stagflation จะเห็นชัดเจน ผู้บริโภคมีรายจ่ายทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่เงินในกระเป๋ามีจำกัด ก็ต้องไปลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น แต่สินค้าอาหารจะเป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะ ราคาไม่สูง”

หัวใจการบริหารความเสี่ยง

สูตรการบริหารของทียูคือ “ความยืดหยุ่น” ติดตามสถานการณ์แบบพร้อมปรับเปลี่ยนวันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ หรือเดือนต่อเดือน โดยต้องเพิ่มความใกล้ชิดกับลูกค้า ดูว่าพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 12-18 เดือนจากนี้

“สิ่งที่สำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันคือ การรักษาคุณภาพสินค้า ต้นทุน และการลงทุนระบบออโตโมชั่นต้องทำต่อไปต่อเนื่อง เรื่องคนก็จะเป็น Topic สำคัญ เพราะในสหรัฐและสหภาพยุโรปที่เราไปลงทุนจะมีการลาออกครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้คนเก่ง คนใหม่ที่มีคุณภาพเข้ามาร่วมงานกับเราได้”

ส่วนการบริหารจัดการความเสี่ยงค่าเงินบาทนั้น นายธีรพงศ์เน้นย้ำว่า ไม่มีนโยบายทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ต้องป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนให้ได้ เพราะทำธุรกิจส่งออกจึงต้องประกันความเสี่ยง (เฮดจ์) ทุกวิธี ทำมาตั้งแต่บาท 29-30 บาทต่อเหรียญสหรัฐแล้ว ถือเป็นนโยบายที่เข้มงวดและรัดกุม

นอกจากนี้ทียูยังมีนโยบายในการบริหารจัดการวัตถุดิบ ลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ระบบอัตโนมัติมาช่วย และบริหารจัดการต้นทุนการสต๊อกเพื่อให้ลีนมากที่สุด

“ปี 66 เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน แต่ยังคงวางงบลงทุน 6,000 ล้านบาทเท่าปีที่ผ่านมา โดยจะมุ่งปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ระบบอัตโนมัติ การสร้างความยั่งยืน และก่อสร้างโรงงานตามแผนต่อเนื่อง 3 แห่ง ไม่เน้นการเข้าซื้อและควบรวมกิจการขนาดใหญ่แบบที่ผ่านมา ทำให้ตัวเบา หนี้ไม่มาก ผลตอบแทนการลงทุนสูง จึงมั่นใจว่าปี 2566 รายได้จะเพิ่มขึ้น 5% จากปี 2565 หรือ 154,350 ล้านบาท โดยเฉพาะสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคาดว่าจะเติบโตถึง 15%”

เสื้อผ้าโตแผ่ว-ลูกค้าสต๊อกเต็ม

ขณะที่ในงานดินเนอร์ทอล์ก สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เมื่อค่ำคืนวันที่ 7 ธันวาคม 2565 “ประสพ จิรวัฒน์วงศ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไนซ์กรุ๊ปโฮลดิ้งคอร์ป จำกัด มองว่า เศรษฐกิจโลกปี 2566 จะผันผวนมาก เพราะมีปัจจัยที่มากระทบหลายอย่าง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจากโควิดด้วย ส่งผลต่อธุรกิจเครื่องนุ่งห่มไทยที่รับจ้างการผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าแบรนด์ระดับโลกต่าง ๆ

โดยได้ไล่เรียงจากก่อนโควิดปี 2562 อุตสาหกรรมเสื้อกีฬาโลกเติบโตแบบดับเบิลดิจิต มาถึงปี 2563 เดือนมีนาคมเริ่มเกิดโควิด ทำให้ภาพที่เคยมองถึงการเติบโตต้องเปลี่ยนไปหมด และมองถึงขั้นว่ามีโอกาสจะลดลง 40-50% แต่พอมาถึงเดือน 4 – 5 ปี 2563 ภาวะที่ตลาดฟื้นมาใหม่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปซื้อออนไลน์ ช่วยให้ยอดขายปีนั้นลดลงไม่ถึง 10%

ปี 2564 กลับมาเป็นอีกปีหนึ่งที่โควิดต่อเนื่อง มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ร้านค้าต่าง ๆ ปิดหมด และยังเกิดภาวะวิกฤตโลจิสติกส์ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน แต่กลุ่มแบรนด์ฟื้นกลับมา ลูกค้าสั่งออร์เดอร์มากขึ้น ทั้งยังขอให้ส่งสินค้าเร็วกว่าปกติ

เพราะวิกฤตที่มันเกิดขึ้นทำให้ลูกค้า (แบรนด์) ต้องแข่งขันกันมากขึ้น และกลัวซัพพลายจะไม่ทัน เพราะโรงงานเสื้อผ้าในเวียดนามปิดจากโควิดไป 3 เดือน ซึ่งพอธุรกิจกลับมาเพิ่มขึ้น 20% เทียบกับปี 2563 ผู้ผลิตก็ต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ดีต่อเนื่องมาถึงช่วงก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนต้นปี 2565

“พอถึงกลางปีนี้ภาวะการซื้อเสื้อผ้าไม่เป็นไปตามคาดการณ์ สต๊อกปริมาณมาก ทำให้ชะลอการสั่งซื้อเป็นภาวะแบบ “ต้นดีแต่แผ่วปลาย” จึงคาดว่าปีนี้น่าจะเติบโตได้ 10% ส่วนในปี 2566 สถานการณ์ยังคงผันผวน คาดการณ์ว่าจะลดลง 12-15%”

หลักการบริหารของไนซ์กรุ๊ป ก็เน้นไปที่การสร้างความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจทั้งการผลิตและการขยายการลงทุนต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องติดตามดูว่าลูกค้า (แบรนด์) สามารถแมเนจอินเวนทอรี่ (สต๊อก) ได้ดีเพียงใด ดังนั้น จึงเป็นช่วงที่ต้องมีการระมัดระวังตัวเองสูงมาก

ซาบีน่ารุก “ออนไลน์”

ขณะที่ “ซาบีน่า” ผู้ผลิตสินค้าชุดชั้นในแบรนด์ไทย อายุ 50 ปี ที่ได้เริ่มหันมาทำตลาดสินค้าแบรนด์ชุดชั้นในเจาะตลาดในประเทศในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา “ดวงดาว มหะนาวานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ปีนี้ซาบีน่ามุ่งจะพัฒนาและปรับปรุงเพื่อให้กลับไปสู่จุดสูงสุดที่เคยเป็นเมื่อครั้งก่อนโควิด

โดยสิ่งที่ซาบีน่าดำเนินการปรับตัวในช่วงโควิดคือการปรับระบบ “Internal Process” สิ่งสำคัญที่สุดในการปรับ คือ “ไมนด์เซต” เปิดใจในการปรับปรุง ซึ่งการปรับอินเทอร์นอลโอเปอเรชั่น ด้วยการลีน แมนูแฟ็กเจอริ่ง ซึ่งบริษัททำมาเป็น 10 ปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากความสูญเสียต่าง ๆ และหันไปเพิ่มประสิทธิภาพการขาย โดยใช้ระบบออนไลน์มาช่วยมากขึ้น

“ออนไลน์คือจุดเปลี่ยน การขายผ่านช่องทางออนไลน์ต่างจากการขายผ่านช่องทางค้าปลีก คือเราสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นได้ทุกนาที การทำโปรโมชั่นดับเบิลเดย์แต่ละเดือนนั้น มียอดขาย 2 ชั่วโมงแรก คิดเป็น 40% ของทั้งวัน และมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ กลุ่มบีทูบีทูซี คือซื้อของเราไปขายต่อ เป็นการสร้างโอกาสทำให้เกิดอาชีพใหม่ได้ด้วย”

ในปีหน้ามีการคาดการณ์ว่าค้าปลีกจะกลับมา 100% ค้าปลีกออนไลน์จะแผ่วลง แต่เราพบว่าปี 2022 สัดส่วนค้าปลีกออนไลน์คิดเป็น 9% ยังมีโพรเทนเชียลที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะค้าปลีกสินค้าแฟชั่นออนไลน์มีสัดส่วนตลาด 8% และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2027 จะเพิ่มเป็น 13%

“ห้างเปิดแต่คนยังช็อปออนไลน์ มีข้อมูลจากงานวิจัยหนึ่งพบว่า 10 กลุ่มสินค้าที่คนช็อปออนไลน์ มี 3 กลุ่มสินค้าที่ยอดขายไม่ลดลงไปเลย 1 ในนั้นคือแฟชั่น สินค้าแฟชั่นอาจจะถูกมองว่าไม่จำเป็นกับชีวิต แต่จำเป็นกับความรู้สึก และคนเราก็ซื้อสินค้าตามความรู้สึก”