ส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวันลอตแรก 3 แสนฟอง 1.5 ล้าน เกษมชัย ฟู้ด ประเดิม

ส่งออกไข่ไก่

เกษมชัย ฟู้ด ประเดิมส่งออกไข่ไก่ไปไต้หวันลอตแรก 3 แสนฟอง 1.5 ล้านบาท กรมปศุสัตว์เผยคาดการณ์ปี 2566 ขยายตลาดส่งออกไปไต้หวันได้กว่า 50 ล้านฟอง มูลค่า 230 ล้านบาท

วันที่ 22 มีนาคม 2566 ตามที่อธิบดีกรมปศุสัตว์เผยว่า สามารถเปิดตลาดส่งออกไข่ไก่สดไปไต้หวันได้สำเร็จ และสามารถดำเนินการได้ทันที ในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเกิดจากความมั่นใจในมาตรฐานการผลิต คุณภาพ และความปลอดภัยทางอาหารของไทยนั้น

ล่าสุด นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุไข่ไก่สดไปยังไต้หวัน ณ บริษัท เกษมชัย ฟู้ด จำกัด จังหวัดนครปฐม

นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์

 

ว่าการส่งออกตู้คอนเทนเนอร์แรกนี้ เป็นการส่งออกจากศูนย์รวบรวมไข่ไก่ที่ได้รับรองมาตรฐานเพื่อการส่งออกจากกรมปศุสัตว์ มีปริมาณการส่งออกจำนวน 325,000 ฟอง มูลค่าประมาณ 1,500,000 บาท หรือฟองละ 4.60 บาท

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566 นี้ จะมีปริมาณการส่งออกไข่ไก่สดจากประเทศไทยไปยังไต้หวันได้มากกว่า 50 ล้านฟอง มูลค่ากว่า 230 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการสร้างตลาดใหม่ ส่งผลดีต่อการรักษาสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภค และสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เกษตรกรจำหน่ายในประเทศได้

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกไข่ไก่ได้ทั้งหมด 282 ล้านฟอง มูลค่า 1,238 ล้านบาท ยอดการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนไข่ไก่สดเพราะการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

 

อีกทั้งต้นทุนการผลิตยังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศไทยโดยกรมปศุสัตว์มีมาตรการป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มงวด ส่งผลให้ไม่มีการแพร่ระบาดไข้หวัดนกในประเทศไทยมากกว่า 15 ปี เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมสัตว์ปีกและไข่ที่สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย

ส่งออกไข่ไก่

และเป็นที่เชื่อมั่นของคู่ค้า จากนี้ไปจะมีการเปิดตลาดของไข่สดอีกหลายแห่งเพื่อสร้างตลาดส่งออกใหม่ จะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถรักษาระดับการผลิตและการบริโภคให้ใกล้เคียงภาวะสมดุลได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากการเปิดตลาดและส่งออกไข่ไก่สดครั้งนี้ มาจากความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรและอาหารไทย ที่กรมปศุสัตว์กำกับ ดูแลการผลิตสินค้าปศุสัตว์ตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านความปลอดภัยอาหาร

ตั้งแต่แหล่งที่มาของสัตว์จากฟาร์มมาตรฐาน GAP จนถึงศูนย์รวบรวมและแปรรูปสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน GMP และ HACCP สอดคล้องตามข้อกำหนดของทั้งกฎหมายไทย ระเบียบของคู่ค้า และหลักสากล