ส่องแผน AEDP 2022 วางอนาคตพลังงานทดแทนไทย

พลังงานทดแทน

วิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้นทั่วโลกหลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้ หลายฝ่ายจึงมุ่งสู่การพัฒนาพลังงานสะอาด เป็นหนทางลดความเสี่ยงลดการพึ่งพิงพลังงานจากฟอสซิล ทั้งยังช่วยชาติเดินหน้าสู่การขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050

ทิศทางกระทรวงพลังงานปี’66

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา บทเรียนราคาแพงของประเทศไทยต้องเผชิญภาวะความผันผวนที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตพลังงาน ทั้งปัจจัยจากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน การลดการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และค่าครองชีพประชาชนปรับตัวสูงขึ้น

ซึ่งในปี 2566 คาดว่าสถานการณ์ความผันผวนด้านพลังงานจะยังคงอยู่ เราจำเป็นจะต้องปรับบทบาทไปสู่การใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ตามแผนที่คาดว่าจะมีสัดส่วน 50% มุ่งบริหารจัดการพลังงานลดความเสี่ยง ความผันผวน เพื่อให้เพียงพอ ไม่ให้กระทบค่าครองชีพประชาชน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

โดยกระทรวงปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด

และกระตุ้นการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ ๆ เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก 200 เมกะวัตต์ การลงทุนรถ EV สถานีอัดประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และร่วมกับกรมสรรพสามิต ศึกษาศักยภาพ พัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ในไตรมาส 1 ปี 2566 จะเปิดรับฟังความเห็นประกอบการจัดทำแผนย่อย 5 แผนในการจัดทำแผน NEP ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

จากนั้นคาดว่าไตรมาส 2-3 จะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในไตรมาส 3-4 ปี 2566

แผน AEDP 2022

หากแยกเฉพาะร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2022) ฉบับใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 แผนของ NEP “นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงร่างแผน AEDP 2022

โดยคาดว่าจะมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นได้ในช่วงต้นปี 2566 แน่นอนว่าจะต้องปรับเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด ให้เพิ่มขึ้นกว่าแผนเดิม โดยเฉพาะ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ไทยยังมีศักยภาพเหลือมากพอ

เบื้องต้นยังคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ 29,411 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น อาทิ โควตารับซื้อไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ รวม 520 เมกะวัตต์ มีการปรับเพิ่มโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเข้ามาในระบบ รวม 1,933 เมกะวัตต์

อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ 12,139 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ชีวมวล 5,790 เมกะวัตต์ พลังงานลม 2,989 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวมวล (น้ำเสีย/ของเสีย/พืชพลังงาน) 1,565 เมกะวัตต์ ขยะชุมชน 900 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 75 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 2,920 เมกะวัตต์ และพลังน้ำขนาดเล็ก 308 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศ ทำหน้าที่เสนอความเห็นว่าการรับซื้อไฟฟ้าควรพิจารณาด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาใดที่จะเหมาะสม

มาตรการลดพลังงาน/เซฟค่าไฟ

นอกจากการจัดทำแผน AEDP แล้ว กรมได้ประกาศใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคาร ที่บังคับใช้ในอาคารที่มีพื้นที่ (BEC) ขนาดไม่ต่ำกว่า 2,000 ตร.ม. คาดว่าจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้ 13,700 ล้านหน่วย หรือกว่า 47,000 ล้านบาท รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1 ล้านตัน/ปี การส่งเสริมให้ส่วนราชการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ช่วยลดค่าไฟฟ้า และการนำร่องอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาแพลตฟอร์มทางการเงิน สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการใช้อุปกรณ์ เครื่องจักรประสิทธิภาพสูง

ตาราง พลังงาน

การเร่งการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทําให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 20 ปี มูลค่ารวมกว่า 37,700 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

เอกชน-นักวิชาการหนุนใช้พลังงานหมุนเวียน

ด้าน นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการด้านพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้านพลังงานเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) หนึ่งในนั้นคือการแก้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ (PDP 2022)

โดยเห็นด้วยให้มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% และขอให้เร่งทำระบบ Emission Carbon System หรือการเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราที่สูง สนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ลดข้อจำกัด ลดเงื่อนไข และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ EV

ขณะที่ นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตพลังงานและมาตรการทางการค้าอยู่แล้ว เราจึงตระหนักและให้ความสำคัญอย่างมากต่อเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งหากประเทศไทยไม่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้

หรือไม่มีความคืบหน้าหรือขาดความชัดเจนต่อเป้าหมาย จะส่งผลต่อนักลงทุนปรับลดการผลิต ไปจนถึงย้ายฐานการผลิต โดยที่ผ่านมาภาคเอกชนลงทุนลดการปล่อยคาร์บอนแล้ว เพราะเป้าหมายของประเทศคือ ปี 2050 ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าช้าเกินไปสำหรับการทำธุรกิจ

ดังนั้น ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในการทำแผนและการสื่อสารที่ถูกต้อง โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสัดส่วนพลังงานสะอาดของประเทศ ซึ่งควรที่จะเร่งรัด Grid Modernization หรือการปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้า


โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อช่วยภาคเอกชนลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการปล่อยทางอ้อมผ่านระบบไฟฟ้า เพราะฝั่งเอกชนไม่สามารถลดได้เอง และรัฐควรบริหารจัดการโควตาการดูดซับคาร์บอนที่ครอบคลุมไปถึงกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจรายเล็ก เช่น การทำเรื่อง Green Finance ที่ปัจจุบันมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกขนาดหรือเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงได้ด้วย