PTG บุกตลาดแก๊สหุงต้มโต 45% ส่ง “ตู้เติม LPG” เจาะรายหมู่บ้าน

PTG บุกหนักตลาดก๊าซ LPG เดินหน้าปั๊มยอดขายปี’66 โต 45% ทะลุ 3.5 แสนตัน พร้อมเปิดแผนสปินออฟ “แอตลาส เอ็นเนอยี” เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นปีหน้า ขยายโรงอัดบรรจุก๊าซ-คลังก๊าซ บุกตลาดอาเซียน เดินหน้าส่ง 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ “ถังแก๊สอะลูมิเนียม-แก๊สกระป๋อง” และแฟรนไชส์ตู้เติมแก๊ส เจาะตลาดรายหมู่บ้าน และโชห่วย 4 แสนร้านค้า

“แอตลาส เอ็นเนอยี” บริษัทในกลุ่มพีทีจี ขยับขยายเข้าธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซ LPG ในปี 2562 จังหวะเดียวกับการมาของวิกฤตโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถผลักดันยอดขายได้ตามเป้าที่วางไว้ และติดลบมากถึง 50% เนื่องจากหนึ่งในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือ “รถแท็กซี่” กว่า 8 หมื่นคันทั่วประเทศ ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด จนต้องหยุดวิ่งไปเกือบครึ่ง

บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจใหม่ โดยหันมาใช้กลยุทธ์ CSR เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มแท็กซี่ให้อยู่รอดให้ได้ก่อน ทำให้สามารถฝ่าวิกฤตและพลิกขึ้นมาเป็นผู้จัดจำหน่ายก๊าซ LPG สำหรับเติมในรถยนต์อันดับ 1 และท็อป 5 ในตลาดรวมได้สำเร็จ

ใช้ CSR พลิกวิกฤต

นายสุวัชชัย พิทักษ์วงศาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอตลาส เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซหุงต้มภายใต้แบรนด์ “พีที” ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจก๊าซ LPG ในปี 2562 เพื่อให้บริการกับกลุ่มผู้ใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน, ผู้ใช้รถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซ LPG และผู้ใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรม

ซึ่งช่วงที่เข้ามาเป็นจังหวะเดียวกับวิกฤตโควิด-19 มีมาตรการปิดประเทศ ทำให้ยอดขายติดลบมากกว่า 50% เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย คือกลุ่มรถแท็กซี่กว่า 80,000 คัน ต้องหยุดวิ่งไปถึง 40,000 คัน เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้ จึงต้องหาวิธีทำให้ธุรกิจอยู่ได้

Advertisment

และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ CSR เริ่มจากการฉีดพ่นฆ่าเชื้อในรถให้แท็กซี่ เพื่อแก้ปัญหาคนไม่กล้าขึ้นแท็กซี่ เพราะกลัวติดเชื้อโควิด รวมถึงการช่วยเหลือร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้เช่าในสถานีบริการก๊าซ LPG กว่า 100 แห่ง โดยซื้อข้าวกล่องไปแจกให้กับแท็กซี่

“เป็นการช่วยกันแบบเขาอยู่ได้ และเราก็ไม่หนักเกินไป พอหลังโควิดก็ยังมีแท็กซี่รีวอร์ดให้ลูกค้าสแกนคิวอาร์โค้ดแต้มสะสมใน Max Card เพื่อนำมาเป็นส่วนลดซื้อสินค้าในร้าน Maxmart และกาแฟพันธุ์ไทย รวมถึงร้านค้าพันธมิตรได้ด้วย ตอนนี้ Max Card มีสมาชิก 18 ล้านคน และยังเป็นค่ายเดียวที่ให้สิทธิเท่ากับการเติมน้ำมัน ทำให้เราสามารถฝ่าวิกฤตมาได้”

Advertisment

เป้าหมายปี’66 โต 45%

สำหรับผลประกอบการใน 3 ไตรมาส/2565 ยอดขายก๊าซรถยนต์มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มจาก 18% เป็น 25.2% เป็นอันดับ 1 ในตลาดก๊าซรถยนต์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน มีส่วนแบ่ง 4% คาดว่าปีหน้าจะโตเพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เติบโต 2% โดยในปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายก๊าซ 45% หรือคิดเป็น 3.5 แสนตัน จากปีนี้ที่น่าจะทำได้กว่า 2.5 แสนตัน

เนื่องจากแนวโน้มตลาดก๊าซในปีหน้าทั้งภาครถยนต์และครัวเรือนมีโอกาสเติบโต 100% หลังโควิดคลี่คลาย มีการเปิดประเทศ การจับจ่ายและการเดินทางก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันพีทีมีสถานีบริการ 2,200 สาขา และจะขยายแก๊สช็อป (GAS Shop) จาก 200 แห่งในปีนี้ เป็น 400 สาขาภายในปี 2566 รวมถึงสถานีบริการ LPG ในเขตไพรมแอเรียตามหัวเมืองใหญ่อีก 20-25 แห่ง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น ส่วนโรงผลิตหรือโรงบรรจุแก๊ส มีทั้งแบบผลิตเอง (company own company operate : COCO) ซึ่งปีหน้าจะขยายเพิ่ม 4 โรง จากที่มีอยู่ 5 โรง และโรงบรรจุดีลเลอร์ (dealer own dealer operate : DODO) ขยายอีก 20 จากปัจจุบันมี 12 แห่ง เพิ่มกว่าเท่าตัว

“การขยายโรงบรรจุจะใช้งบฯลงทุนประมาณ 25-30 ล้านบาท/แห่ง ซึ่งเราใช้วิธีกู้ยืมจากบริษัทแม่บางส่วน รวมกับเงินจากกำไรในการดำเนินธุรกิจ ล่าสุดบริษัทเตรียมยื่นไฟลิ่งเพื่อนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯด้วย

เราจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจ โดยเฉพาะโรงบรรจุและคลังก๊าซ โลจิสติกส์ และมีแผนขยายตลาดก๊าซในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มเพื่อทดแทนการใช้ถ่าน ซึ่งนับว่าจะมีราคาสูงขึ้น ขณะที่การแข่งขันในประเทศเพื่อนบ้านยังน้อย ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงเป็นโอกาสของเรา”

สำหรับตลาดภาคอุตสาหกรรม แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่ได้เร็วเท่ากับภาครถยนต์ เพราะการเข้าไปเจาะตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมยังติดคอนแทร็กต์กับกลุ่มผู้ค้าเดิม จึงต้องใช้เวลา แต่คาดว่าปีหน้าจะเติบโต 100% จากความร่วมมือกับซัพพลายเออร์ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นจากการผลิตเพื่อส่งออกที่เติบโต

ความท้าทาย น้ำมันแพง-อีวี

แนวโน้มตลาดก๊าซในรถยนต์ปีหน้ายังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากราคาน้ำมันยังราคาค่อนข้างแพง ทำให้คนที่เคยใช้และมีถัง LPG อยู่แล้วหันมาใช้มากขึ้น รวมถึงกลุ่มรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) มีจุดให้บริการเติมน้อยลง ไม่กระจายตัวต่อคิวนาน ทำให้แท็กซี่เสียโอกาสในการรับผู้โดยสารในเส้นทางที่ไม่มีจุดเติม NGV นอกจากนี้ น้ำหนักบรรจุถัง NGV ยังหนักมาก เปรียบได้กับแบกข้าวสาร 2 กระสอบไว้บนรถ จึงมีการเปลี่ยนใช้ก๊าซ LPG แทน

“เค้กเท่าเดิม แต่กลยุทธ์เราคือ ชิงเค้กส่วนนี้ โดยให้บริการเปลี่ยนถัง NGV เป็น LPG ในราคาไม่สูงมาก ประมาณ 3,000 บาท ทำให้มีลูกค้ามากขึ้น สมัยก่อนตอนยังไม่มีโครงการนี้ สัดส่วนการขายผ่านรถแท็กซี่อยู่ที่ 8-10% แต่ใน 2 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนลูกค้าในกลุ่มรถแท็กซี่มีถึง 30% แล้ว”

