“ปลัดเกษตรฯ” คิกออฟแผนบริหารจัดการน้ำแล้ง 1 มี.ค. 66 สั่งกรมชลฯปล่อยน้ำเร็วขึ้น 1 เดือน หนุน “นาปรังลุ่มเจ้าพระยา” ฝ่าแล้ง ล่าสุดคาดการณ์ มี.ค.-เม.ย. ฝนตกน้อย แต่ปริมาณอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศ 53,787 ล้าน ลบ.ม. 70% ของความจุอ่าง พร้อมใช้การเกินครึ่ง
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 มีนาคมนี้จะคิกออฟโครงการแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 15 นโยบายของกระทรวง โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานปล่อยน้ำให้กับเกษตรกรเพื่อเพาะปลูกพืช
โดยเฉพาะข้าวนาปรังปี 2566 เร็วขึ้น 1 เดือน จากที่จะเริ่มปล่อยน้ำในช่วงต้นเดือนเมษายน 2566 เพื่อให้เกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้เตรียมพื้นที่ทำนา จากนั้นอีก 4 เดือนก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง หรือประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2566 เพื่อลดปัญหาเก็บเกี่ยวช่วงน้ำหลาก
สำหรับความคืบหน้าในการจัดสรรน้ำ ฤดูแล้ง ล่าสุด นายปกรณ์ สุตสุนทร ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ
โดยจากการคาดการณ์ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2566 ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้กำชับให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างประณีต
พร้อมตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยให้จัดทำแผนเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเข้าช่วยเหลือพื้นที่ได้ทันที ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 1-5 มีนาคม 2566
จะมีปริมาณฝนตกเพิ่มในพื้นที่ จึงขอให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
ทั้งนี้ ปัจจุบัน (27 ก.พ. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 53,787 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 70% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 29,845 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)
มีปริมาณน้ำรวมกัน 16,735 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้การได้ 10,039 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน
โดยจนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี’65/66 ทั้งประเทศไปแล้ว 15,655 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 57% ของแผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศ 27,685 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 5,552 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 62% ของแผนจัดสรรน้ำลุ่มเจ้าพระยา 9,100 ล้าน ลบ.ม. ด้านผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง เพาะปลูกไปแล้ว 9.67 ล้านไร่ คิดเป็น 87% ของแผน
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 6.33 ล้านไร่ คิดเป็น 94% ของแผน สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูก เกษตรกรที่มีความพร้อมให้เร่งดำเนินการเพาะปลูกตามแผนการปรับปฏิทินเพาะปลูก เพื่อ เก็บเกี่ยวเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง