ลงทุน “อะคาเดมี” ลดภาษีได้ BOI ชูโมเดล “ปตท.-ซี.พี.-โตโยต้า” ปั๊มคน

อะคาเดมี

บีโอไอเดินหน้ามาตรการหนุนบิ๊กคอร์ป ตั้งสถาบันฝึกอบรม “Academy” ปั๊มแรงงานสกิลสูงแมตช์กับอุตสาหกรรม ยึดโมเดล ซี.พี.-โตโยต้า-ปตท. พร้อมผนึกคลังลดหย่อนภาษีสูงสุด 2.5 เท่า ด้าน ส.อ.ท.เสริมแกร่งแรงงานอุตสาหกรรมตั้ง “FTI Academy” ตอบโจทย์สมาชิก แก้เพนพอยต์ไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทยกำลังเดินหน้า โดยเฉพาะการดึงให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยแบบครบวงจร ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างคนอย่างมากที่สุด ทางบีโอไอจึงได้ใช้กลยุทธ์ 2 ด้าน คือ build and buy ทั้งการพัฒนาบุคลากรในประเทศ และการดึงคนเก่งจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

“แน่นอนว่าไทยต้องการสร้างบุคลากรไทยขึ้นมา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดึงคนเก่งเข้ามา ปัจจุบันมีหลายเรื่องที่เราหวังพึ่งภาครัฐโดยเฉพาะเรื่องการสร้างคน แต่ถ้าหวังพึ่งรัฐเพียงอย่างเดียว เรื่อง speed และสเกลจะไม่ทัน ทางบีโอไอจะมีมาตรการมาช่วย support เอกชนในเรื่องเหล่านี้โดยมีมาตรการมาสนับสนุน เราอยากจะเชิญชวนให้บริษัทที่มีกำลังมีศักยภาพมาดำเนินการ เหมือนกับบริษัทเอกชนที่ได้ตั้งสถาบัน เช่น ปตท. ทำสถาบัน Vistec กำเนิดวิทย์หรือ CP ทำปัญญาภิวัฒน์ โตโยต้าทำวิทยาลัยยานยนต์ IRPC มีวิทยาลัยด้านปิโตรเคมีเราอยากจะเห็นบริษัทที่มีกำลังอื่น ๆ ทำในลักษณะเดียวกันนี้เป็นการช่วยพัฒนาคนในอุตสาหกรรมภาพรวม”

ทั้งนี้ บีโอไอได้มีมาตรการส่งเสริมทั้งในส่วนของบีโอไอ และกระทรวงการคลัง กล่าวคือ หากบริษัทใดมีการเทรนพนักงาน หรือเทรนนักศึกษาที่มาฝึกงาน สามารถมาขอใช้บีโอไอได้ ขณะที่คลังก็มีมาตรการสนับสนุน เช่น เทรนบุคลากรลดหย่อนได้ 1.5 เท่า ถ้าเป็นการเทรนหลักสูตรเป้าหมายจะหักได้ 2.5 เท่า มากกว่าปกติ นี่คือสำหรับการสร้างคนไทย

สำหรับแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ ๆ จัดตั้ง academy ศูนย์ฝึกอบรม (training center) โดยเราจะให้อินเซนทีฟสร้างแรงจูงใจกับบริษัทแม่ เพราะโดยปกติ training center ไม่ได้เป็นหน่วยที่มีกำไรที่จะสามารถไปใช้สิทธิประโยชน์ได้ ดังนั้น บีโอไอจึงมอบสิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทแม่ทดแทน เป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้เขาจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อป้อนแรงงานให้กับทั้งอุตสาหกรรมภาพรวม ไม่ใช่แค่ป้อนให้อุตสาหกรรมของตัวเองเท่านั้น

