มนัญญา เผยสาเหตุราคามะพร้าวตกต่ำ พบลักลอบนำเข้ากะทินอก

มะพร้าวราคาตก

“มนัญญา” เดินหน้าทวงราคามะพร้าวคืนให้เกษตรกรไทย หลังพบราคาตกจาก 2 สาเหตุ “นำเข้ากะทินอก และมะพร้าวผลนอกโควตา”

วันที่ 25 มกราคม 2566 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลมะพร้าวตกต่ำ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศรายงานว่า มียอดนำเข้ามะพร้าว ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 2565 ตามกรอบเขตการค้าเสรีอาเซียน ASEAN Free Trade Area (AFTA) และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization (WTO) รวม 130,000 ตัน

โดยเป็นการนำเข้าตาม 2 กรอบดังกล่าว รวม 7,000 ตัน ที่เหลือเป็นการนำเข้านอกกรอบ WTO ที่เสียภาษีร้อยละ 54 นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารายงานว่า มียอดตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ทำอาหารและอื่น ๆ ผ่าน อย. ปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

โดยเมื่อผ่านขั้นตอนการตรวจเรื่องการปนเปื้อน หรือเชื้อโรคและสารตกค้างตามกฎหมายอาหารและยาแล้ว อย. ไม่มีอำนาจในการติดตามปลายทางของสินค้าดังกล่าว จึงไม่ทราบว่ากะทิเหล่านั้นถูกนำไปใช้ในวัตถุประสงค์ใดบ้าง

“แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการลดการพึ่งพาผลผลิตของเกษตรกรภายในประเทศ จึงมีการนำเข้ามะพร้าวผลและน้ำกะทิ เพื่อมาเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าจำหน่ายในประเทศและส่งออก จึงส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวของเกษตรกรไทยโดยตรง

อีกทั้ง ภาคเอกชนยอมเสียภาษีนำเข้ามะพร้าวนอกโควตาเพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช เช่น การกะเทาะเปลือกในโรงงาน เป็นต้น ดังนั้น การกำหนดโควตานำเข้ามะพร้าวของ คกก.พืชน้ำมันฯ แต่ละปี จึงอาจไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งจะเห็นว่าขณะนี้ราคามะพร้าวขูดสำหรับทำกะทิในท้องตลาด อยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคารับซื้อมะพร้าวผลจากชาวสวน อยู่ที่ 5-12 บาทต่อผล

จึงเป็นคำถามว่า ส่วนต่างของราคานี้หายไปไหน แต่เอกชนกลับไปนำเข้าน้ำกะทิปีละ 3,000 ล้านบาท และยอมเสียภาษีนอกโควตา WTO ร้อยละ 54 ทำไมเราไม่ช่วยกันซื้อมะพร้าวภายในประเทศ และให้ราคาที่เหมาะสมกับเกษตรกร เพื่อให้เงินเหล่านี้กลับไปอยู่ในมือเกษตรกร ต่างกับราคาน้ำมันพืชที่ไม่เคยตกเลย ดังนั้นต้องมาบูรณาทำงานร่วมกันเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา และให้เกษตรกรได้ราคาผลผลิตที่เป็นธรรม” รมช.มนัญญากล่าว

นอกจากนั้น รมช.มนัญญายังได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรตรวจมะพร้าวที่มีการนำเข้าทั้งในและนอกโควตา 100% จากเดิมที่เป็นการสุ่มตรวจ รวมถึงรวบรวมข้อมูลการขอนำเข้าว่ามีทั้งหมดกี่บริษัท ปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร