ส่งออกแป้งมันอ่วม ชอร์ตซัพพลายหนักสุดรอบ 35 ปี

อนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

แป้งมันสำปะหลังหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศในปี 2566 กำลังประสบภาวะวิกฤตชอร์ตซัพพลายวัตถุดิบ โดยปริมาณผลผลิตที่เคยออกสู่ตลาดหายไป 70% อีกทั้งคู่ค้าตลาดหลักกดราคารับซื้อ ทำให้คาดว่าผู้ประกอบการอาจจะประสบภาวะขาดทุนถึง 1,000 ล้านบาท “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายอนุวัฒน์ ฤทัยยานนท์” นายกสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย

มันขาดตลาดหนัก

สมาคมได้ร่วมคณะสำรวจซึ่งประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่สำรวจผลผลิตมันสำปะหลัง ซึ่งปกติจะมีการสำรวจทุก 3 เดือน โดยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ประเมินเบื้องต้นว่าจะมีผลผลิต 35 ล้านตัน แต่สถานการณ์ขณะนี้ก็ยังไม่มีการอัพเดตข้อมูลว่ามันสำปะหลังออกสู่ตลาดแท้จริงเท่าไร

ทุกปีผลผลิตมันจะออกมามากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม แต่จากการติดตามและรับซื้อผลผลิตหัวมันสดของผู้ประกอบการแป้งมัน พบว่า ช่วงนี้เกิดภาวะชอร์ตผลผลิตเข้าสู่โรงงานน้อยลง บางช่วงไม่มีผลผลิตเข้ามาเลย ปกติแล้วช่วงนี้ 4-5 เดือนเฉลี่ยผลผลิตจะออกมาปริมาณ 5-6 แสนตันต่อเดือน แต่พบว่ามีผลผลิตออกมาประมาณ 4-5 แสนตันต่อเดือน

“ปกติแล้วช่วงนี้ชาวไร่จะนำมันสำปะหลังทั้งมันเส้น หัวมันสดเข้ามาขายให้กับลานเท โรงแป้งมัน จนทำให้หน้าโรงงานแป้งมัน ลานเท ติดคิวเพื่อรอเข้ามาขายมัน แต่เวลานี้กลับไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเลยโรงงานแป้งมัน ลานเท ไม่มีมันสำปะหลังเข้ามาขาย เกิดภาวะชอร์ต ไม่มีมันเข้าระบบ”

“ผมอยู่ในวงการนี้มา 35-36 ปี ไม่เคยเห็นว่าช่วงนี้มันสำปะหลังจะเกิดภาวะชอร์ตตลาด มันหายไปจากระบบ จากที่โรงงานที่เปิดกำลังการผลิตช่วงนี้ 100% แต่ปัจจุบันพบว่ากำลังการผลิตลดลงมาอยู่ที่ 30% เพราะไม่มีผลผลิตเข้าโรงงาน”

ต้นเหตุชอร์ตซัพพลาย

ต้นเหตุที่ทำให้วัตถุดิบขาด คาดว่าเป็นผลมาจากในช่วงก่อนหน้าชาวไร่ได้นำมันสำปะหลังอายุ 6 เดือนเข้ามาขายล่วงหน้า เนื่องจากช่วงนั้นราคามันดี ชาวไร่เร่งขุดออกมาขายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับช่วงนั้นมีปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ประมาณ 12 ล้านไร่ ทำให้ผลผลิตเสียหาย แม้ว่าจะมีการเพิ่มพื้นที่ปลูก จาก 8-9 ล้านไร่ เป็น 10 ล้านไร่

แต่เกิดปัญหามันเน่าเป็นจำนวนมาก และปัญหาผลผลิตต่อไร่ก็ลดลง จากที่ควรจะได้ 3 ตันต่อไร่ แต่ได้เพียง 2.6-2.7 ตันต่อไร่ ขณะที่ปัญหาเดิมจากโรคใบด่าง เสียหายกว่า 1 ล้านไร่ ยังไม่ได้รับการแก้ไข และปีนี้กลัวว่าจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง เพราะหากมีปัญหาภัยแล้ง จากปัจจัยต่าง ๆ คาดว่าผลผลิตที่ประเมินก่อนหน้านี้ที่ 35 ล้านตัน อาจจะไม่ถึงคาดว่าอยู่ที่ 23-24 ล้านตัน ซึ่งจะหายออกจากระบบประมาณ 20-30%

แย่งซื้อหัวมันสดวุ่น

ความต้องการหัวมันสดในประเทศ คาดว่าอยู่ที่ 29,890,343 ตัน แต่จากการติดตามผลผลิตที่คาดว่าจะไม่ได้เป็นตัวเลขที่ประเมินไว้จากปัญหาน้ำท่วม ชาวไร่เร่งขุดมันอายุ 6 เดือนออกมาขายไปก่อนหน้านี้ ปกติแล้วต้องอายุ 9 เดือน ซึ่งหัวมันจะใหญ่เชื้อแป้งจะเยอะ

รวมไปถึงปัญหาอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 23,769,183 ตัน ซึ่งผลผลิตที่ออกมาน้อยกว่าความต้องการไปถึง 6,121,159 ตัน ทำให้ปีนี้ผู้ส่งออกแป้งมัน โรงแป้งอาจจะต้องเจอปัญหาแย่งซื้อมันสำปะหลังอายุสั้น เพื่อที่จะมีวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้าในการส่งออกแป้งมันให้กับลูกค้า

“แม้จะแย่งซื้อมันสำปะหลังกับกลุ่มแป้งมันกันเอง หรือผู้ส่งออกมันเส้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาสูงเกินไปมากนัก เพราะหากซื้อราคาสูงเกินราคาหรือกลไกตลาด ก็อาจจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและสินค้าได้ เพราะคู่แข่งตลาดสำคัญของไทย คือ เวียดนาม

ซึ่งก็เผชิญปัญหาเดียวกัน แต่ผู้ส่งออกมันเส้นยังมีทางเลือกสามารถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา สปป.ลาวได้ แต่สำหรับกลุ่มแป้งมันที่ต้องใช้หัวมันสดที่ขุดขึ้นมาภายใน 3 วันจะต้องส่งถึงหน้าโรงงาน เพื่อให้ได้แป้งที่มีคุณภาพ ทำให้เรานำเข้าหัวมันสดจากเพื่อนบ้านไม่ได้”

ต้นทุนรับซื้อพุ่ง 3.50 บาท/กก.

ผู้ส่งออกแป้งมันหรือรวมไปถึงผู้ส่งออกมันเส้น เห็นว่าราคามันสำปะหลังราคาดีขึ้นไปเฉลี่ย 3.50-3.60 บาทต่อกิโลกรัม เชื้อแป้งที่ 25% ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการดีใจที่ชาวไร่ขายมันได้ราคา เพราะชาวไร่มีรายได้ก็จะยังปลูกพืชนั้นต่อ ไม่หันไปปลูกอย่างอื่น ราคานั้นผู้ประกอบการอย่างเราก็อยู่ได้

แต่ปัญหาตอนนี้เราถูกกดราคา ชะลอคำสั่งซื้อ จากผู้นำเข้าเพราะมองว่าผลผลิตออกเยอะราคาต้องลง แต่ความเป็นจริงผลผลิตออกน้อย ต้นทุนเพิ่มขึ้น ราคาที่ขายไม่สามารถขายได้ในราคาตลาดที่แท้จริงต้องขายในราคาต้นทุนหรือยอมขาดทุนเพื่อให้ขายสินค้าได้

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ จะทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมแป้งมัน ซึ่งมีสมาชิกในสมาคมประมาณ 100 ราย คาดว่าจะขาดทุน 1,000 ล้านบาท เพราะเราไม่สามารถขายสินค้าตามต้นทุนหรือราคาตลาดที่แท้จริง เพราะผู้นำเข้าบางรายก็ให้เหตุผลว่า ผลผลิตที่มีการรายงานจากหน่วยงานของภาครัฐ ยืนยันตัวเลขว่าผลผลิตจะออกมา 35 ล้านตัน แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันผลผลิตหายออกไปจากตลาดมากเกือบถึง 10 ล้านตัน

ทำให้ผู้นำเข้ารอดูสถานการณ์ราคา ชะลอการรับซื้อ รวมไปถึงกดราคา ซึ่งหากเป็นอย่างนี้ ผู้ประกอบการขาดทุน ขาดสภาพคล่อง ก็มีโอกาสที่การรับซื้อมันสำปะหลังภายในประเทศออกจะชะลอตัว หรือมีโอกาสหยุดรับซื้อได้

“เรานำหัวมันสดเพื่อนำมาแปรรูปเป็นแป้งมันจากปกติ 4-5 ตัน แต่ตอนนี้ต้องเพิ่มขึ้นมาเป็น 5-6 ตันกว่า เพื่อให้ได้แป้งมันที่ต้องการ ต้นทุนรับซื้อก็เพิ่มขึ้น ตอนนี้ค่าไฟก็สูง ขนส่งก็เพิ่มขึ้น ก็ล้วนเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้น แต่การขายกลับต้องขายในราคาต้นทุน หรือราคาถูกลงบ้าง

เพื่อให้ผู้ซื้อยังคงซื้อสินค้า และการเก็บสต๊อกแป้งมันไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน สามารถเก็บได้แค่ 6 เดือน หากมากกว่านั้น คุณภาพของแป้งมันก็ไม่ได้ ขายไม่ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาเราก็ต้องขายไปในราคาที่รับได้หรือขาดทุน”

แนวโน้มส่งออก

การส่งออกแป้งมันปีนี้จะอยู่ที่ 4.5 ล้านตัน เทียบเท่าปีที่ผ่านมา แป้งมันสำปะหลังของไทย 50% ส่งออกเข้าไปในตลาดจีน ส่วนอีก 50% ส่งออกทั่วโลกทั้งสหรัฐ ยุโรป เอเชีย เป็นต้น ซึ่งความต้องการแป้งมันยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมที่ต้องการ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมกระดาษ โดยตลาดยังมีความต้องการและนำเข้า

โดยคู่แข่งสำคัญของตลาดแป้งมัน คือ เวียดนาม ซึ่งปีนี้ก็ผลักดันการส่งออกเช่นกัน รวมไปถึงเร่งนำเข้ามันจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศเพื่อนบ้านก็มีปัญหาเรื่องของผลผลิตน้อยอยู่แล้ว ก็ส่งผลให้แข่งขันราคารับซื้อยอมซื้อในราคาที่สูง ก็ทำให้ส่วนใหญ่ก็ส่งเข้าเวียดนาม

ราคาขายตอนนี้ FOB อยู่ที่ 480-500 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมาขายอยู่ที่ 420-430 เหรียญสหรัฐต่อตัน ราคาที่ขายในตอนนี้ถือว่าเป็นราคาต้นทุนที่ผู้ส่งออกขายให้กับผู้นำเข้า อย่างไรก็ดี ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลผลิตที่แท้จริงเพื่อที่จะได้ให้ราคาขายเป็นไปตามต้นทุนและกลไกตลาด เพราะต้องยอมรับว่าผู้นำเข้าเชื่อข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐเป็นตัวเลขอ้างอิงในการประเมินและรับซื้อสินค้า