เตือนส่งออก รับมืออียูห้ามนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม คาดมีผลบังคับใช้กลางปี’66

ขนส่ง โลจิสติกส์ ส่งออก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งเตือนผู้ส่งออกเตรียมรับมือ หลังอียูยกร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จ่อห้ามนำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม ชี้จะเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนตัดไม้ทำลายป่า คาดมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า

วันที่ 26 ธันวาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free products) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม 3 ฝ่าย (trilogue) ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะห้ามสินค้า 7 กลุ่ม

ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์กระดาษตีพิมพ์ ปาล์มน้ำมันและอนุพันธ์ของน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ เข้าอียูหากพบว่ามีส่วนในการทำลายป่า อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและรัฐสภายุโรปเต็มคณะก่อนบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2566

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

และหลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ 2 ปี จะมีการทบทวนขอบเขตของสินค้า และคำนิยามของการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

หลังจากกฎหมายมีผลใช้บังคับ ในช่วง 18 เดือนแรก คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจะจัดให้ทุกประเทศคู่ค้าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงกลางในการผลิตสินค้าที่อาจเชื่อมโยงกับการทำลายป่า และจะใช้เวลาช่วงนี้ในการประเมินและจัดกลุ่มประเทศคู่ค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ ระดับความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ ซึ่งจะส่งผลในการปฏิบัติต่อผู้นำเข้าในช่วงต่อไป โดยอียูจะตรวจสอบอย่างเข้มงวดกับประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มระดับความเสี่ยงสูง

“ร่างกฎหมายนี้ จะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่ห้ามนำเข้าสินค้าที่มีส่วนตัดไม้ทำลายป่า โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องจัดทำข้อมูล และแสดงหลักฐาน/เอกสารยืนยันว่า สินค้าไม่ได้ผลิตบนที่ดินที่มีการทำลายป่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ของไทย ได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว

เนื่องจากก่อนหน้านี้ อียูเริ่มใช้แผนปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้า (Forest Law Enforcement, Governance and Trade : FLEGT) ร่วมกับประเทศผู้ผลิตไม้ ต้องมีการรับรองแหล่งที่มาของไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ว่าถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงจัดทำข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) กับประเทศผู้ผลิตไม้ เพื่อป้องกันไม่ให้ไม้ผิดกฎหมายเข้ามาในตลาดอียู โดยไทยและอียูได้เริ่มการเจรจาจัดทำ FLEGT VPA ตั้งแต่ปี 2556”

นอกจากนี้ อียูได้มีการออกกฎระเบียบว่าด้วยการห้ามการจำหน่ายไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ผิดกฎหมายในตลาดอียู (EUTR : EU Timber Regulation) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 เพื่อมาเสริมมาตรการ FLEGT ขจัดปัญหาการทำไม้ผิดกฎหมาย รวมถึงการพัฒนาระบบธรรมาภิบาล ส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ของไทย ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว

โดยเฉพาะการจัดทำเอกสารแสดงสิทธิการใช้ที่ดินว่าไม่ได้บุกรุกป่า โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิประโยชน์บนที่ดิน และมีบทบาทสำคัญในการรับรองว่าการผลิตมีการรุกป่าหรือไม่ โดยได้มีการหารือและเตรียมการเรื่องนี้มาเป็นระยะแล้ว


ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไปอียู มูลค่า 1,693.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกไทยไปโลก ไม้มูลค่า 22.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 9% ของการส่งออกไทยไปโลก และเฟอร์นิเจอร์มูลค่า 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นสัดส่วน 5% ของการส่งออกไทยไปโลก ส่วนสินค้ากลุ่มอื่น ๆ ได้แก่ วัวและผลิตภัณฑ์ ถั่วเหลือง โกโก้ และน้ำมันปาล์ม โดยไทยส่งออกไปอียูน้อย มีสัดส่วนต่ำกว่า 1% ของการส่งออกไปโลก