นายสุวัชชัยกล่าวถึงกระแสความนิยมในการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า (อีวี) ด้วยว่า อาจเป็นคู่แข่งกับรถก๊าซ แต่มองว่าไม่เร็วมาก เพราะในระยะสั้นต้นทุนการเปลี่ยนรถมาเป็น “อีวี” ยังค่อนข้างสูง เทียบกับการเปลี่ยนจากน้ำมันมาใช้แก๊สจะใช้เงินแค่ 10,000 กว่าบาท ก็เข้าถึงได้แล้ว ซึ่งถ้าใช้อีวีจะต้องเปลี่ยนรถ จึงต้องลงทุนเพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการวิ่งได้ 100-200 กม.ก็ต้องชาร์จ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจุดชาร์จกระจายตัวมากแค่ไหน หรือหากซื้อรถอีวีที่วิ่งได้ไกล ก็ราคาแพงหลายเท่า เทียบกับรถน้ำมัน แม้เทียบต้นทุนต่อกิโลเมตรจะถูกกว่า แต่อย่าลืมว่าพลังงานไฟฟ้าขึ้นอยู่กับค่าเอฟที วันนี้ค่าเอฟทีขึ้นไปสูงมาก 30-40% ถ้าไปชาร์จอีวี บางจุดคิดค่าบริการตามค่าเอฟที

“การสนับสนุนให้ใช้รถอีวีต้องอุดหนุนเงินเข้าไป เงินที่รัฐบาลนำไปช่วยค่า Ft ส่วนใหญ่มาจากกองทุนน้ำมันฯ คือจากน้ำมันทุกลิตรที่เราใช้ ปีหนึ่งเราบริโภค 37,000 ล้านลิตร ทุกลิตรโดยเก็บเงินเข้ากองทุน ถ้าจะใช้ EV การบริโภคน้ำมันต้องลดลง เงินที่เข้ากองทุนก็ต้องลดลง แล้วจะเอาเงินตรงไหนไปอุดหนุนไฟฟ้า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดให้มาก จึงมองว่าในระยะสั้น อีวีไม่กระทบ ทั้งเป็นลูกค้าคนละกลุ่ม โดยกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางถึงบนอาจเปลี่ยนไปใช้อีวี แต่กลาง-ล่างมีโอกาสเปลี่ยนมาใช้ LPG ได้”

แต่หาก “อีวี” ได้รับความนิยมอย่างเร็วขึ้นมากขึ้น บริษัทสามารถเทิร์นจากสถานีบริการมาเป็น EV station ได้ เพราะอยู่ในย่านชุมชนอยู่แล้ว โดยได้มีการนำร่องเปิดร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ติดตั้งตัว EV station ไปแล้วหลายสาขา”

ดัน 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ลงตลาด

นายสุวัชชัยกล่าวด้วยว่า บริษัทยังเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ 1. PT ALUMAX เป็นก๊าซหุงต้มบรรจุในถังอะลูมิเนียม (สีเงิน) ขนาด 12.5 กก. มีจุดเด่นเรื่องความปลอดภัย ไร้รอยเชื่อมต่อ และน้ำหนักเบา ทั้งยังเป็นถังที่ให้พลังงานความร้อนสูงเร็วกว่าเหล็ก จึงทำให้อาหารสุกเร็วและประหยัด 2.ผลิตภัณฑ์แก๊สกระป๋อง เจาะลูกค้ากลุ่มปิกนิก, ชาบู และ 3.ตู้เติมแก๊สอัตโนมัติ

โดยร่วมกับบริษัท ไมโครเทรดดิ้ง จำกัด พัฒนาเครื่องจำหน่ายแก๊สชนิดเติมอัตโนมัติ โดยจะวางจำหน่ายในรูปแบบแฟรนไชส์ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าปีแรกจะขยายได้ 50 จุด มีพื้นที่เป้าหมายเป็นบริเวณกลุ่มอาคารที่พักอาศัย ชุมชน แฟลต มินิมาร์ต และร้านโชห่วยกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศ หลังทำวิจัยมาแล้วพบว่ามีลูกค้าในหมู่บ้านและตำบลที่ห่างไกลร้านแก๊ส ต้องหิ้วถังมาเติมเองถึง 40%

“ระบบความปลอดภัยสำคัญที่สุด เรามีการตรวจสอบถังทุก 5 ปี และเป็น 1 ใน 2 รายของประเทศ ที่ติดตั้งระบบ 2 วาล์วที่ถัง เพื่อป้องกันการรั่วซึม ต้นทุนสูงหน่อย แต่ต้องการรอยัลตี้ และมีคิวอาร์โค้ดที่หัววาล์วสำหรับตรวจสอบย้อนกลับว่ามีการบำรุงรักษาเมื่อไร บรรจุครั้งสุดท้ายเท่าไร และส่งไปที่ไหน โดยเชื่อมโยงไปยังแอปพลิเคชั่น เช่นกันกับแก๊สกระป๋องของเราก็มีระบบป้องกันการระเบิด”