ล้งทุเรียนเมืองจันท์ ยอมรับเป็นความผิดพลาดมือคัดของล้ง คัดทุเรียนพลาด เป็นเหตุผู้บริโภคที่ประเทศจีนซื้อทุเรียนแล้วพบเป็นทุเรียนอ่อน ยืนยันทุกขั้นตอนตรวจสอบย้อนกลับได้หมด เร่งปรับปรุงแก้ไข ก่อนราคาทุเรียนตก
เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 สมาคมทุเรียนไทย ระบุถึงกรณีที่นายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร และอดีตข้าราชการกรมส่งเสริมการเกษตร โพสต์เฟชบุ๊ก พบทุเรียนหมอนทองจากไทยในซูเปอร์มาเก็ตเมืองหุยโจ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีลักษณะคล้ายทุเรียนด้อยคุณภาพ (อ่อน) และตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาทุเรียนหมอนทองวางขายที่จีนราคาตก
นายศักดาระบุว่า คนรู้จักกันที่จีนซื้อทุเรียนลูกดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 และผ่าทุเรียนเพื่อจะรับประทานในเช้าวันที่ 12 เมษายน 2566 แต่ปรากฏพบว่าทุเรียนลูกดังกล่าวเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เมื่อดูที่ขั้วมีเลขรหัส DOA ชัดเจน จึงต้องการให้มีการตรวจสอบล้งและผู้ส่งออกทุเรียนจากเลขรหัสนี้
ต่อมานายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ผอ.สวพ.6) มอบหมายให้ทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย ตรวจสอบผู้ประกอบการจากเลขรหัส DOA กระทั่งทราบว่าอยู่ในพื้นที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบนายธนัญชัย วรรณเวศน์ เจ้าของล้งส่งออก จึงขอดูเอกสารการส่งออก และ เอกสารการตรวจคุณภาพทุเรียน และอื่น ๆ พร้อมกับสุ่มหยิบผลทุเรียนในล้ง 1 ลูกมาตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งได้ 37%
นายธนัญชัยยอมรับว่าทุเรียนที่ปรากฏตามภาพเป็นของที่ส่งออกไปจากล้งตัวเอง และยอมรับในความผิดพลาด เพราะเกิดจากคนคัดประจำล้ง หมายเลข 6 ซึ่งทุเรียนที่ส่งออกจากล้งตัวเอง จะมีเบอร์คนคัดของล้งติดที่ผลทุเรียนทุกลูกเพื่อใช้ตรวจสอบย้อนกลับ และลูกที่ปรากฏเป็นคนคัดเบอร์ 6 ได้เรียกคนคัดคนดังกล่าวมาสอบถามและตักเตือน ซึ่งมาตรการของล้งคือ หากคนคัดกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน 3 ครั้ง จะให้ออกทันที และเมื่อเช้าคู่ค้าจากเมืองจีนได้ติดต่อมาเช่นกัน ได้ขอโทษในความผิดพลาดและจะหาทางเคลมสินค้าให้
“เราผลิตสินค้า (ทุเรียน) ภายใต้แบรนด์เราเอง เราต้องรับผิดชอบ เพราะนั่นคืออาชีพเรา กรณีนี้เมื่อเกิดปัญหาเราได้ประสานไปทางฝั่งจีนเพื่อแก้ปัญหาให้เช่นกัน เพราะไม่ใช่เฉพาะตัวเรา แต่หมายถึงอาชีพของคนไทย ที่ผ่านมา ทุเรียนที่เข้าล้งของตัวเองจะมีมือคัดประจำ คัดแยกเฉพาะของใครของมันและมีป้ายบอกชัดเจน และทุเรียนที่เข้าล้งเราจะมีการสุ่มตรวจด้วยห้องปฏิบัติการของล้งเองตามที่ สวพ. 6 กำหนด เพื่อเป็นการสอบทานในชั้นแรก ลดความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด” นายธนัญชัยกล่าว
สำหรับล้งแห่งนี้ส่งออกทุเรียนวันละ 5 ตู้คอนเทนเนอร์ รับซื้อทุเรียนวันละประมาณ 60-70 ตัน หรือวันละประมาณ 20,000 ลูก