ถอดรหัสปมค้าน กกพ. รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าสีเขียว อย่างไร ?

ค่าไฟฟ้า

ถอดรหัส ปมค้าน กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5 พันเมกะวัตต์-เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว UGT อย่างไร ?

หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดให้เอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 กำลังการผลิตรวม 5,203 เมกะวัตต์

โดยแบ่งเป็น ก๊าซชีวภาพ 335 เมกะวัตต์, พลังงานลม 1,500 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 1,000 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 2,368 เมกะวัตต์ แบบไม่มีการแข่งขันราคาแต่ตั้งราคารับซื้อไฟแต่ละประเภท ดังนี้

1) ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ติดตั้งบนพื้น รับซื้อหน่วยละ 2.01 บาท

2) ก๊าซชีวภาพ หน่วยละ 2.07 บาท

3) พลังงานลม หน่วยละ 3.01 บาท

4) พลังงานแสงอาทิตย์ แบบ Hybrid ที่มีระบบ รับซื้อ หน่วยละ 2.83 บาท

กกพ.สรุปผลว่ามีผู้ยื่นคำร้องเสนอขายไฟฟ้ารวม 670 โครงการ แบ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จำนวน 272 โครงการ และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จำนวน 398 โครงการ รวมเป็นปริมาณเสนอขายรวมมากถึง 17,400 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่กำหนดไว้มากกว่า 3 เท่า

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

ขอ ส.อ.ท.ช่วย

ล่าสุดกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตพลังงานหมุนเวียน ได้ยื่นร้องสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยตั้งข้อสังเกตว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้า ในครั้งนี้ ว่าไม่มีการประมูล เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคา แต่เป็นการกำหนดราคาซื้อ-ขาย และคัดเลือกตามลำดับคะแนนโดยคณะอนุกรรมการคัดเลือกโครงการ ซึ่งมาจากที่ กกพ. แต่งตั้งขึ้น ทั้งไม่มีการประกาศเกณฑ์การคัดเลือกให้ผู้ยื่นได้รับรู้ล่วงหน้า อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้มีการแข่งขันราคา เพื่อจะให้เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และอยู่บนพื้นฐานของธรรมภิบาลความจริง

จึงขอให้ ทบทวน และพิจารณาใหม่อีกครั้งโดยเร็วที่สุด เนื่องจากพบความไม่โปร่งใสมากมายในการพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติการเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ด้าน นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ได้เตรียมนำปัญหานี้ เข้าหารือกับ กกพ. เป็นการเร่งด่วน

ผลการพิจารณาของ กกพ.

ย้อนกลับไปดูผลการพิจารณานายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ.ระบุว่า โครงการ พลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทาง กกพ. ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจากจำนวนผู้ที่ยื่นคำขอ 629 โครงการพบว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติ 550 โครงการ และคัดเลือกลำดับ ต่อมาพบว่าในจำนวนนี้มีโครงการที่ผ่านการคัดเลือก 318 ราย รวม 7,729 เมกะวัตต์ และไม่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 230 โครงการรวม 6,126 เมกะวัตต์

สาเหตุที่ไม่ผ่าน 230 โครงการ ประกอบด้วย 5 สาเหตุ คือ 1) ไม่ผ่านความพร้อมด้านพื้นที่จำนวน 210 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่ติดปัญหาเรื่องผังเมือง 146 โครงการ ฝติดปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองอีก 111 โครงการ เช่น ยื่นเอกสารสิทธิที่ดินไม่ครบไม่มีเอกสารแสดงตัวตนของเจ้าของที่ดินลงนามสัญญาไม่ถูกต้องไม่มีหนังสือแจ้งตั้งผู้จัดการมรดก เป็นต้น และติดเรื่องผังรวมแปลง 15 โครงการ เช่นไม่แนบผังต่อโฉนดแนบไม่ครบ ไม่ระบุเลขขนาด เป็นต้น

2) สาเหตุติดปัญหาด้านเทคโนโลยี 23 โครงการ เช่น ไม่พบเอกสารเรื่องแพลนเลย์เอาต์ วิศวกรไม่ลงนามในแบบแพลนเลย์เอาต์ ไม่มีสำเนาใบอนุญาตวิศวกรผู้รับรอง เป็นต้น 3) สาเหตุติดปัญหาด้านเชื้อเพลิง 6 โครงการเช่น ไม่มีรายงานประเมินความสามารถในการผลิตไฟฟ้า

