ราคาน้ำมันดิบ (6 ก.พ.) ร่วงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ราคาน้ำมันดิบ
Photo by Johannes EISELE / AFP

ราคาน้ำมันดิบปิดร่วงต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ หลังตลาดกังวลสหรัฐเร่งขึ้นดอกเบี้ย

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคา ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่า 3% มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนเทขายจากความกังวลว่า FED มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นต่อ หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นกว่า 517,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. 66 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 187,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 3.5% มาอยู่ที่ 3.4% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 53 ปี

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 3 ก.พ. 2566 อยู่ที่ 73.39 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.49 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 79.94 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -2.23 เหรียญสหรัฐ

กลุ่ม G7 ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรป (EU) กำหนดเพดานราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 5 ก.พ. ซึ่งเป็นวันเดียวกับเส้นตายในการห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป รวมถึงการให้บริการขนส่งและบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หากราคาน้ำมันของรัสเซียสูงกว่าเพดานราคา โดยเพดานราคาสำหรับน้ำมันที่มีมูลค่ามากกว่าน้ำมันดิบ เช่น น้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันที่มีมูลค่าต่ำกว่าน้ำมันดิบจะมีการกำหนดที่ 45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

การขุดเจาะของสหรัฐปรับลดลงมากสุดในรอบสัปดาห์นับตั้งแต่ มิ.ย. 63 โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 ก.พ. ปรับลดลง 12 แท่น มาอยู่ที่ 759 แท่น

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกของจีนในเดือน ก.พ. ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากอินเดียและปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับในรอบ 14 เดือน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังมีการเร่งนำเข้าน้ำมันดีเซลจากรัสเซีย