เอกชนไม่มั่นใจเศรษฐกิจทำดัชนีอุตสาหกรรมร่วงในรอบ 7 เดือน

อุตสาหกรรม

ส.อ.ท. เผยดัชนีเชื่อมั่นอภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวลดลงในรอบ 7 เดือน เอกชนยังกังวลขึ้นค่าไฟ ย้ำรัฐต้องดูแลภาคการส่งออกจากค่าเงินบาทผันผวน

วันที่ 17 มกราคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน ธ.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือน พ.ย. 2565 ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มีปัจจัยลบจากภาคการผลิตที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากในเดือน ธ.ค. มีวันทำงานน้อยและวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้ดัชนีฯ คำสั่งซื้อสินค้า ปริมาณการผลิตและผลประกอบการปรับตัวลดลง

ทั้งนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีประกาศปรับขึ้นอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.23% เป็น 0.46% ต่อปี ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล
เกรียงไกร เธียรนุกุล

ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อที่ยังบั่นทอนกำลังซื้อในประเทศ ในด้านการส่งออกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอนและสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ตาม เดือน ธ.ค. ยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ และการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิต

สำหรับดัชนี คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 97.0 ในเดือน พ.ย. 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศ ทยอยฟื้นตัวตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่ประเทศจีนประกาศผ่อนคลายมาตรการ Zero-COVID เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นของต้นทุนการผลิต ปัญหาการแข่งขันด้านราคา และปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออก

ดังนั้น จึงขอเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1.มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งในภูมิภาค

2.ดูแลค่าเงินบาทให้มีความสมดุลทั้งกับผู้ส่งออกและผู้นำเข้า รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท

3.อาศัยโอกาสจากการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมาตรการด้านสาธารณสุขให้มีความเข้มงวด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่