4) สาเหตุ ด้านการเงิน 26 โครงการ เช่น ไม่แนบหนังสือสนับสนุนทางการเงินไม่ระบุวงเงินในการสนับสนุนหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำและผู้ที่ไม่มีแผนการจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและ 5)สาเหตุจากการดำเนินงาน คือ ขาดรับฟังความคิดเห็นอีก 1 โครงการ

“เกณฑ์การพิจารณาเราก็แบ่งกลุ่มแต่ละประเภทประเภทจากเกณฑ์ เช่น ที่ดินตอนนี้ดูเรื่องกรรมสิทธิ์ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้กรรมสิทธิ์หมดแล้วแต่ต้องดูว่ากรรมสิทธิ์ที่ได้นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ระดับไหน ถ้าเป็นผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของที่ดินก็มีกรรมสิทธิ์เยอะกว่าหรือถ้าเป็นสัญญาจะซื้อจะขายต้องดูว่ามีคอมมิตเมนต์กันชัดเจนมีการลงทะเบียนก็เป็นอีกระดับหนึ่ง”

ส่วนที่เหลืออีก 318 โครงการ คิดเป็นจำนวน 7,729 .08 เมกะวัตต์นั้น แน่นอนว่าการแข่งขันย่อมเข้มข้นขึ้น คาดว่าจะสรุปผลการพิจารณาในเดือนมีนาคม 2566

แต่อย่างไรก็ตาม จากที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อกำหนดราคาซื้อขายไซด์เท่ากันแล้ว กกพ. จะใช้เกณฑ์อะไรในการให้คะแนนเพื่อตัดสิน

เพิ่มแบงก์การันตี

นายคมกฤชกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินโครงการเปิดรับซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกะวัตต์ เป็นการดำเนินงานตามนโยบาย สาเหตุที่ไม่เปิดให้มีการแข่งด้านราคา เป็นเพราะว่าแต่เดิมเคยได้เปิดให้แข่งขันด้านราคาแล้ว 3-4 ครั้ง ปรากฏว่ามีการตัดราคาจนต่ำ ซึ่งเมื่อชนะการคัดเลือกราคาต่ำมากอาจจะทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริง

ซึ่งแต่เดิมผลิตไม่ได้จริงก็ไม่ได้สร้างความเสียหาย เพราะไม่ได้ไปมีผลผูกพันกับอะไร แต่สำหรับโครงการนี้ เราต้องการผู้ที่ผลิตได้จริง เพราะการผลิตในโครงการนี้จะถูกใช้ในโครงการกรีนมารีฟ (ไฟฟ้าสีเขียว) ถ้าไม่สามารถผลิตได้จริงจะกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องนำใบรับรอง ไปแสดง (ไอเดนติฟายด์) ต่อคู่ค้า ว่าสินค้าผลิตจากพลังงานหมุนเวียนไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหา ตัดราคาและผลิตไม่ได้จริง ทาง กกพ.จึงได้วางเกณฑ์การให้คะแนน เข้มข้น โดยเฉพาะการการันตีว่าเขาทำได้แน่ เรื่องแรกก็ดูเรื่องกรรมสิทธิ์และดูเรื่องเทคนิคค่อนข้างละเอียดเพื่อที่จะมีความมั่นใจได้ว่าคนที่จะเข้ามามีความพร้อมในการก่อสร้างจริง ๆ อันนี้ส่วนหนึ่ง

และอันที่ 2 ที่สำคัญในรอบนี้เรามีการแบงค์การันตีสูงกว่ารอบก่อน หากใครที่ได้รับคัดเลือกแล้วทำไม่ได้ ก็จะถูกยึดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

“การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนรอบนี้เราให้ความสำคัญเพราะเราจะเอาไปรองรับคนที่ใช้กรีน energy พลังงานสีเขียวถ้าเกิดได้มาแล้วทำไม่ได้มันจะมีผลกระทบเพราะว่ามีลูกค้าคอยอยู่แต่ถ้าเป็นการซื้อในรอบที่ผ่านมาเอสทีพีไฮบริดที่ประมูลได้ 78 เมกะวัตต์จากเป้าหมาย 300 เมกะวัตต์นั้นก็ไม่มีอะไรเราก็ใช้ไฟฟ้าอื่นแทนได้แต่รอบนี้มันคนละมิติ”

