จุรินทร์ ประกาศนับหนึ่งเจรจา FTA ไทย-อียู สร้างแต้มต่อ ”สินค้า-บริการ-ลงทุน” ให้กับประเทศ พร้อมเดินหน้าเจรจานัดแรก ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ในเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
วันที่ 15 มีนาคม 2566 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า สหภาพยุโรป ผ่านระบบ Video Conference ว่า เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ เพื่อเริ่มนับหนึ่งในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area หรือ FTA) เอฟทีเอ ระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรป
โดยหลังจากวันนี้ (15 มีนาคม 2566) ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะเปิดประชุมนัดแรกในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดเจรจา และระหว่างที่มีรัฐบาลรักษาการนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจรจาแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายการเมืองได้ดำเนินการสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว และมีเป้าหมายในการเจรจา FTA ไทย-ยุโรป ครั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี หรือปี 2568 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
โดยประเด็นในการหารือนั้น อาทิ การเจรจาการค้าสินค้าและบริการ การลงทุนระหว่างกัน หากมีการเจรจาประสบผลสำเร็จ จะทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปยุโรป มีภาษีเป็น 0% และสินค้าที่จะได้ประโยชน์ เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า สิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการนำเข้าสินค้าภาษีก็จะเป็น 0% จะส่งผลให้ไทยลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิต สินค้านำเข้า เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังหารือเพื่อแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งจะทำให้ไทยเพิ่มแต้มต่อด้านการค้า การลงทุน และยังเป็นการเพิ่ม จำนวน FTA ของไทยจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ จะเพิ่มเป็น 15 ฉบับ กับ 45 ประเทศในทันที เมื่อมีผลบังคับใช้
โดยจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียน ที่สหภาพยุโรป ทำข้อตกลง FTA ถัดจากเวียดนามและสิงคโปร์ ทั้งนี้ ภายหลังเมื่อเจรจาเกิดข้อตกลงและผลสรุปร่วมกันแล้ว ก็จะนำผลเจรจาเข้าสี่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ และก็จะนำเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา พิจารณาต่อไป ซึ่งเป็นขั้นตอนการดำเนินการ
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การประกาศเริ่มนับหนึ่งของการเจรจา เอฟทีเอ ไทย-ยุโปร เกิดขึ้นภายหลังจากที่ตนได้เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาเพื่อหารือกับฝ่ายยุโรป ในการเปิดเจรจาเอฟทีเอ ภายหลังทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกัน ตนก็นำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา จึงนำมาสู่การประกาศเปิดการเจรจาในครั้งนี้
“การประกาศเปิดเจรจาวันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย หลังจากที่พยายามมาเกือบ 10 ปี”
สำหรับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% เมื่อเทียบกับไทยที่มีการค้ากับโลก โดยตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปปี 2565 ประเทศไทยได้ดุลถึง 150,000 ล้านบาท
โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.87% สัดส่วนการค้าประมาณ 7% ของการค้ากับโลก และไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 22,794 ล้านเหรียญสหรัฐ (843,378 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.17%
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอียู เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และอุปกรณ์ แอร์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา อัญมณีและเครื่องประดับ และไก่แปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอียู เช่น เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และยา เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า สหภาพยุโรป ได้โพสต์ผ่านทวิสเตอร์ Valdis Dombrovskis ทันที ว่า อียู-ไทย ฟื้นการเจรจาข้อตกลงทางการค้า ตนยินดีอย่างยิ่งต่อการฟื้นการเจรจากับไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในอาเซียนความตกลง FTA ไทย-อียู ที่ทันสมัย จะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย จะเสริมสร้างและขยายความสัมพันธ์ทางการค้าของอียูกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก