
“สุริยะ” สั่งการอุตสาหกรรมจังหวัด ส่งวิศวกรลงพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ช่วยเหลือให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ประสบปัญหาเครื่องจักรหยุดชะงัก กลับมาเดินเครื่องทั้งหมดเร็วที่สุด คาดโรงงานจะระบายสต๊อกผลปาล์มที่ค้าง-ติดคิวได้ภายใน 3 วัน
วันที่ 19 มกราคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงกรณีสถานการณ์โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและลานเทในหลายจังหวัดหยุดรับซื้อผลปาล์มน้ำมันเป็นการชั่วคราว โดยอ้างเหตุผลการหยุดซ่อมเครื่องจักร ทําให้ผลผลิตตกค้างเป็นจํานวนมาก และราคาผลปาล์มตกต่ำลงอย่างผิดปกติ ว่าได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่เพื่อสํารวจ ตรวจสอบ และช่วยเหลือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มใน 12 จังหวัดภาคใต้
- อนุทินอัพเดตทรัพย์สินภรรยาคนที่ 3 “วธนนนท์” ค้างค่าหย่าภรรยาคนที่ 2
- คดีทักษิณ-ขออภัยโทษ
- STARK สะเทือนตลาดหุ้นกู้ นักลงทุนเกือบ 5 พันรายช็อกเจอเบี้ยวหนี้
ได้แก่ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สงขลา พัทลุง ระนอง พังงา ปัตตานี และสตูล
ทั้งนี้ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับข้อสั่งการไปดําเนินการ และได้รับรายงานว่าสถานการณ์ราคาผลปาล์มน้ำมันที่ต่ำลง ส่วนหนึ่งมาจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจํานวนหนึ่งหยุดดําเนินการ ในช่วงเทศกาลปีใหม่นานกว่าปกติ ส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มค้างหรือติดคิวอยู่ที่ลานเทและที่โรงงาน
ซึ่งอาจทําให้ผลปาล์มที่ค้างอยู่บางส่วนมีคุณภาพต่ำและมีความเป็นกรดสูง จึงทําให้อาจมีราคาต่ำลง ขณะที่ประเด็นการซ่อมเครื่องจักร จากการตรวจสอบล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 พบว่าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทั้งหมดภาคใต้จํานวน 83 โรงงาน มีกําลังการผลิตรวม 3,532.80 ตัน/ชั่วโมง
ซึ่งภายหลังจากที่ขอความร่วมมือให้เปิดดําเนินการ มีเพียงเครือบริษัทเดียวที่มีโรงงานอยู่ทั้งในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช ยังยืนยันที่จะปิดซ่อมบํารุงเครื่องจักรในช่วงนี้ ส่งผลให้โรงงานสกัดน้ำมันที่เปิดเดินเครื่องอยู่มีกําลังการผลิตรวม 3,487.80 ตัน/ชั่วโมง (98.83%)
กระทรวงอุตสาหกรรมตระหนักว่าเรื่องนี้ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกร ผมจึงได้สั่งการให้สํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จัดส่งวิศวกรลงพื้นที่เพื่อเร่งช่วยเหลือให้โรงงานที่เครื่องจักรประสบปัญหาให้สามารถดําเนินการได้ทั้งหมดโดยเร็วที่สุด รวมทั้งกําชับโรงงานว่าหากมีแผนซ่อมบํารุงรักษาเครื่องจักร ก็ขอให้เลื่อนแผนการบํารุงรักษาออกไปก่อน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร
สําหรับความสามารถการจัดการผลปาล์มที่ค้างหรือติดคิว จากการหารือระหว่างสํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัด กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 พบว่าโรงงานมีความสามารถระบายสต๊อกผลปาล์มที่ค้างหรือติดคิวได้ทุกโรงงาน โดยคาดว่าจะใช้เวลาดําเนินการอย่างช้าสุดไม่เกิน 3 วัน
“ผมขอความร่วมมือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่การปลูก การแปรรูป และการตลาด ซึ่งช่วงนี้เกษตรกรเดือดร้อน ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐ ผู้ประกอบการ สามารถช่วยกันได้ก็ขอให้ช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มภาคใต้ด้วยกัน”