“ที่ผ่านมาเวลาเปิดประมูลคนมาเสนอแต่เวลาทำให้จริงก็ไม่สามารถจะ COD ได้ตามกำหนดเหมือนโครงการเอสทีพีไฮบริด เพราะสมัยก่อนการประมูลเอสซีพีไฮบริดถึงไม่ผลิตจริงก็ไม่เป็นไร เพราะเรามีพลังงานไฟฟ้าจากด้านอื่นมารองรับแต่การประมูลรอบนี้มีความสำคัญเพราะเราจะเอากรีน energy ไปขายเราจึงอยากได้คนที่มาแล้วทำมากกว่าคนที่เข้ามาแล้วให้เราคิดค่าปรับบอนด์”

พัวพันการขายไฟฟ้าสีเขียว UGT

การที่โครงการรับซื้อไฟฟ้า 5,000 เมกกะวัตต์ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าจะเชื่อมโยงกับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว (utility green tariff : UGT) ทำให้การคัดเลือกเป็นไปอย่างคึกคัก

สำหรับ UGT เป็นเรื่อง ที่ กกพ.กำลังเปิดรับฟังความเห็นเพื่อประกอบการยก (ร่าง) หลักเกณฑ์ การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff หรือ UGT) อยู่ในขณะนี้ จะสิ้นสุดวันที่ 7 มีนาคม 2566 เพื่อเตรียมจะประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2566

ไฮไลต์สำคัญ หลังจากนี้ คือ หากผู้ใช้รายใดไฟฟ้าซื้อไฟฟ้าจากโครงการ พลังงานหมุนเวียน (RE) 5,000 เมกะวัตต์นี้ จะได้รับใบรับรองการขายไฟฟ้าสีเขียว (REC) จาก UGT โดยอัตโนมัติ ผ่านทาง กกพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล

หมายความว่าผู้ที่ใช้ไฟปลายน้ำจากโครงการนี้จะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ใช้พลังงานไฟฟ้าสีเขียวไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำไปแสดงยืนยันเพื่อสร้างความสฃมั่นใจต่อลูกค้าหรือผู้นำเข้าสินค้า ในกรณีที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เรียกร้องให้ใช้พลังงานสะอาด

เช่น สหภาพยุโรปที่กำลังจะเริ่มใช้มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ CBAM ในเดือนตุลาคม 2566 สำหรับ สินค้า 5-6 ชนิด อาทิ ปูน เหล็ก ไฟฟ้า อะลูมิเนียม แล้ว หากไม่มีการใช้พลังงานสะอาดก็อาจจะถูกเรียกเก็บภาษีแพงขึ้น

ซึ่งการตกลงเงื่อนไข UGT ที่ กกพ.กำลังทำ ก็เปรียบเหมือนเรานำข้าวเปลือกไปสีที่โรงสี ระหว่างเจ้าของข้าวกับโรงสีก็ต้องตกลงกันว่าเมื่อสีออกมาแล้วข้าวสารแกลบ รำข้าวจะเป็นของใคร ในกรณีนี้ กกพ.ตกลงว่าโรงฟฟ้าที่ร่วมโครงการจะทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้า ส่วนเรื่องการรับรอง REC นั้น กกพ.จะนำส่งผ่านให้ผู้ใช้ปลายทางแบบอัตโนมัติเอง

โดยที่ผู้ผลิตไฟฟ้าจะไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า กกพ.จะนำเอาเรืืองการรับรองนี้ไปขายหากำไร เป็นการอำนวยความสะดวก โดยเมื่อศึกษาได้ข้อสรุปและกำหนดโซลูชั่นค่าไฟฟ้า UGT ออกมาแล้วว่าจะใช้ไฟประเภทไหน ค่าไฟเท่าไร ก็จะกำหนดเป็นหนึ่งในประเภทการจำหน่ายไฟ ต่อไป

win -win model

กกพ.คาดหวังว่า UGT จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนใหม่มากขึ้น เพราะจะไม่คำนวณให้กับโรงไฟฟ้าที่ลงทุนผลิตไปแล้ว นี่จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าน้อย-ใหญ่แห่สมัครเข้าร่วม โครงการ 5 พันเมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ จะได้แจ้งเกิด

ขณะที่ผู้ใช้ไฟก็จะได้ประโยชน์จากการนำใบรับรองการใช้ไฟฟ้าพลังงานโครงการนี้ในการผลิตสินค้าไปโชว์ให้ลูกคัาตัวเองเห็นว่ารักษ์โลก โดยที่ไม่ต้องลงทุนไปติดโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาซึ่งจะต้องใช้เงินทุนสูงมากกว่า

อย่างไรก็ตามต้องลุ้นต่อไปว่า โครงการนี้จะสำเร็จตามที่ กกพ.แพลนไว้หรือไม่ หรือต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