พีกไฟร้อนนี้สูงสุดรอบ 3 ปี ลุ้นแผนพีดีพี 2023 ใช้ไม่ทันรัฐบาล

อากาศหน้าร้อน

อานิสงส์จากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระตุ้นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าปริมาณสูงสุด (peak) ในช่วงหน้าร้อนปี 2566 จะพุ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมา 30,936 เมกะวัตต์ และมีโอกาสทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งกระทรวงพลังงานมั่นใจว่าประเทศไทยมีไฟฟ้าเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของไทยสูงถึง 30% จากระดับปกติควรอยู่ที่ 15%

วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

โดยจากการศึกษาข้อมูลพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยทยอยลดลงกลับสู่ภาวะปกติที่ 15% ได้ภายในปี 2568

เร่งแผน พีดีพี

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ด้านพลังงานยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานและเศรษฐกิจในหลายประเทศ กระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานหน่วยงานภายในเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ

โดยอยู่ระหว่างจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือ PDP 2023 ฉบับใหม่ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2566 นี้

เบื้องต้นได้บรรจุปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบของ 3 การไฟฟ้าฯ มากกว่าแผน PDP 2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นจากการใช้ EV มากขึ้นช่วงปลายแผน และการใช้ไฟฟ้าในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เพิ่มขึ้น

ดัชนี LOLE โอกาสไฟดับ

สาระสำคัญแผนนี้ จะมีการเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ดัชนีความเชื่อถือได้ หรือดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (loss of load expectation : LOLE) แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (reserve margin) ที่จะยกเลิกไป เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่จะเริ่มมากขึ้นในอนาคต และสามารถประเมิน วางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศได้แม่นยำขึ้น

LOLE เป็นค่าดัชนีที่แสดงถึงจำนวนวันที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงกว่าความสามารถในการผลิตไฟฟ้าในรอบ 1 ปี หรือเป็นการวัดจากการยอมรับให้ไฟฟ้าดับได้กี่วันใน 1 ปี ซึ่งเหมาะกับประเทศไทยที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น แต่ด้วยการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนมีข้อเสียตรงผลิตไฟฟ้าได้ไม่ต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับธรรมชาติในแต่ละช่วงเวลา ระบบนี้จึงจะมาช่วยตรวจวัดปริมาณไฟฟ้าที่เหมาะสมต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศได้ดีกว่า

ดังนั้น แผน PDP 2023 จะกำหนดทิศทางนโยบายพลังงานของไทยในอนาคต ให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสูงถึง 50% ที่เหลือจะเป็นไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติต่ำกว่า 50% ลดลงจากปัจจุบันที่มี 60% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ รวมทั้งจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กบรรจุอยู่ในแผน ขณะที่ค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผน PDP เดิมที่เฉลี่ยทั้งแผนอยู่ในอัตรา 3.60 บาทต่อหน่วย

สร้างความมั่นคงพลังงาน

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ที่ผ่านมากระทรวงได้แก้ไขปัญหาราคาพลังงาน ท่ามกลางวิกฤตพลังงานโลก โดยใช้เม็ดเงินกว่า 4.2 แสนล้านบาท ดูแลทั้งค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม (LPG) ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) และน้ำมันดีเซล ให้สมดุลทั้ง 3 ด้านคือ มีความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาพลังงานที่เป็นธรรม และส่งเสริมพลังงานสะอาด

หากประเทศไทยยังคงเดินหน้านโยบายพลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนต่อไป แม้จะเกิดวิกฤตพลังงานในอนาคต ก็เชื่อมั่นว่าไทยก็จะผ่านพ้นได้แน่นอน

ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ครั้งนี้กระทบแผน PDP 2023 ไม่มาก เนื่องจากได้จัดทำแผนบนข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบแล้ว อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลใหม่สนับสนุนแผน PDP 2023 ให้มีผลบังคับใช้ได้ตามกำหนดในปี 2566 หากรัฐบาลใหม่ต้องการปรับแก้ไขแผนเพิ่มเติม คาดว่าจะต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ทำให้กว่าจะได้เริ่มใช้ได้ปี 2567 อาจเป็นแผน PDP 2024 แทนก็เป็นไปได้เช่นกัน