ส่วนอีกด้านหากต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด แล้วบุคลากรมีไม่เพียงพอ เราก็จำเป็นต้องดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยเรา ทำอย่างไรให้ไทยมี talent pool ที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นั่นจึงเป็นเหตุให้เราทำทั้ง smart VISA และ long term residence VISA หรือ LTV เพื่อจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกให้เข้ามา อยู่ในเมืองไทยเพื่อมาช่วยเราพัฒนาประเทศ ซึ่งมาตรการนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2565 เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มรายงานทักษะสูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทยโดยให้วีซ่ายาว 10 ปี

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ทางสภาอุตสาหกรรมมีความตั้งใจที่จะปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยได้มีการวางนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม first S-curve และ next-GEN industries ซึ่งจะต้องพัฒนาตามแนวทางสร้างเศรษฐกิจใหม่ ที่จะมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ S-curve เช่น BioTech, Nano Tech, MaterialTech, DigitalTech และ EnergyTech หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความสำคัญ และต้องการบุคลากรเพื่อรองรับ

เกรียงไกร เธียรนุกูล

ล่าสุด ทาง ส.อ.ท.ได้จัดตั้ง FIT Academy ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาแรงงานให้กับสมาชิก โดยได้รวบรวมความต้องการของสมาชิก และได้ประสานกับมหาวิทยาลัยทั่วไป เพื่อจะเข้าร่วมดำเนินการวางหลักสูตรผลิตบุคลากรให้ โดยเราจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้กับนักเรียนที่จะไปเรียน เพื่อให้เป็นเงินเดือน และจะรับเข้าทำงานทันที ซึ่งนี่เป็นแนวทางในการสร้างคน

ซึ่งทาง ส.อ.ท.สอบถามไปถึงบีโอไอว่า หากมีผู้มาใช้บริการสถาบันนี้ ในนามของ ส.อ.ท.จะสามารถนำไปใช้ในการหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ เพราะเรามองว่าในช่วงสั้นควรมีนโยบายของบีโอไอช่วย เพื่อดึงทาเลนต์ (talent) เข้ามา ฉะนั้นต้องให้อินเซนทีฟเพื่อดึงคนเก่ง ๆ จากต่างประเทศเข้ามาก่อน

“เท่าที่รู้ต่างชาติสนใจอยากลงทุนไทยมาก โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะมีมาตรการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจในการลงทุนที่ดี แต่ปรากฏว่าพอพิจารณาเรื่องแรงงาน เรามีปัญหาในเกือบทุกอุตสาหกรรม นี่คือเพนพอยต์ของอุตสาหกรรม ส.อ.ท.จึงรวบรวมความต้องการในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และบอกเขาเลยว่าต้องการแบบไหนอย่างไร เพื่อนำมาจัดทำเป็นหลักสูตรขึ้นมา แบบระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว และมีหลักสูตรแบบดูอัลแทร็ก คือ มีการเรียนและฝึกงานในโรงงาน เหมือนกับเยอรมนีทำ”


“เราร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำงานด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มหาวิทยาลัยของไทยก็โดนดิสรัปต์ และโดนเทกโอเวอร์ไปหมด หลายหลักสูตรที่ทำไม่มีคนเรียนเพราะมิสแมตช์ (ไม่ตรงความต้องการอุตสาหกรรม) เรียนจบมาไม่มีงานทำ ฉะนั้น เราต้องมาคุยกันเพื่อปรับหลักสูตรและสร้างบุคลากรอย่างจริงจัง ยกตัวอย่าง โรโบติก และออโตเมชั่น เราอยากทำอยู่ใน S-curve พอเราทำสำรวจมา ประเทศเรามีแค่ร้อยกว่าคน ขณะที่ไต้หวัน เกาหลี ญี่ปุ่น จีน มีเป็นหมื่นคน ฉะนั้น การที่เราจะสร้างจากหลักร้อยไปเป็นหลักหมื่นคนถือเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้น ต้องมีทั้งซื้อและชวนเขามา โดยการสร้างอีโคซิสเต็ม ประเทศไทยเรามีจุดแข็งที่ใคร ๆ ก็อยากมา”