ดึงซาอุ-Tesla ดันไทยฮับ EV ลุ้นบอร์ดเคาะมาตรการลดภาษีสรรพากร

EV

สนพ. – บีโอไอ ยก EV เป็น Product Champion จับตายักษ์ใหญ่ทั้ง “ซาอุดีอาระเบีย-เทสลา” ส่งสัญญาณชัดเล็งไทยฐานการผลิตซัพพลายเชนทั้งระบบ EV และเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รับแผนพลังงานชาติ ลุ้นบอร์ด EV นัดหน้าเคาะมาตรการส่งเสริมด้านภาษีจากสรรพากร หนุนให้ผู้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV สำหรับ 8 จิกะวัตต์นำร่อง ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมออก มอก.เอส ให้อู่บริการดัดแปลง EV ได้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนพลังงานชาติ ที่เตรียมเสนอให้ กระทรวงพลังงาน รับทราบเพื่อพิจารณาในเดือน ธ.ค. 2565 นี้

ได้ระบุถึงการเตรียมความพร้อมเรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นทางเลือกใหม่ อย่างเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบันเชื้อเพลิงดังกล่าวได้นำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม และกระบวนการที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีเพื่อขับเคลื่อนในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แล้ว

และในช่วงที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการลงนามความร่วมมือ (MOU) และหารือกับทางนักลงทุนประเทศซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่าง ๆ ทั้งแบตเตอรี่ EV การวิจัยพลังงานใหม่ ก๊าซ น้ำมัน

ซึ่งยังรวมไปถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนร่วมกับทาง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ ยังมีความสนใจจากค่ายรถรายใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ EV ในไทยเช่นกัน

ดังนั้น มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV จึงเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ภายในเดือน ธ.ค. 2565 หรือช่วงเดือน ม.ค. 2566

ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นส่วนลดทางด้านภาษีจากสรรพากร ของกระทรวงการคลัง ที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว มาตรการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนสำหรับตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV รวมถึงแบตที่ใช้กักเก็บพลังงาน (ES) โดยรัฐบาลจะให้วงเงินสนับสนุนเพื่อให้เกิดการลงทุนแบตเตอรี่ขนาด 8 จิกะวัตต์ ภายในปี 2568 ที่จะมารับการผลิตรถ EV จากค่ายรถที่ร่วมโครงการพอดี

สำหรับเป้าหมายของประเทศไทย คือการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของอาเซียน และมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 (2573) หรือนโยบาย 30@30 ในระหว่างนี้จึงมีการเร่งลงทุนในเรื่องของสถานีชาร์จรถ EV เพิ่มขึ้นให้ได้ตามเป้า 12,000 หัวชาร์จ ซึ่งปัจจุบันมี 2,500 หัวชาร์จ

“เรายกให้ EV เป็น Product Champion ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุนไทย เรารอให้บอร์ด EV พิจารณาเรื่องแบต ภาพมันจะออกมาในรูปแบบที่ว่าเราช่วยลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง มันก็จะทำให้ราคาแบตถูก ราคารถก็ถูกลงเช่นกัน เมื่อเราผลิตแบตในประเทศเองได้มันก็จะขยายผลไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกตามมา อย่างบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA รายที่ทำอยู่เขาก็ได้แค่สิทธิประโยชน์จากบีโอไอ แต่ถ้ามาตรการใหม่นี้เคาะแล้ว ในแผนการผลิตใหม่เขาก็จะได้สิทธิ์ใหม่นี้พ่วงไปด้วย”

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) อยู่ระหว่างการเจรจาหารือกับทางผู้บริหารระดับสูงของเทสลา เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเกี่ยวกับการผลิตรถ EV และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

เนื่องจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนที่ชัดเจนของรัฐบาลไทยและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น หลังจากมีบริษัทรถยนต์ EV และรถยนต์สันดาปเกือบทุกแบรนด์เข้ามาลงทุนและใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทั้งจำหน่ายในประเทศและเพื่อการส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ซึ่งการที่เทสลามีความสนใจไทย และหากเข้ามาลงทุนได้จริง จะส่งผลดีต่อไทยหลายอย่าง โดยเฉพาะจะผลักดันให้อุตสาหกรรม EV ในไทยเดินหน้าได้รวดเร็วขึ้น เพราะมีผู้เล่นระดับโลกและเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเข้ามา

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้องออกมาเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดได้ออกประกาศมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) คือมาตรฐาน มอก.เอส การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า และ มอก.เอส การบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs อู่รถ หรือวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการเครื่องหมายการันตีสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะ

ที่จะครอบคลุมการบริการดัดแปลงรถเพื่อให้สามารถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เป็นเครื่องกำเนิดพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน แต่ไม่ครอบคลุมถึงบริการทดสอบ บริการตรวจสอบ บริการออกหนังสือรับรอง